- สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องท้ายสัปดาห์ จากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาด กดดันให้ตลาดกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอีกครั้ง
- ควรจับตาผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางทั้ง เฟด ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ
- เงินดอลลาร์มีโอกาสย่อตัวลงได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะขึ้นกับรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด หรือ Dot Plot ใหม่ ทั้งนี้ ทิศทางของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อาจส่งผลต่อเงินดอลลาร์ได้พอสมควร โดยควรระวังในกรณีที่ตลาดผิดหวังต่อผลการประชุม BOJ ซึ่งสามารถกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าลงหนักได้ ในส่วนของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าได้กลับมาอีกครั้ง เปิดโอกาสเงินบาททดสอบโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ควรจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงเตรียมรับมือความผันผวนของค่าเงินบาทจากราคาทองคำและฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจยังไม่รีบกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทย
- มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้
36.30-37.25 บาท/ดอลลาร์
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
- ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) โดยเราคาดว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาด ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างมุ่งความสนใจไปที่ คาดการณ์ดอกเบี้ย หรือ Dot Plot ใหม่ โดยเราประเมินว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงมากขึ้นจากการประชุมเดือนมีนาคม สะท้อนจากดัชนี Growth Surprise โดย Bloomberg ที่ลดลงต่อเนื่อง อาจส่งผลให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่จะสนับสนุนการลดดอกเบี้ยลงราว 2 ครั้งในปีนี้ (ลดลงจาก 3 ครั้งใน Dot Plot เดือนมีนาคม) ขณะที่การลดดอกเบี้ยในปีหน้าอาจอยู่ที่ราว 3-4 ครั้ง และคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะยาว (Longer Run) ก็อาจอยู่แถวระดับ 2.6% ซึ่งสะท้อนว่า เฟดจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มเงินเฟ้อ หรือการจ้างงานชะลอลงมากกว่าคาด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤษภาคม (รับรู้ก่อนผลการประชุม FOMC) ซึ่งหากชะลอลงต่อเนื่อง ก็อาจเพิ่มโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ได้ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งเรามองว่า โทนการสื่อสารอาจมีลักษณะ Neutral-Slightly Dovish ได้ ดังนั้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ Dot Plot ใหม่ของเฟด และการสื่อสารของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ ก็อาจทำให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงบ้าง หลังปรับตัวขึ้นเร็วและแรงในวันศุกร์ก่อนหน้า จากรายงานยอดการจ้างงานที่ออกมาดีกว่าคาด
- ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานของอังกฤษ เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) หลังล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและทยอยชะลอตัวลงอาจทำให้ BOE ยังไม่รีบลดดอกเบี้ย คล้ายกับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานข้อมูลอัตราการเติบโตของค่าจ้างอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแรงกดดันต่อแนวโน้มเงินเฟ้อจากค่าจ้าง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยของ ECB ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยได้อีกไม่เกิน 2 ครั้งในปีนี้ (ลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนและธันวาคม)
- ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ในการประชุมครั้งนี้ BOJ อาจยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทว่า BOJ อาจส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็คาดหวังว่า BOJ อาจเริ่มทยอยปรับลดปริมาณการซื้อบอนด์ในการประชุมครั้งนี้ และส่งสัญญาณชัดเจนว่าพร้อมทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไป หลังอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมาย 2% ของ BOJ ได้อย่างยั่งยืน ส่วนทางฝั่งธนาคารกลางไต้หวัน (CBC) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.00% หลังอัตราเงินเฟ้อได้ชะลอลงเข้าใกล้ระดับ 2% มากขึ้น คลายความกังวลต่อแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ CBC ขึ้นดอกเบี้ย +12.5bps เซอร์ไพรส์ตลาดในการประชุมเดือนมีนาคม
- ฝั่งไทย – เราประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5-2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% หลังแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อยังใกล้เคียงกับคาดการณ์ของทาง กนง. อย่างไรก็ดี กนง. อาจเปิดกว้างได้ว่า (optionality) หากเศรษฐกิจชะลอลงกว่าคาดไปมาก (ซึ่งอาจสะท้อนจากโมเมนตัมเศรษฐกิจที่แย่กว่าคาด) เช่น การเบิกจ่ายภาครัฐมีปัญหา ภาคการส่งออกยังคงซบเซากว่าคาด รวมถึงอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายชัดเจน ก็อาจทำให้ กนง. ยังสามารถพิจารณาใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงประเมินว่า กนง. มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้