เศรษฐกิจไตรมาสสาม ขยายตัว +3.0%y/y หนุนโดยการกลับมาขยายตัวในรอบ 6 ไตรมาส ของการลงทุนภาครัฐ รวมถึงการขยายตัวในอัตราเร่งของการส่งออกสินค้าและบริการ
- GDP Q3 2024
Actual: +3.0%y/y Previous: +2.2%y/y
Consensus: +2.4%y/y
- เศรษฐกิจไทยไตรมาสสามของปี 2024 ขยายตัว +3.0% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่โตราว +2.2% หนุนโดยการกลับมาขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังได้แรงหนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าและบริการ รวมถึงการบริโภคภาคเอกชน ส่วน การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่อง
- สศช. ประเมินอัตราการเติบโตเศรษฐกิจปี 2024 อาจโตราว +2.6% ส่วนในปี 2025 เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวราว +2.3% ถึง +3.3% หนุนโดยการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน อานิสงส์ของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่กลับมาเพิ่มขึ้น และการขยายตัวของการส่งออก ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง คือ ความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่สหรัฐฯ ปัญหาหนี้ครัวเรือนและเอกชนที่อยู่ในระดับสูง และผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ
- รายงาน GDP ล่าสุด ยังคงสอดคล้องกับคาดการณ์เศรษฐกิจของทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้เราคงมองว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ในปีนี้ ส่วนในปี 2025 ธปท. อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 2.00% หากแนวโน้มเศรษฐกิจไทย “แย่กว่า” ที่ ธปท. ประเมินไว้ ซึ่งต้องจับตาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Real GDP) ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2024 ขยายตัว +3.0% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน “ดีกว่า” ที่ตลาดคาดที่ +2.4%
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามของปี 2024 ขยายตัว +3.0% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หนุนโดยการขยายตัวกว่า +25.9% ของการลงทุนภาครัฐ รวมถึงการขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นของการส่งออกบริการ (ซึ่งส่วนใหญ่คือ การท่องเที่ยว) +21.9% การส่งออกสินค้า +8.3% และการใช้จ่ายของภาครัฐ +6.3% ทว่าการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง +3.4% ส่วน การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่อง -2.5%
- สศช. ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2024 ขยายตัว 2.6% ส่วนในปี 2025 เศรษฐกิจอาจโตราว 2.3%-3.3% โดยเศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวของภาคการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนนอกจากนี้ เศรษฐกิจก็จะได้แรงส่งเพิ่มเติมจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ
- นอกจากนี้ สศช. ได้ประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2024 ราว 0.5% และในกรอบ 0.3%-1.3% สำหรับปี 2025 เพื่อให้สอดคล้องกับคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สศช. ได้ประเมิน ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2024 และปี 2025 อาจเกินดุลราว 2.5% และ 2.6% ของ GDP ตามลำดับ
- ทั้งนี้ สศช. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด อาทิ ความไม่แน่นอนของจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่สหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้เกิดความผันผวนต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกได้ นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนและเอกชนที่อยู่ในระดับสูง และผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจไทยขยายตัว “ดีกว่าคาด” ทำให้เราคงมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย “คงดอกเบี้ย” ที่ 2.25% ในปีนี้ แต่ปีหน้า ธปท. อาจลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม เพื่อรับมือผลกระทบจากสงครามการค้าที่อาจเกิดขึ้น
- การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐได้กลับมาเป็นปัจจัยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่สาม ซึ่งหากการเบิกจ่ายของภาครัฐยังคงดำเนินต่อไปได้ไม่สะดุดก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยยังได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 อีกทั้ง ช่วงไตรมาสที่ 4 ก็ยังเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยจะได้แรงหนุนจากทั้งการฟื้นตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว (ช่วงไฮซีซั่น) การขยายตัวของภาคการส่งออกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาบ ทำให้เรามองว่า เศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มจะเป็นไปตามที่ ธปท. ประเมินไว้ ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25% ในปีนี้
- อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะ พร้อมเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรส ทำให้มีความเสี่ยงที่การค้าโลกจะถูกกดดันจากสงครามการค้ารอบใหม่ ซึ่งในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาล Trump 2.0 อาจดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าได้เร็วขึ้นจากเมื่อครั้งรัฐบาล Trump 1.0 อีกทั้งมาตรการดังกล่าวก็อาจมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ เราคงเชื่อว่า ธปท. อาจจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงบ้างราว -25bps สู่ระดับ 2.00% ในปี 2025 โดยการลดดอกเบี้ยลงดังกล่าว ก็ถือว่าอาจอยู่ในระดับที่นโยบายการเงินของ ธปท. นั้นยังเป็นกลางอยู่ หากเราประเมินว่า Neutral Rate ของไทยนั้นอยู่ในช่วง 2.00%-2.50% และการลดดอกเบี้ยดังกล่าว นอกจากจะช่วยพยุงเศรษฐกิจ ลดทอนผลกระทบจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น ยังช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือน โดยไม่ทำให้กระบวนการปรับลดหนี้ครัวเรือนสะดุดลง
- ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดบอนด์ได้รับรู้โอกาสที่ ธปท. จะลดดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.00% ไปมากแล้ว ทำให้เรามองว่า บอนด์ระยะยาว เช่น บอนด์ 10 ปี ขึ้นไปถึงจะมีความน่าสนใจ ในการทยอยเข้าซื้อ