โดย Barani Krishnan
Investing.com – ภาพรวมของตลาดพลังงานและโลหะมีค่าในสัปดาห์นี้มีดังต่อไปนี้
ภาพรวมตลาดพลังงาน
ราคาน้ำมันปิดบวกราว 1% เมื่อวันศุกร์ ปิดสัปดาห์ที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่สมัยวิกฤตการณ์ทางการเงินแต่กลับได้รับแรงหนุนเล็กน้อยในภายหลังช่วงเวลาหลังปิดตลาด โดยหุ้นของบริษัทขุดเจาะน้ำมันอย่าง Diamondback Energy Inc (NASDAQ:FANG), Pioneer Natural Resources (NYSE:PXD) และ Devon Energy (NYSE:DVN) ต่างก็ทะยานขึ้นราว 10% ก่อนเวลาตลาดปิด หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ได้สั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้เพิ่มอัตราการสำรองน้ำมันภายในประเทศ
สัญญา WTI หรือสัญญาเวสท์เท็กซัสปิดบวก 23 เซนต์หรือราว 0.7% เท่ากับ $31.73 ต่อบาร์เรล โดยสัปดาห์ที่แล้วราคาสัญญา WTI ทรุดลง 25% ซึ่งเป็นขาลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2008
สัญญาเบรนท์ ปิดบวก 63 เซนต์หรือคิดเป็น 1.9% อยู่ที่ $33.85 ต่อบาร์เรล โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วปิดลบ 25% ซึ่งเป็นขาลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินด้วยเช่นกัน
ในช่วงเวลาหลังการซื้อขาย ราคาสัญญา WTI เคลื่อนตัวไปสูงสุดถึง 6.1% และสัญญาเบรนท์สูงสุดถึง 6.2% หลังจากปธน.ทรัมป์ตัดสินใจเร่งอัตราการสำรองน้ำมัน (SPR)
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือกลุ่มบริษัท CME ซึ่งเป็นบริษัทที่กำกับดูแลตลาด NYMEX ซึ่งรองรับการซื้อขายสัญญา WTI ได้ออกมาชี้แจงเมื่อวันศุกร์ว่า ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าวิกฤตการณ์ในตลาดน้ำมันจะยังดำเนินต่ออีกนานหรือไม่ เนื่องจากซาอุดีอาระเบียยังคงแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดทางการเงินกับรัสเซียและบริษัทผู้ส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐอีกด้วย
CME ระบุว่า “ตลาดพลังงานหลักของรัสเซีย ซาอุฯ และสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการทดสอบประสิทธิภาพและจุดยืนของตลาด” และ “เราจะคอยจับตาดูว่าฝ่ายใดจะอ่อนข้อก่อน”
ปฏิทินตลาดพลังงานในสัปดาห์นี้
วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม
ตัวเลขคาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังจาก Genscape Cushing (ตัวเลขภาคเอกชน)
วันอังคารที่ 17 มีนาคม
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ รายสัปดาห์จาก สถาบันปิโตรเลียมแห่งอเมริกา
วันพุธที่ 18 มีนาคม
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ รายสัปดาห์ จาก EIA
วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม
ปริมาณก๊าซธรรมชาติคงคลังสหรัฐฯ รายสัปดาห์ จาก EIA
วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม
จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันจาก Baker Hughes
ภาพรวมตลาดโลหะมีค่า
ราคาทองคำสูญเสียแรงหนุนขาขึ้นอีกครั้งเมื่อวันศุกร์หลังจากผู้ลงทุนตัดสินใจเร่งเพิ่มสภาพคล่องของเงินสดด้วยการเทขายทองคำ ทำให้ราคาทองคำปิดลบเกือบ 5% หลังจากวันพฤหัสบดีติดลบ 3% โดยเมื่อเทียบเป็นรายสัปดาห์ ราคาทองคำทรุดตัวลงมากกว่า 9% ซึ่งเป็นขาลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 9 ปี
สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าสำหรับการส่งมอบเดือนเมษายน ในตลาดโคเม็กซ์ของนิวยอร์กปิดลบที่ $73.60 หรือราว 4.6% ที่ $1516.70 ต่อออนซ์ โดยเมื่อเทียบเป็นรายสัปดาห์แล้วปิดลบถึง 9.3% ซึ่งเป็นขาลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สัปดาห์ของวันที่ 18 กันยายนปี 2011 ซึ่งราคาทองคำทรุดตัวลงถึง 9.6%
ราคาทองคำโลก ปรับตัวลง $58.19 หรือ 3.7% เท่ากับ $1,519.61 เมื่อเวลา 14:50 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (18:50 GMT)
วันจันทร์ที่แล้วราคาทองคำได้พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ $1,703.90 และเนื่องจากราคาทองคำได้ลงไปแตะระดับต่ำสุดระหว่างวันที่ $1,504.35 ดังนั้นนักวิเคราะห์หลายท่านจึงเชื่อว่าสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าอาจเข้าสู่แดน $1,400 ในช่วงต้นสัปดาห์นี้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ราคาทองคำยังอ่อนแอลงเมื่อวันศุกร์เนื่องจากการประกาศใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากธนาคารกลางต่าง ๆ อาทิ จีน ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สวีเดน และนอร์เวย์เพื่อเยียวยาพิษเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED ได้ประกาศมาตรการอัดฉีดเงินเป็นมูลค่า 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ