Economic Highlight
ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น รวมถึง รายงาน GDP ไตรมาส 4 ของไทย นอกจากนี้ ควรจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก (เฟด, BOE, ECB)
**ราคาทองคำ = สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.
FX Highlight
- เงินบาทอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย กอปรกับ นักลงทุนต่างชาติต่างก็เทขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
- ทั้งนี้ เราคาดว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มแผ่วลงบ้าง และการอ่อนค่าต่อก็อาจจำกัดในโซนแนวต้าน 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งต้องจับตาการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด รวมถึงแนวโน้มดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
- โดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด นั้นจะขึ้นกับ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMI) รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
- ส่วนในฝั่งไทย รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 จะส่งผลต่อมุมมองผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทย ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดได้ประเมินว่า ธปท. อาจลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้ง ในปีนี้ ตามภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แย่กว่าคาดไปมาก โดยเฉพาะหากขาดมาตรการ Digital Wallet
- โฟลว์ธุรกรรมเกี่ยวกับทองคำ ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทได้ โดยล่าสุด ราคาทองคำได้รีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องจากโซนแนวรับระยะสั้น ทำให้หากมีการปรับตัวขึ้นต่อบ้าง ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้
- สำหรับ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจยังมีอยู่บ้าง ทั้งในส่วนของแรงขายหุ้นและบอนด์ ทว่า นักลงทุนต่างชาติอาจกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้ หากรายงาน GDP ไทยออกมาดีกว่าคาด
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้แผ่วลง เปิดโอกาสให้เงินบาทแกว่งตัว sideways หรือแข็งค่าขึ้นบ้าง
- ส่วนของ Time Frame ที่สั้นลง เช่น H4 และ H1 สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD ต่างชี้ว่า เงินบาทอาจผันผวนแข็งค่าขึ้นบ้าง หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัว sideways ใกล้โซนแนวรับแรกแถว 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้
Gold Highlight
- ราคาทองคำปรับตัวลงแรง หลังผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย ก่อนที่ราคาทองคำจะรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับตามโฟลว์ซื้อของผู้เล่นในตลาด และจังหวะย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์
- สัปดาห์นี้ ทิศทางราคาทองคำยังคงขึ้นกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดได้มองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 4 ครั้งในปีนี้ ซึ่งใกล้เคียงกับ Dot Plot ล่าสุด ที่เฟดมองว่าจะลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง
- ราคาทองคำอาจย่อตัวลงทดสอบแนวรับ 1,990-2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง หากผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ล่าสุดจริง
- ควรระวัง ราคาทองคำอาจผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และฝั่งยุโรป รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด, BOE และ ECB
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า ราคาทองคำเริ่มมีโอกาสรีบาวด์ขึ้นต่อ หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว sideways ส่วนสัญญาณจาก Time Frame ที่สั้นลง อย่าง H4 และ H1 ชี้ว่า โมเมนตัมการปรับตัวลดลงของราคาทองคำอาจชะลอลงบ้าง ทำให้ราคาทองคำอาจแกว่งตัว sideways หรือทยอยปรับตัวขึ้นต่อได้ แต่แนวต้านยังคงเป็นช่วง 2,040-2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์