หลังการประกาศผลประกอบการไตรมาศ 1 ปี 2562 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หุ้นขนาดเล็ก-กลางหลายตัวที่เป็นหรือเคยเป็นหุ้น “ยอดนิยม” ได้ตกลงมาแรงทั้ง ๆ ที่บางตัวได้ตกลงมามากแล้วในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้านี้ อาการที่หุ้นตกลงมาหนักมากอย่างรวดเร็วและมักจะเกิน 50% ของจุดสูงสุดนั้น ในแวดวงของนักลงทุนเราเรียกว่า “ฟองสบู่หุ้นแตก” ซึ่งก็มักจะสร้างความเสียหายให้กับคนที่ถือหุ้นตัวนั้นมาก บางครั้งกลายเป็นหายนะซึ่งเปลี่ยนชีวิตการลงทุนของเขาไปอย่างไม่คาดคิด ลองมาดูว่ามีบทเรียนอะไรบ้างที่เราควรจดจำและนำมันมาใช้ในการลงทุนต่อไปในอนาคต
ข้อแรกในความเห็นของผมก็คือ หุ้นที่มีราคาแพงมากหรือพูดหยาบ ๆ ก็คือหุ้นที่อยู่ใน “ภาวะปกติ” ไม่ใช่หุ้น Turnaround ที่เคยมีปัญหาและกำลังพื้นตัวหรือหุ้นในสถานการณ์พิเศษอื่น ๆ ที่มีค่า PE สูงลิ่วเกินกว่า 50 เท่าขึ้นไปนั้น เป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงมากและมีโอกาสเป็นหุ้นที่ “ฟองสบู่แตก” ราคาตกลงมาเกิน 50% ได้ง่าย ๆ ว่าที่จริงช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น หุ้นที่มีลักษณะดังกล่าวต่างก็ตกลงมาหนักแทบทุกตัวยกเว้นก็แต่หุ้นขนาดเล็กและ/หรือมี Free Float ต่ำที่ยังอยู่ใน “Corner” หรือหุ้นที่ถูก “ต้อนเข้าไปอยู่ในมุม” ที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ยังสามารถควบคุมราคาหุ้นได้เท่านั้นที่ยังรักษาระดับราคาอยู่ได้บ้าง
ความเชื่อที่ว่ารายได้และกำไรของบริษัทจะโตเร็วมากจนทำให้ค่า PE ลดลงและทำให้หุ้นนั้นมีราคาไม่แพงดูเหมือนว่าจะไม่จริงโดยเฉพาะสำหรับหุ้นที่ขายสินค้าดั้งเดิมไม่ได้เป็นสินค้าดิจิตอลยุคใหม่ที่อาจจะโตได้แบบก้าวกระโดด ผมเองคิดว่าหุ้นที่ “ดีที่สุด” ในตลาดหุ้นไทยนั้นไม่ควรมีค่า PE จากผลการดำเนินงานปกติเกิน 30-40 เท่า ถ้าหุ้นตัวไหนแพงเกินกว่านั้นก็จะต้องมีเหตุผลพิเศษจริง ๆ เหตุผลของผมก็คือ การเติบโตของบริษัทที่อ้างว่าจะสูงลิ่วและต่อเนื่องไปอีกนานนั้น มักจะเป็น “ราคาคุย” เป็นสตอรี่ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยแรงจูงใจเกี่ยวกับ “ราคาหุ้น” ดังนั้น บ่อยครั้งจึงไม่ใช่เรื่องจริง และนี่นำมาสู่บทเรียนข้อสอง นั่นคือ
อย่าเชื่อคำพูดของคนที่มีแรงจูงใจที่จะให้หุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นมาก ๆ เช่น เจ้าของบริษัท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ “เซียน VI” หรือแม้แต่นักวิเคราะห์หุ้นว่าหุ้นจะเติบโตด้วยเหตุผลที่ดู “น่าเชื่อถือ” โดยเฉพาะถ้าสิ่งนั้นแตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตอันยาวนานมากและมันดีขึ้นอย่าง “ไม่น่าเชื่อ” หรือ “Too good to be true” ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านั้นหลายปีการเติบโตของบริษัทอาจจะแค่ 5-10% ต่อปีและกำไรต่อยอดขายแค่ 7-8% แต่ตัวเลขใหม่ที่คาดกลายเป็นโตปีละ 20-30% และกำไรต่อยอดขายก็เพิ่มขึ้นเป็น 10-15% เป็นต้น
บทเรียนข้อสามก็คือ กิจการที่ดีเยี่ยมนั้น ส่วนมากและโดยเฉพาะถ้าเป็นสินค้าที่ขายให้กับผู้บริโภคนั้น ควรที่จะต้อง “สัมผัสได้” วิธีที่จะค้นหาว่าสินค้าดีจริงและเป็นที่นิยมสูงก็คือการไปถามคนทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้เล่นหุ้นและไม่เคยคุยกับผู้บริหารของบริษัท หรือไม่ก็เดินไปดูที่ร้านหรือจุดจำหน่ายสินค้าหรือไปถามคนที่เกี่ยวข้องว่าธุรกิจเป็นอย่างไร ขายดีไหม ใครเป็น “เบอร์หนึ่ง” เป็นต้น นี่คือสิ่งที่ฟิลิป ฟิสเชอร์ เรียกว่า “Scuttlebutt” ซึ่งจะช่วยให้รู้ได้ว่าอะไรคือความจริงและอะไรอาจจะเป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อให้เรารู้สึกว่ามันดี
กิจการที่ “ดี” นั้น ผมคิดว่าต้องแยกออกจากกิจการที่ “โต” กิจการที่ดีนั้นสำหรับผมแล้ว มันคือเรื่องของสินค้าที่คนใช้นิยมเนื่องจากมันให้คุณค่าแก่เขามากกว่าราคาที่ต้องจ่ายและเป็นสินค้าที่เขาเลือกใช้เมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น ดังนั้น เขาก็มักจะกลับมาใช้ซ้ำโดยที่สินค้าคู่แข่งไม่สามารถมาแย่งชิงลูกค้าไปได้ง่าย ส่วนเรื่องของการโตนั้น แน่นอนว่ามันอาจจะมาจากการที่สินค้ามีความสามารถในการแข่งขันที่ดีเพราะมันเป็นสินค้าที่ดี มาจากกิจการที่ดี ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ คือทั้งดีและโต นี่ก็คือหุ้นที่อาจจะกลายเป็นซุปเปอร์สต็อกได้ แต่สินค้าหรือกิจการบางแห่งอาจจะโตได้โดยที่ไม่ได้เป็นสินค้าที่ดี อาจจะเป็นเพราะผู้บริหารตัดสินใจขยายหรือทำผลิตภัณฑ์ใหม่ มีการขยายไปยังตลาดใหม่ที่ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น เป็นต้น แต่ถ้าสินค้านั้น “ไม่ดี” ในที่สุดการโตก็ไม่ยั่งยืนและยอดขายก็อาจจะลดลงในภายหลัง ดังนั้น ถ้าจะมองหาหุ้นที่ปลอดภัยและมีโอกาสเกิดฟองสบู่แตกน้อย คุณภาพจะต้องเป็นจุดเริ่มต้น การเติบโตนั้นจะใช้ได้ก็ต้องเป็นการเติบโตที่มาจากคุณภาพที่ดีเท่านั้น
บทเรียนข้อสี่ก็คือ ความร่ำรวยจากตลาดหุ้นหรือที่จริงก็คือหุ้นที่ถืออยู่นั้น ตราบใดที่ยังไม่ขาย บางครั้งก็เป็น “ภาพลวงตา” ในยามที่หุ้นขึ้นเป็น “ฟองสบู่” เราอาจจะรู้สึกว่ารวยโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเพื่อนที่เคยคบค้ากันมาหรือคนที่มีสถานะความมั่งคั่งใกล้เคียงกันมาก่อน ตอนนี้เรา “รวยเหนือโลก” เรารู้สึกถึงความสามารถที่ “เหนือชั้น” ของตนเอง ผลตอบแทนปีละ 20-30% ต่อปีแบบทบต้นระยะยาวดูเหมือนว่าจะเป็น “Norm” หรือเป็นมาตรฐานปกติของเรา การขาดทุนหุ้นในแต่ละปีนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก ดังนั้น เซียนหุ้นรวมถึง VI จำนวนไม่น้อยก็กู้เงินหรือใช้มาร์จินเล่นหุ้นด้วย เขาคิดว่าดอกเบี้ยมาร์จินแค่ 5-6% ต่อปี ยังไงเขาก็ได้กำไรเพิ่มจากการกู้เงินมาเล่น ในอดีตนั้นดูเหมือนว่านี่ทำให้รวยเร็วขึ้นและความเสี่ยงต่ำมาก แทบไม่มีปีไหนที่ขาดทุน แต่แล้วฟองสบู่ที่แตกก็ทำให้ความมั่งคั่งลดลงอย่างรวดเร็ว และเมื่อผสมกับการขาดทุนจากหุ้นที่ใช้มาร์จินก็ทำให้การขาดทุนนั้นถูก “ทวีคูณ”ความมั่งคั่งที่เคยขึ้นไปสูง “เหนือโลก” หดหายไปอย่างน่าตกใจ ผมเองไม่แน่ใจว่าคนที่ใช้มาร์จินมาตลอดนั้น คุ้มไหม? หลังจากฟองสบู่แตกเพียงครั้งเดียว
แต่บทเรียนที่ฟองสบู่แตกนั้น น่าจะทำให้นักลงทุนรวมถึง VI พันธุ์แท้และไม่ได้ใช้มาร์จินเล่นหุ้นตระหนักว่า เราอาจจะยังไม่ได้รวยอย่างที่ตัวเลขพอร์ตของเราแสดงให้เห็นจริง ๆ การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นนั้น บางครั้งมันแรงมากจนอาจทำให้ความมั่งคั่งหายไป 50% ไม่ยากโดยเฉพาะถ้าหุ้นที่เราถืออยู่นั้นมีค่า PE สูงลิ่ว หรือแม้แต่หุ้นที่ไม่ได้แพงมากแต่คุณสมบัติไม่เข้มแข็งพอก็อาจจะตกลงมาแรงมากได้หากมีการเปลี่ยนในพื้นฐานของกิจการหรือการตกต่ำของอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่นอสังหาริมทรัพย์ที่หุ้นหลายตัวมีราคาตกลงมาอย่างแรงทั้ง ๆ ที่บริษัทยังทำกำไรได้ดี เป็นต้น ผมเองเวลาสมาชิกในครอบครัวถามว่าเรามีพอร์ตเท่าไรแล้ว ผมก็จะเตือนให้ตระหนักถึงความอ่อนไหวของความมั่งคั่งนี้และมักจะบอกว่ามันอาจจะเหลือครึ่งหนึ่งได้ง่าย ๆ และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน ผมก็มักจะยกตัวอย่างของมหาเศรษฐีของเมืองไทยบางคนวัดจากมูลค่าหุ้นที่ตอนนี้กลายเป็นเศรษฐีธรรมดาไปแล้ว เช่นเดียวกับ “ไฮโซ” ที่มีคู่รักเป็นดาราหลาย ๆ คนที่ “เคยรวย” มากจากมูลค่าหุ้น ตอนนี้ก็ไม่ค่อยรวยแล้วเพราะหุ้นตกลงมามาก เป็นต้น
บทเรียนสุดท้ายของผมก็คือ นักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เป็นนักเก็งกำไรที่อยากรวยเร็ว ไม่ว่าจะใช้แนวไหนรวมถึงแนว VI นั้น “ไม่ค่อยจะจดจำบทเรียน” ช่วงที่หุ้นตกหนักเป็นฟองสบู่แตก พวกเขาก็กลัวกันมากและอาจจะสาบานว่าจะไม่เล่นหุ้นแบบนี้อีกแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาก็กลับมาเล่นหรือทำเหมือนเดิม บางทีก็อ้างว่าหุ้นตัวนั้นตกลงมามากแล้วทั้ง ๆ ที่ค่า PE ก็ยังสูงอยู่ แล้วก็อาจจะ “เจ็บ” ซ้ำอีกเพราะราคาหุ้นก็แตกรอบสองหรือรอบสาม บางทีอาจจะเป็นไปได้ว่าเรื่องนี้มันอยู่ในยีนของมนุษย์ที่มักจะมีอิทธิพลเหนือความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลของเราก็ได้
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ของสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ThaiVI.org