Economic Highlight
ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทั้ง ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และอัตราเงินเฟ้อ CPI รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด Jerome Powell
FX Highlight
- สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนในกรอบ sideways หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด กดดันเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกัน เงินบาทก็พอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์
- โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจกลับมาอีกครั้งได้ หากผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
- โดยต้องรอลุ้นรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เพราะหากออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ 1 ครั้ง หรือ ไม่ลดเลยในปีนี้ ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น
- ในทางกลับกัน หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวออกมาตามคาด หรือ ต่ำกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways หรือย่อลงได้บ้าง
- นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงนี้ออกมาชะลอตัวลงมากขึ้น
- และนอกจากปัจจัยแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน เช่น ยอดค้าปลีก รวมถึง GDP ไตรมาสแรกในปีนี้ ของญี่ปุ่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินหยวนจีน และเงินเยนญี่ปุ่นได้
- สำหรับ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติมีโอกาสขายสุทธิสินทรัพย์ไทยได้ หากบรรยากาศในตลาดถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด แต่หากตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง นักลงทุนต่างชาติอาจเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิราว 3-5 พันล้านบาทได้ ซึ่งอาจพอช่วยลดทอนผลกระทบจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจสูงราว 5.7 พันล้านบาทในสัปดาห์นี้
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจากทั้ง RSI MACD และ Stochastic (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้แผ่วลง และเงินบาทก็มีโอกาสแกว่งตัว sideways โดยต้องจับตาโซนแนวรับแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ (แถวเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน)
- ส่วนของ Time Frame ที่สั้นลง เช่น H4 และ H1 สัญญาณจากทั้ง RSI MACD และ Stochastic ต่างสะท้อนว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways Up หรืออ่อนค่าลงได้บ้าง โดยมีโซนแนวต้านแรกแถว 36.85 บาทต่อดอลลาร์ (โซนถัดไป 37.00-37.10 บาทต่อดอลลาร์)
Gold Highlight
- ราคาทองคำเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นปลายสัปดาห์ก่อนหน้า หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้
- เราคงมุมมองเดิมว่า แนวโน้มราคาทองคำจะขึ้นกับ ทิศทางเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากปัจจัยแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยในสัปดาห์นี้ ควรระวังความผันผวนของราคาทองคำ ในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ (ดัชนี PPI และอัตราเงินเฟ้อ CPI) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
- ทั้งนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาทองคำได้ โดยหากความกังวลลดลงชัดเจน เช่นมีการเจรจาหยุดยิง ก็อาจกดดันให้ราคาทองคำผันผวนลดลงได้พอสมควร
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI, Stochastic และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า ราคาทองคำมีโอกาสลุ้นปรับตัวขึ้นต่อได้ หรืออาจแกว่งตัว sideways ทว่าสัญญาณจาก Time Frame ที่สั้นลง อย่าง H4 และ H1 ชี้ว่า ราคาทองคำอาจแกว่งตัว sideways หรือเสี่ยงย่อตัวลงได้บ้าง