- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะขึ้นไปต่อหรือไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมายเยียวยาโควิด
- มีสัญญาณชี้ให้เห็นความผันผวนในเดือนสิงหาคมที่พึ่งมาถึง
- ตลาดหุ้นยังคงวิ่งสวนทางความเป็นจริงเมื่อเทียบกับทองคำ VIX และราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
แม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะส่งท้ายเดือนกรกฎาคมด้วยการปิดบวกเมื่อวันศุกร์ซึ่งได้แรงผลักดันมาจากตัวเลขผลประกอบการของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่เอาชนะตัวเลขคาดการณ์ได้และตัวเลข GDP ที่ลดลงแต่ไม่มากเท่ากับที่คาดการณ์ แต่เมื่อมองมาในเดือนสิงหาคมที่พึ่งมาถึงนี้ สัญญาณการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนก็ยังเป็นเพียงความฝันอันเลื่อนลอยของนักลงทุนในตลาด
อันที่จริงแล้วแรงขาขึ้นเฮือกสุดท้ายก่อนปิดตลาดเกิดมาจากมีข่าวที่รายงานว่าสภาคอนเกรสและพรรคเดโมแครตมีแผนที่จะประชุมกันเมื่อวันเสาร์ที่ 1 สิงหาคมที่พึ่งผ่านมาเพื่อหาข้อสรุปให้กับเงินเยียวยาเศรษฐกิจจากวิกฤตโรคระบาดให้ได้ ก่อนหน้านั้นตลาดหุ้นวอลล์ สตรีทยังคงอยู่ในตลาดหมีเมื่อได้เห็นตัวเลขสถิติยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นสร้างสถิติใหม่ในรัฐฟลอริด้าสูงขึ้นเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน นอกจากนี้ยังมียอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นในรัฐอาร์ริโซน่าและนิวเจอร์ซีย์
ขาขึ้นยาวนานที่สุดตั้งแต่ปี 2019 VS ตัวเลข GDP ตกต่ำมากที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อลองพิจารณาภาพรวมตลาดหุ้นสหรัฐฯ แบบเดือนต่อเดือนจะพบว่าตลาดอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นมาเป็นเดือนที่ 4 แล้วซึ่งถือเป็นขาขึ้นที่กินเวลายาวนานที่สุดหากนับมาตั้งแต่เดือนธันวาคมมาจนกระทั่งถูกเทขายเมื่อเดือนมีนาคมเพราะไวรัสโคโรนา ในเดือนกรกฎาคมตลาด NASDAQ สามารถทำผลงานปิดบวกได้ 1.49% เมื่อเทียบจากจุดเปิดต้นเดือนในขณะที่ตลาด S&P 500 ยังสามารถเอาตัวรอดไปได้ด้วยตัวเลขปิดบวก 0.77% ทั้งสองตลาดได้รับอานิสงส์จากบริษัทที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดอย่างแอปเปิล (NASDAQ:AAPL) และแอมาซอน (NASDAQ:AMZN) ที่สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการไปได้
อีกหนึ่งข่าวซึ่งเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในช่วงก่อนปิดตลาดและมีส่วนในการดันตลาดหุ้นให้ขึ้นไปด้วยก็คือการจะเข้าซื้อแอปพลิเคชัน “ติ๊กตอก (TikTok)” ของบริษัทไมโครซอฟท์ (NASDAQ:MSFT) จากบริษัทแม่ ByteDance แต่ภายในวันถัดมาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก็ออกมาดับฝันของไมโครซอฟท์ด้วยการให้การเจรจาซื้อขายนี้ระงับไปก่อนโดยอ้างเรื่องที่ติ๊กตอกเป็นแอปฯ จากจีนและรัฐบาลสหรัฐฯ มีหน้าที่ต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวของพลเมืองชาวอเมริกัน
แม้จะเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไปในสัปดาห์นี้แต่นั่นก็เป็นเรื่องของสัปดาห์ที่แล้ว ความจริงที่รออยู่ในสัปดาห์นี้คือความคืบหน้าของเงินเยียวยาคนว่างงาน $600 ต่อสัปดาห์ที่พึ่งหมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ตอนนี้ทุกคนต่างจับจ้องว่าท้ายที่สุดแล้วสภาจะอนุมัติให้โครงการนี้ได้ไปต่อหรือไม่เพราะจนถึงตอนนี้ที่เข้าสู่เดือนใหม่แล้วก็ยังไม่มีใครออกมาพูดถึงหรือยืนยันได้ว่าจะมีการเยียวยาคนว่างงานต่อ
อีกข่าวหนึ่งที่ดูเหมือนว่าตลาดจะไม่ให้ความสนใจมากนักคือการหดตัวของตัวเลข GDP ที่ทำสถิติมากที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มากถึง -32.9% แม้นักลงทุนบางคนพยายามปลอบใจตัวเองว่า “อย่างน้อยก็ไม่มากเท่าที่ประเมินกันเอาไว้ในตอนแรก” แต่ตัวเลข 32.9% นี้คือ 2 เท่าของการหดตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2008-2009 เลยทีเดียว สาเหตุก็ไม่ใช่เรื่องอะไรแต่เป็นเพราะการปิดล็อกเมืองเพื่อสกัดไวรัสโคโรนาในช่วงเปลี่ยนผ่านไตรมาสที่ 1 สู่ไตรมาสที่ 2 บริษัทตัวแทนจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch ซึ่งเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกของอเมริกาถึงกับออกมาเตือนเรื่องความเสี่ยงต่อการเป็นหนี้ของประเทศสหรัฐฯ และได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของความสามารถในการกู้ยืมเงินของประเทศลงมา
ในขณะที่ขาขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ นับวันยิ่งสวนทางกับความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ คำถามใหญ่ๆ ที่นักวิเคราะห์ตั้งขึ้นมามีหลายคำถามมากอย่างเช่น
“อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปเมื่อการว่างงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่งานใหม่ๆ ก็หาทำได้ยากเหลือเกิน?”
“นักลงทุนจะสามารถทำกำไรจากบริษัทที่ไม่มีพนักงานได้อย่างไร?”
“เฟดจะทำทุกอย่างไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามที่ได้พูดไว้ได้จริงๆ หรือ?”
“แล้วถ้าทำอย่างนั้นจะใช้วิธีไหนอีก? เข้ามาซื้อหุ้นในตลาดหุ้นเองเลยหรือไม่?”
“เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงไปต่ำกว่า 0% เลยหรือเปล่า?”
“แล้วถ้าลดแล้วและไม่ได้ผลแบบที่เป็นอยู่ในประเทศญี่ปุ่นและยุโรป...พวกเราจะทำอย่างไรกันต่อ?”
“หรือแฟดจะปั้มเงินต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่สนว่ามูลค่าของเงินจะต่ำลงแต่ขอให้ตลาดหุ้นขึ้นตลอดไปก็พอ?”
ถึงแม้เราจะเคยเตือนเรื่องขาขึ้นที่ขึ้นมาตั้งแต่จุดต่ำสุดของเดือนมีนาคมและคิดผิดมาแล้วแต่เราก็ยังอยากจะขอเตือนด้วยความปราถนาดีแก่ผู้อ่านของเราอีกครั้งว่าอย่าประมาทกับภาพขาขึ้นที่เห็นอยู่ ณ ตอนนี้เด็ดขาด การเทขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้และถ้าเกิดขึ้นจริงอาจจะลงไปต่ำกว่าจุดต่ำสุดของเดือนมีนาคมเสียอีก
รูปด้านบนนี้คือภาพดัชนี S&P 500 ในระยะยาว อินดิเคเตอร์ MACD ของกราฟรายเดือนยังส่งสัญญาณว่าเป็นขาลงอยู่ซึ่งสัญญาณขาลงนี้อยู่มาตั้งแต่ช่วงเวลาของการเทขายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 อินดิเคเตอร์อีกตัวอย่าง RSI ก็ทำรูปแบบไดเวอร์เจนต์ขาลงกับราคาแล้ว ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่าขาขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ใช่ขาขึ้นที่แท้จริงแต่เป็นเพียงการสวิงใหญ่ครั้งหนึ่งเท่านั้น ที่เราใช้คำว่า “สวิงใหญ่” เป็นเพราะว่ากราฟไม่ได้เลือกทิศทางเลยว่าจะขึ้นหรือลงกันแน่ ที่สำคัญรูปแบบการไซด์เวย์ปากอ้าแบบนี้มักจะพบได้ในตลาดขาขึ้นที่แสดงให้เห็นการอ่อนแรงของราคาเท่านั้น
อย่างไรก็ตามกราฟไซด์เวย์ขนาดใหญ่ที่กินเวลามายาวนานถึง 2 ปีกับอีก 5 เดือนเป็นภาวะไซด์เวย์ที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อน แม้เส้นค่าเฉลี่ยทั้ง 3 (50, 100, 200 เดือน) จะยังคงทำหน้าที่เป็นแนวรับของแนวโน้มขาขึ้นได้ดีแต่แท่งเทียนที่แสดงรูปแบบของ “ดราก้อนฟลายโดจิ” ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันกับ “คนแขวนคอ” นั้นถือว่าอันตรายยิ่งและเมื่อพิจารณาจากความยาวของไส้เทียนที่ไม่มีตัวแท่งอยู่เลยประกอบกับตำแหน่งที่เกิดแท่งเทียนซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณสูงสุดเดิมยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ให้กับแนวโน้มขาลงมากยิ่งขึ้น ตอนนี้สิ่งที่กราฟกำลังรออยู่คือแท่งเทียนที่มีจุดปิดต่ำกว่าจุดเปิดที่จะมายืนยันความสมบูรณ์แบบของการเปลี่ยนเทรนด์จากตลาดกระทิงสู่ตลาดหมี
เมื่อพิจารณาจากดัชนีวัดความผันผวน (VIX) ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมาจะพบว่าแม้ 2 ปีก่อนหน้านี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งแต่ความกังวลในความไม่แน่นอนกลับเพิ่มสูงขึ้น ตอนนี้ดัชนี VIX ปรับลดลงมาติดแนวรับที่บริเวณ 24.46 เมื่อพิจารณาร่วมกับโดจิในดัชนี S&P 500 ก่อนหน้านี้ยิ่งเป็นไปได้ที่ความผันผวนจะมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นหาก VIX สามารถดีดเพิ่มขึ้นได้จากแนวรับบริเวณนี้
กราฟราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวลดลงเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน
ขาลงล่าสุดเมื่อวันศุกร์นอกจากจะเป็นสถิติขาลง 4 วันติดต่อกันแล้วยังทำให้กราฟพันธบัตรอายุ 10 ปีทำขาลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกันอีกด้วย อย่างไรก็ตามการลงมาครั้งนี้ก็ยังลงไปไม่ถึงจุดต่ำสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคมจะพิษโควิดในช่วงนั้นอยู่ดี
แท่งเทียนล่าสุดของดัชนีดอลลาร์สหรัฐปิดแท่งด้วยรูปแบบกลืนกินขาขึ้น (Bullish Engulfing) แท่งใหญ่
นี่คือสัญญาณขาขึ้นแรกที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 6 หลังจากที่ก่อนหน้านั้นดัชนีดอลลาร์สหรัฐอยู่ในขาลงมาโดยตลอด ที่สำคัญแท่งกลืนกินขาขึ้นแท่งนี้เกิดในจุดต่ำสุดตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมปี 2018 ด้วย ดังนั้นกราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันนี้จึงเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การจับตามอง
สัปดาห์ที่แล้วไม่มีกราฟไหนร้อนแรงและเป็นที่พูดถึงมากไปกว่าราคาทองคำที่สร้างขาขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันและทำสถิติขาขึ้น 8 สัปดาห์ล่าสุดติดต่อกัน
อย่างไรก็ตามเมื่อวันศุกร์กราฟราคาทองคำได้สร้างรูปแบบแท่งเทียนดาวตก (Shooting Star) ขึ้นมาซึ่งเป็นการยืนยันแท่งเทียนขาขึ้นก่อนหน้านี้เริ่มที่จะแสดงสัญญาณชะลอตัวออกมาแล้ว ที่สำคัญอินดิเคเตอร์ส่วนใหญ่ล้วนส่งสัญญาณ overbought กันหมดแล้ว
ปิดท้ายด้วยราคาน้ำมันดิบที่กราฟปรับตัวกลับลงมาอีกครั้งหลังจากที่เดือนกรกฎาคมเป็นเดือนที่ 3 ที่น้ำมันดิบ WTI สามารถสร้างแนวโน้มขาขึ้นติดต่อกัน
อันที่จริงแล้วราคาน้ำมันดิบ WTI ในทางเทคนิคก็วิ่งได้อย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว เมื่อกราฟหลุดแนวรับจากเส้นเทรนด์ไลน์ลงมาราคาจึงได้เริ่มปรับตัวลดลงหลังจากนั้น อินดิเคเตอร์ทั้ง MACD และ RSI ก็อยู่ในแนวโน้มขาลง ตอนนี้เหลือเพียงแต่เส้นค่าเฉลี่ย 200 วันเท่านั้นที่เป็นแนวรับสุดท้ายของราคาน้ำมันดิบโดยมีแนวต้านอยู่ที่เส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน ไม่ว่าราคาจะทะลุขึ้นหรือลงก็จะสร้างแนวโน้มที่มีนัยสำคัญต่อตลาดน้ำมันต่อไป
ข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันอาทิตย์
19:50 (ญี่ปุ่น) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าตัวเลขของไตรมาสที่แล้วจะมีตัวเลขออกมาอยู่ที่ -0.6%
21:45 (ประเทศจีน) ดัชนี PMI ภาคการผลิตจากมหาลัยไซซิน: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 51.2 เป็น 51.3
วันจันทร์
03:55 (เยอรมัน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 45.2 เป็น 50.0
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะขยายตัวจาก 50.1 เป็น 53.6
10:00 (สหรัฐฯ) ดัชนี PMI ภาคการผลิตโดย ISM: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 52.6 เป็น 53.6
21:30 (ออสเตรเลีย) ตัวเลขยอดขายปลีก: คาดว่าจะลดลงจาก 16.9% เหลือ 2.4%
วันอังคาร
00:30 (ออสเตรเลีย) การประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA): คาดว่าจะคงที่ 0.25%
18:45 (นิวซีแลนด์) รายงานอัตราการจ้างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก 0.7% เป็น -1.9% ในไตรมาสที่ 2
วันพุธ
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการบริการ: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 47.1 เป็น 56.6
08:15 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานนอกภาคการเกษตรจาก ADP: คาดว่าจะลดลงจาก 2,369K เป็น 1,500K
10:00 (สหรัฐฯ) ดัชนี PMI ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตโดย ISM: คาดว่าจะลดลงจาก 57.1 เป็น 55.0
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -10.612M เป็น 0.375M
วันพฤหัสบดี
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานอัตราเงินเฟ้อและการประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และรายงานการประชุมจาก MPC: คาดว่าจะคงที่ 0.10%
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการก่อสร้าง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 55.3 เป็น 57.0
08:30 (สหรัฐฯ) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: ตัวเลของสัปดาห์ที่แล้วจะมีตัวเลขอยู่ที่ 1,434K
วันศุกร์
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขอัตราการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP): คาดว่าจะลดลงจาก 4,767K เป็น 1,518K
08:30 (แคนาดา) อัตราการจ้างงาน: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 952.9K เป็น 415.0K
10:00 (แคนาดา) ดัชนี PMI จาก IVEY: ตัวเลขของเดือนที่แล้วอยู่ที่ 58.2