เฟดมีมติ “คง”ดอกเบี้ย ตามคาด
หลังภาวะการเงินตึงตัวมากขึ้น ทำให้เฟดเพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงิน
- Fed Funds Target Range
Actual: 5.25-5.50% Previous: 5.25-5.50%
KTBGM: 5.25-5.50% Consensus: 5.25-5.50%
-
- คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% ตามคาด และพร้อมปรับนโยบายการเงินตามความเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าเฟดจะบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2% ได้
-
- แม้ว่าในช่วงการแถลงต่อสื่อมวลชน ประธานเฟด Jerome Powell จะส่งสัญญาณที่ชี้ว่า เฟดอาจใกล้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทว่า ประธานเฟดยังคงย้ำว่า “เฟดจะยังไม่เริ่มพิจารณาการลดดอกเบี้ย จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อได้”
-
- เราคงมุมมองเดิมว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วในวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ แม้ว่าในการประชุมครั้งนี้ เฟดจะมองภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งก็ตาม แต่นั่น คือ ภาพเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเราประเมินว่า ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น โดยเราคงมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ซึ่งจะทำให้เฟดสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด และมากกว่าที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่ในปัจจุบัน
-
- Next FOMC Decision: Dec. 14 2023 (1 AM BKK)
คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% แต่พร้อมปรับนโยบายการเงินตามความเหมาะสม เพื่อให้เฟดบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ได้สำเร็จ
- FOMC มองข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดสะท้อนการขยายตัวแข็งแกร่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 โดยภาวะตลาดแรงงาน แม้จะชะลอลงนับตั้งแต่ต้นปี แต่โดยรวมยังคงแข็งแกร่งอยู่ ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และแม้ว่าระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังมีความแข็งแกร่งอยู่ แต่ภาวะตึงตัวการเงิน รวมถึงภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน อาจยังคงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อได้ โดยผลกระทบดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอน อนึ่งความเสี่ยงเงินเฟ้อยังคงเป็นสิ่งที่เฟดให้ความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น คณะกรรมการจึงมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% พร้อมกับเดินหน้าลดงบดุล โดย FOMC มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%
- สำหรับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตนั้น FOMC จะติดตามพัฒนาการข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยคณะกรรมการพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หากพบว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ ซึ่งเฟดจะติดตามทั้งข้อมูลด้านสาธารณสุข ตลาดแรงงาน ปัจจัยต่อเงินเฟ้อและคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงสถานการณ์ทางการเงินและสถานการณ์ในต่างประเทศ
- ประธานเฟด ได้เน้นย้ำว่า “เฟดจะยังไม่เริ่มพิจารณาการลดดอกเบี้ย จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่า เฟดจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ได้” นอกจากนี้ ประธานเฟด ยังได้กล่าวเสริมว่า “เฟดจะพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ภาวะการเงิน และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์” ก่อนการประชุมเฟดในเดือนธันวาคม สะท้อนว่า เฟดระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น และเฟดยังคงท่าที Data Dependent ในแต่ละการประชุม
ผลการประชุมเฟดที่สะท้อนว่าเฟดระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ทว่า คำถามสำคัญ คือ เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยลงเมื่อไหร่ และลดกี่ bps
- แม้ว่าในการประชุมครั้งนี้ เฟดจะยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่เรากลับมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงมากขึ้น หากพิจารณาจากแนวโน้มการชะลอตัวลงของการจ้างงานสหรัฐฯ ที่เราพบว่า เริ่มมีการจ้างงานแบบ Part-time ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การจ้างงาน Full-time นั้นลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ การใช้จ่ายในสหรัฐฯ อาจชะลอลงมากขึ้น เมื่อเงินออมส่วนเกิน (Excess Savings) ได้หมดลงสำหรับชาวอเมริกันราว 80% และถึงกำหนดต้องกลับมาจ่ายหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (Student Loans) ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว
- อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญ จะอยู่ที่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอลงมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด โดยจากการศึกษาข้อมูลในอดีตของ Near-term Forward Spread หรือ NTFS (ส่วนต่างระหว่าง บอนด์ยีลด์ 3 เดือน ล่วงหน้า 18 เดือน กับ บอนด์ยีลด์ 3 เดือน ปัจจุบัน) ซึ่งประธานเฟดเคยกล่าวว่า NTFS เป็นหนึ่งในข้อมูลที่เฟดติดตาม ในการประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย เราพบว่า Inverted NTFS อาจไม่ได้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนมากนัก แต่หาก NTFS เริ่มปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุด จะสามารถเป็นสัญญาณต่อแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ดี โดยพบว่า หลัง NTFS พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุด (Steepening) โดยเฉลี่ยราว 24 สัปดาห์ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มักจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจากจุดต่ำสุดของ NTFS ก็ผ่านมาแล้ว 22 สัปดาห์ ทำให้ เรามองว่า ในระยะข้างหน้า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ เป็นความเสี่ยงที่มองข้ามไม่ได้ โดยเราจะจับตาแนวโน้มการจ้างงานสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด หลังจากที่เราได้นำเสนอในบทวิเคราะห์ FOMC ก่อนหน้า ว่า หากอัตราการว่างงานสูงขึ้นแตะระดับ 4% ก็จะสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจาก Sahm’s Rule
- อนึ่ง สถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มอามาส ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ อาจทำให้ มุมมองของเราต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดผิดไปได้ โดยต้องระวังความเสี่ยงที่สถานการณ์บานปลายมากขึ้น จนทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูงได้นาน ซึ่งอาจนำมาสู่การใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด ดังที่เราได้นำเสนอในบทวิเคราะห์สถานการณ์สงครามก่อนหน้า
- ทั้งนี้ หากมุมมองของเราต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินของเฟดถูกต้อง นั่นแปลว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีโอกาสทยอยปรับตัวลดลง ตามการทยอยปรับลดโอกาสเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานของผู้เล่นในตลาด ทำให้เรามี Trade Idea ที่น่าสนใจ คือ Short USDJPY (ซึ่งเป็นมุมมองที่สวนทางกับตลาด) เนื่องจาก ในปีนี้ เงินเยนญี่ปุ่น ได้อ่อนค่าลงมากว่า -13% และหากประเมินในแง่ Valuation ของเงินเยนผ่านดัชนีเงินเยน REER ก็พบว่า เงินเยนอยู่ในระดับ “Undervalued” พอสมควร นอกจากนี้ ยังพบว่า เงินเยนญี่ปุ่นมักจะผันผวนไปตาม ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับ บอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่น โดยการปรับตัวลดลงของส่วนต่างดังกล่าวราว 10bps ก็อาจช่วยให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นได้เกือบ 1% และที่สำคัญ การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ล่าสุด ก็สะท้อนว่า BOJ เตรียมจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก