Economic Highlight
ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พร้อมติดผลการเลือกตั้งสภาผู้แทนฯ ญี่ปุ่น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน (โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ The Magnificent 7) แนวโน้มผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
**ราคาทองคำ = Spot Gold price (XAUUSD)
FX Highlight
- สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ จังหวะย่อตัวลงของราคาทองคำ และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ ทว่าการอ่อนค่าของเงินบาทก็ค่อยเป็นค่อยไป ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาด อีกทั้งราคาทองคำก็มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นใกล้จุดสูงสุด
- เรายังคงมองว่า เงินดอลลาร์จะเผชิญความผันผวน Two-Way Volatility โดยแนวโน้มการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์จะขึ้นกับ 1) รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด 2) มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยธนาคารกลางหลักอื่นๆ 3) มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ และ 4) บรรยากาศในตลาดการเงิน
- โดยต้องระวังในกรณีที่ ข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ออกมาน่าผิดหวัง ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้พอสมควร ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ อาจพอได้แรงหนุนอยู่ตามการทยอยเพิ่มสถานะ Long USD ซึ่งเป็นหนึ่งใน Trump Trades หลังโอกาสที่โดนัลด์ ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
- นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็อาจได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หากผลการเลือกตั้งล่าสุด สะท้อนว่า การเมืองญี่ปุ่นอาจเผชิญความวุ่นวายในระยะสั้น
- เรามองว่า ควรจับตาทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้ โดยการเคลื่อนไหวของเงินหยวนจะขึ้นกับความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนของผู้เล่นในตลาด อนึ่ง เราประเมินว่า แม้เงินหยวนอาจแข็งค่าขึ้น แต่เงินหยวนจีนจะไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องชัดเจนจนทะลุระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ ได้ง่ายนัก จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน
- นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น เรามองว่า ควรจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน พร้อมจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้
- ทั้งนี้ โฟลว์ธุรกรรมทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์พลังงาน ยังคงเป็นปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางเงินบาทได้พอสมควร ซึ่งต้องจับตาทั้งมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการเลือกตั้งสหรัฐฯ และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
- ล่าสุด สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง กลับมาร้อนแรงขึ้นในช่วงวันหยุด หลังอิสราเอลได้โจมตีทางการอากาศใส่เป้าหมายทางทหารของอิหร่าน ทำให้มีโอกาสที่อิหร่านและพันธมิตร Axis of Resistance จะหาทางตอบโต้การโจมตีดังกล่าวได้
- ความไม่แน่นอนของการเมืองไทยก็เริ่มกดดันตลาดการเงินไทยและเงินบาท ทำให้ต้องติดตามพัฒนาการของคดีเกี่ยวกับการเมืองไทยอย่างใกล้ชิดเช่นกัน
- เรามองว่า ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้แข็งค่าขึ้นจนทะลุโซน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน เราก็จะยังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาท (USDTHB) ยังมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงในลักษณะ Sideways Up
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI MACD และ Stochastic ใน Time Frame รายวัน สำหรับ USDTHB สะท้อนว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ แต่ก็อาจชะลอลงบ้าง (RSI ปรับตัวลดลง ส่วน Stochastic สะท้อนถึงโอกาสที่เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้)
- ส่วนสัญญาณจาก RSI Stochastic และ MACD ใน Time Frame H4 สะท้อนว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ขณะที่สัญญาณจาก RSI Stochastic และ MACD ใน Time Frame H1 สะท้อนว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงระยะสั้นอาจชะลอลงบ้าง
- โดยรวม เราประเมินว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลง โดยอาจมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง โดยโซนแนวต้านนั้น จะอยู่แถว 33.85 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าผ่านโซนดังกล่าวได้ก็อาจมีแนวต้านถัดไปแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับแรกจะอยู่แถว 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ โดยจะมีแนวรับถัดไปแถว 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์
Gold Highlight
- ราคาทองคำยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้ จนทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ราคาทองคำก็เผชิญแรงกดดันบ้างจากการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ราคาทองคำก็ยังคงได้แรงหนุนจากความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
- โมเมนตัมขาขึ้นของราคาทองคำนั้นยังคงมีกำลังอยู่ โดยราคาทองคำอาจยังคงได้แรงหนุนจากการเพิ่มสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาด เพื่อรับมือความไม่แน่นอนของทั้งการเลือกตั้งสหรัฐฯ และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
- ทว่า การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำก็อาจไม่ง่ายนัก หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ อีกทั้งตลาดการเงินก็อาจเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง หากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อย่าง หุ้นเทคฯ ใหญ่ The Magnificent 7 ออกมาดีกว่าคาด
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI MACD และ Stochastic ในTime Frame รายวัน ชี้ว่า ราคาทองคำยังคงมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ ตามโมเมนตัมขาขึ้นที่มีกำลังมากขึ้น ทว่า ก็มีความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจพลิกกลับมาย่อตัวลงบ้าง ตามสัญญาณ RSI Divergence
- ในส่วน Time Frame H4 สัญญาณจากทั้ง RSI Stochastic และ MACD สะท้อนว่า ราคาทองคำยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ sideways
- ทั้งนี้ สัญญาณจาก RSI Stochastic และ MACD ของ Time Frame H1 สะท้อนว่า ราคาทองคำยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้
- โดยรวม เราประเมินว่า ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ แต่จะมีจังหวะย่อตัวลงได้บ้าง หรือแกว่งตัว Sideways Up จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
- โซนแนวต้านของราคาทองคำจะอยู่แถวจุดสูงสุดใหม่ล่าสุด 2,759 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนโซนแนวรับจะอยู่แถว 2,710-2,725 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยมีแนวรับถัดไปในช่วง 2,685-2,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์