-
สัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น หนุนโดยการขยายตัวของภาคการผลิตและบริการในสหรัฐฯและยุโรป
-
จับตา ปัญหาการระบาด COVID-19 ในเอเชีย และ การฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะ สหรัฐฯ ยุโรป พร้อมทั้ง ติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
-
ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อาจกดดันเงินดอลลาร์ หากเฟดยืนกรานไม่รีบปรับลดคิวอี อย่างไรก็ดี ปัญหาการระบาดของ COVID-19 อาจกดดันสกุลเงินเอเชียให้ยังคงผันผวนและไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากตามการอ่อนค่าของดอลลาร์ ซึ่งต้องติดตามแรงขายหุ้นและบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติที่อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ อนึ่ง เงินบาทอาจไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะผู้ส่งออกก็รอทยอยขายดอลลาร์อยู่
-
มองกรอบเงินบาท สัปดาห์นี้ 31.20-31.50 บาท/ดอลลาร์
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
-
ฝั่งสหรัฐฯ – แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board (Consumer Confidence) ในเดือนพฤษภาคม ยังอยู่ในระดับสูงราว 119 จุด นอกจากนี้ การจ้างงานที่ฟื้นตัวดีขึ้น จะส่งผลให้ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 4.3 แสนราย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อ (PCE) มีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 3.5% ในเดือนเมษายน จากระดับ 2.3% ในเดือนก่อนหน้า ตามภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง และฐานราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำมากในปีก่อนหน้า อนึ่ง แนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อและภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อจะทำให้ ผู้เล่นในตลาดต่างจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Mester, Bostic ในวันจันทร์ ตามด้วย Barkins, Evans, George และ Quarles ในวันอังคาร เพื่อติดตามมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสที่เฟดจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยเฉพาะ การปรับลดคิวอี (QE Tapering)
-
ฝั่งยุโรป – การฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปที่มีแนวโน้มดีขึ้น จะช่วยหนุนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ โดยในฝั่งเยอรมนี ตลาดมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีโดยสถาบัน IFO (IFO Business Climate) จะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 98 จุด ในเดือนพฤษภาคม
-
ฝั่งเอเชีย – ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในหลายพื้นที่ของเอเชีย อาทิ อินโดนีเซีย จะกดดันให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.50% ส่วนประเทศที่มีปัญหาการระบาดไม่มากนัก อย่าง นิวซีแลนด์ และ เกาหลีใต้ ธนาคารกลางของทั้งสองประเทศก็จะยังคงไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย เช่นกัน เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางนิวซีแลนด์จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25% ส่วนธนาคารกลางเกาหลีใต้ จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50%
-
ฝั่งไทย – เศรษฐกิจยังคงได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งยอดการส่งออกเดือนเมษายนจะโตถึง 9.4%y/y ขณะที่ยอดนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อส่งออกจะโตกว่า 23% ส่วน ดุลการค้าจะเกินดุลกว่า 600 ล้านดอลลาร์