ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์กำลังพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อเตรียมรับมือกับอุปทานน้ำมันที่จะลดลงในเดือนเมษายนนี้ ด้วยการยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านตามการคาดการณ์ของซาอุดิอาระเบียและเตรียมตัวผลักดันมาตรการข่มขู่ครั้งใหม่ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสนับสนุนนายพลลิเบียผู้กำลังดำเนินการปฏิวัติอยู่ในขณะนี้ เผื่อไว้หากเกิดกรณีที่ซาอุฯ ไม่ให้ความร่วมมือกับการชะลอราคาน้ำมันที่กำลังพุ่งสูงขึ้น
คำถามตอนนี้คือซาอุฯ จะยอมอ่อนข้อให้ทรัมป์มากแค่ไหน เพื่อให้แน่ใจว่าทรัมป์จะไม่ล้มล้างความพยายามของซาอุฯ ตลอดระยะเวลาห้าเดือนที่ผ่านมากว่าจะทำให้ราคาน้ำมันขึ้นมาถึงระดับที่น่าพอใจเช่นนี้
ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึงสองสัปดาห์ก่อนที่ข้อยกเว้นมาตรการคว่ำบาตรต่อการนำเข้าน้ำมันอิหร่านจะหมดอายุ ซึ่งที่ผ่านมาตลาดต่างก็คาดเดากันไปต่าง ๆ นานาว่าประเทศใดบ้างที่จะได้รับการต่ออายุข้อยกเว้น และการต่ออายุครั้งนี้จะอนุญาตให้ประเทศดังกล่าวซื้อน้ำมันจากอิหร่านได้ในปริมาณเท่าใด
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านที่เกินความคาดหมาย
ทว่ามีความคืบหน้าที่น่าตกใจล่าสุดจากสำนักข่าววอชิงตันโพสต์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และยังมีรายงานในทำนองเดียวกันจาก CNN ที่ระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายไมค์ ปอมเปโอ จะออกมาประกาศในวันจันทร์นี้ว่า จะไม่มีการต่ออายุให้แก่ข้อยกเว้นมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านที่กำลังจะหมดอายุในวันที่ 2 พฤษภาคมนี้อีกต่อไป โดยมีการอ้างอิงคำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐฯ ท่านหนึ่งจากกระทรวงการต่างประเทศที่เผยจุดประสงค์ในการดำเนินการดังกล่าวเพื่อ "ตอบโต้พฤติกรรมอันรุนแรงของอิหร่าน และจัดการปัญหาภัยคุกคามที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างอย่างเต็มกำลัง เพื่อความสงบสุขและความปลอดภัยอันเป็นจุดยืนของระบอบการปกครองในประเทศ"
รายงานข่าวดังกล่าวได้ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปมากกว่า 2% ในช่วงเช้าของการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ ส่งมอบแดนบวกเพิ่มขึ้นจากผลงานขาขึ้นทั้งหมด อันเนื่องมาการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกที่นำโดยซาอุฯ รวมถึงมาตรการของสหรัฐฯ ที่คว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากเวเนซูเอลา และสงครามกลางเมืองในลิเบียอีกด้วย นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ราคา สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเวสท์เท็กซัสของสหรัฐฯ ได้ทะยานขึ้นมากว่า 44% แล้ว ส่วน สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเบรนท์ จากทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นมากว่า 37% และ ราคาน้ำมันเบนซิน ก็พุ่งขึ้นมาถึง 60%
ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทรัมป์พยายามกดดันให้ซาอุฯ ยกเลิกหรือชะลอการลดกำลังการผลิตเพื่อลดการเติบโตของราคาน้ำมันในปีนี้ ทรัมป์ต้องการให้ราคาน้ำมันดิบลดลงเพื่อที่จะยับยั้งการขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยานยนต์ในสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้เขาสูญเสียโอกาสในการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในปี 2020 โดยในปีนี้ราคาน้ำมันเบนซินได้เพิ่มขึ้นมาราว 25% แล้ว
เมื่อหกเดือนก่อน ทรัมป์ได้ทำให้ซาอุฯ และประเทศกลุ่มโอเปกอื่น ๆ แตกตื่นและเร่งผลิตน้ำมันกันยกใหญ่ อันเนื่องมาจากความเข้าใจผิดว่าสหรัฐฯ จะยับยั้งการผลิตน้ำมันภายในอิหร่านอย่างเต็มรูปแบบ แต่ภายหลังทรัมป์ก็ออกมาอนุมัติข้อละเว้นมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านซึ่งเป็นประเทศที่มีน้ำมันดิบอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ครั้งนั้นเป็นหนึ่งในขาลงของราคาน้ำมันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาสั้น ๆ
ซาอุฯ คงเพิกเฉยต่อทรัมป์ได้ยาก
ซาอุฯ เคยยื่นคำขาดแล้วว่าจะไม่ไหวติงตามความเคลื่อนไหวของทรัมป์อีกต่อไป
ถึงอย่างไรการเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องของทรัมป์ที่ต้องการให้กลุ่มโอเปกเพิ่มการผลิตน้ำมันก็คงจะไม่ง่ายนัก ถ้าหากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังมีจุดยืนตามรายงานข่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่าจะหยุดการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านอย่างสิ้นเชิง
นับเป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่ซาอุฯ และสหรัฐฯ ได้ร่วมมือกันเพื่อควบคุมอำนาจของอิหร่านมิให้กลายเป็นประเทศที่มีอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ทว่าทั้งสองประเทศเองต่างก็มีแรงจูงใจเฉพาะของตนในการตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับอิหร่าน
สำหรับซาอุฯ อิหร่านซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่ทรงอิทธิพลที่สุดในกลุ่มโอเปก และถือว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของซาอุฯ มาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว
ส่วนแรงจูงใจของทรัมป์ สืบเนื่องมาจากภารกิจสำคัญของเขาในการทำโทษรัฐบาลของนายโรฮานี เขาเคยกล่าวหาว่านายโรฮานีได้กระทำสิ่งที่เลวร้ายไว้หลายประการ และมีข้อตกลงที่อิหร่านไม่สมควรได้รับอันสืบเนื่องมาจากอดีตผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายบารัค โอบามา ในการหนุนให้อิหร่านส่งออกน้ำมันเพื่อสหรัฐฯ จะได้ตอบแทนด้วยการสนับสนุนโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งทรัมป์มีความเห็นว่าเป็นการกระทำที่เป็นเสรีนิยมมากเกินไป
ฉะนั้นยิ่งซาอุฯ สั่งลดกำลังการผลิตน้ำมันในกลุ่มโอเปกมากเท่าไร ก็ยิ่งยากที่ทางฝ่ายรัฐบาลของทรัมป์จะเพิ่มบทลงโทษแก่อิหร่านมากขึ้นเท่านั้น
แม้ว่าซาอุฯ จะประสบความสำเร็จในการดึงราคาสัญญาเบรนท์ให้กลับขึ้นมาสู่ระดับ $80 ต่อบาร์เรลอีกครั้ง แต่ซาอุฯ กลับยังไม่ประกาศการชะลอการลดกำลังการผลิตในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากความหวาดกลัวว่าแรงหนุนที่ช่วยทำให้ราคาน้ำมันไต่ขึ้นก็จะสามารถฉุดราคาน้ำมันให้ลดลงสู่ระดับเดิมได้เช่นกัน และความสัมพันธ์ระหว่างโอเปกกับรัสเซียครั้งล่าสุดเกี่ยวกับการลดกำลังการผลิตก็เป็นสัญญาณที่ย้ำเตือนซาอุฯ ให้พิจารณาผลประโยชน์ของรัสเซียเป็นความสำคัญอันดับแรกรองจากสหรัฐฯ แม้ว่าผู้นำรัสเซีย นายวลาดิมีร์ ปูติน ก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจใด ๆ ของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านก็ตาม
ถึงแม้ว่าซาอุฯ จะไม่ได้มีเจตนาตอบโต้ด้วยแนวทางเดียวกับสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน แต่ก็คงเป็นอีกทางเลือกที่ชาญฉลาดหากซาอุฯ จะยอมออกมาประกาศชะลอการลดกำลังการผลิตในที่สุด เพื่อหยุดยั้งการใช้กลเม็ดอันแพรวพราวของทรัมป์ที่พยายามเปลี่ยนทิศทางของตลาดน้ำมันอยู่เรื่อยมา