เมื่อวานไม่มีใครคาดหวังเลยว่าข้อตกลง Brexit ของรัฐบาลนางเธเรซา เมย์จะผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาไปได้ และน้อยคนที่คาดหวังว่า การลงคะแนนเสียงในวันนี้ ส.ส. จะเลือกถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงใด ๆ ซึ่งทำให้วันพฤหัสบดีนี้จะมีการลงคะแนนเสียงอีกครั้งว่าจะยืดเส้นตายวันที่ 29 มีนาคมออกไปอีกหรือไม่ แม้ว่าขณะนี้ดูเหมือนจะไม่มีทางเลือกอื่นแล้วก็ตาม
ในทางกลับกัน คงจะคาดเดายากว่ารัฐสภาอังกฤษจะได้อะไรจากการเลื่อนเส้นตาย ตัวแทนผู้เจรจาจากสหภาพยุโรปได้ชี้แจงไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการอนุโลมใด ๆ เกิดขึ้นอีกแล้ว ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับนโยบาย Irish backstop หรือประเด็นอื่น ๆ ที่สมควรคัดค้านในข้อตกลงของนายกเมย์ จากการที่สหราชอาณาจักรได้สร้างข้อผิดพลาดอย่างมหันต์ในความพยายามถอนตัวครั้งนี้ จึงทำให้คนบางกลุ่มเกิดความคาดหวังว่าสหราชอาณาจักรน่าจะล้มเลิกความคิดที่จะถอนตัวจากสหภาพยุโรปได้เสียที หรืออย่างน้อยก็เปิดให้ลงประชามติอีกครั้งก็ยังดี
นายกเมย์เป็นผู้เปิดประเด็นดังกล่าวด้วยตนเองเลยเสียด้วยซ้ำ โดยนายกเมย์ได้กล่าวในเชิงชี้นำล่วงหน้าไปยังการตัดสินใจเลื่อนเส้นตายในวันพฤหัสบดีนี้ ภายหลังจากที่ผลการลงคะแนนเสียงออกมาไม่ดีนัก "สหภาพยุโรปจะต้องสงสัยว่าเหตุใดเราจึงขอให้เลื่อนเส้นตาย" นายกเมย์กล่าว "สภาฯ จะต้องเป็นผู้ให้คำตอบว่า สภาฯ ต้องการยืดเวลาให้แก่มาตรา 50 หรือไม่, สภาฯ ต้องการลงประชามติเป็นครั้งที่สองหรือไม่ หรือว่าสภาฯ ต้องการข้อตกลงฉบับใหม่ที่ไม่ใช่ฉบับนี้"
เงินปอนด์สเตอร์ลิง ยังคงลอยตัวอยู่เหนือจุดต่ำสุดแม้ว่ารัฐสภาอังกฤษจะเกิดความล้มเหลวก็ตาม สกุลเงินยังเคลื่อนที่อยู่เหนือระดับราคา $1.30 จากที่ก่อนหน้านี้เคยขยับลงไปถึงระดับดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าขณะนี้ผู้ลงทุนต้องการเวลาเพิ่มขึ้น แม้ว่าเป็นเพียงการยื้อเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับกรณี Brexit แบบไม่มีข้อตกลงก็ตาม
ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ นายมาร์ค คาร์นีย์ อีกทั้งรองผู้ว่าการฯ นายเดฟ แรมสเด็น และสมาชิกจากหน่วยงานภายนอกอีกสองราย นายไมเคิล ซอนเดอร์ส และนายโจนาธาน ฮาสเคิล ได้กล่าวว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยอาจเป็นไปได้ทั้งสองทิศทาง แม้ว่านายคาร์นีย์เคยได้ให้คำกล่าวในรัฐสภาแล้วว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะลดอัตราดอกเบี้ย แต่เขาได้ย้ำเตือนเอาไว้ว่าหากมีการถอนตัวแบบไม่มีข้อตกลงอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้ เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวอาจสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงดิ่งลงครั้งใหญ่ได้
ธนาคารกลางอังกฤษได้ส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปีที่แล้วว่าธนาคารฯ ต้องการบังคับใช้นโยบายทางการเงินแบบเข้มงวดขึ้น แต่ปัจจุบันนี้ธนาคารฯ เลือกที่จะพักการพิจารณาไปก่อนเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ Brexit และเนื่องจากข้อตกลงครั้งนี้เริ่มน่าสิ้นหวัง ขณะนี้ทุกฝ่ายจึงมุ่งความสนใจไปยังความเป็นไปได้ที่จะเกิดการพลิกผันของตลาดเสียมากกว่า และธนาคารฯ เองก็จำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินตามแผนสำรองกรณีฉุกเฉินอื่น ๆ โดยขณะนี้นายคาร์นีย์ ผู้ซึ่งอธิบายถึงความเสี่ยงจาก Brexit อย่างร้อนแรงมาตลอด กลับมีน้ำเสียงอ่อนลงในช่วงที่เส้นตายใกล้เข้ามาทุกที