InfoQuest - ราคาทองฟิวเจอร์ย่อตัวลงในวันนี้ แต่ยังคงปรับตัวเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนจับตาทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 20.12 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลบ 2.10 ดอลลาร์ หรือ 0.1% สู่ระดับ 2,013.70 ดอลลาร์/ออนซ์
ราคาทองถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
นอกจากนี้ นักลงทุนวิตกว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. หลังการเปิดเผยรายงานการประชุมของเฟดและตัวเลขเงินเฟ้อเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 88.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนักเพียง 11.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00%
ทั้งนี้ สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ชะลอตัวลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ดัชนีดังกล่าวยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของเฟด
ส่วนรายงานการประชุมประจำเดือนมี.ค.ของเฟดระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมดังกล่าว เนื่องจากกังวลว่าเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง แม้เจ้าหน้าที่เฟดบางรายแสดงความวิตกว่าวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย
นอกจากนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ผู้บริโภคคาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 4.6% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนที่แล้วที่ระดับ 3.6%
นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันที่ 28 เม.ย. โดยดัชนีดังกล่าวเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญตัวสุดท้ายก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 2-3 พ.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนี CPI