วิเคราะห์ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ “Israel-Hamas”อย่างเข้าใจ และเป็นระบบ(Part2)

เผยแพร่ 17/10/2566 20:47

Base Case Scenario สงครามยืดเยื้อได้ แต่ไม่ลุกลามและบานปลาย (เราคาดหวังว่า สงครามจะไม่ยืดเยื้อ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น)

จากการประเมินท่าทีของบรรดาประเทศในตะวันออกกลางล่าสุด โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตน้ำมันสำคัญ เรามองว่า ส่วนใหญ่สงวนท่าทีหรือค่อนข้างแสดงความเป็นกลางและแสดงความต้องการให้ทั้งอิสราเอล-กลุ่มฮามาสยุติสงครามโดยเร็ว ส่วนในฝั่งอิหร่าน เรามองว่า ทางอิหร่านก็อาจไม่ได้ต้องการให้สงครามลุกลาม บานปลายจนอิหร่านต้องมามีส่วนร่วมโดยตรง เนื่องจากอิหร่านได้บรรลุเป้าหมายที่จะยับยั้งการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ และซาอุฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างอิสราเอลกับซาอุฯ อาจสะดุดลงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งกลุ่ม Axis of Resistance อาทิ Hezbollah, Houthi (ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าได้รับการสนับสนุนจากทางอิหร่าน) ก็แสดงความพร้อมที่จะโจมตีอิสราเอลทำให้อิสราเอลอาจเผชิญการโจมตีรอบด้าน จากฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ใช่รัฐ หรือไม่ใช่สงคราม Conventional ที่อิสราเอลมีความคุ้นเคย (ซึ่งอาจทำให้สงครามยืดเยื้อได้)

และที่สำคัญ เรายังมองว่า บรรดาประเทศมหาอำนาจและพันธมิตร ต่างก็ไม่ต้องการให้สถานการณ์สงครามบานปลาย เนื่องจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน ก็ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งเราจะเห็นได้จากท่าทีของผู้นำประเทศมหาอำนาจดังกล่าว ที่แสดงจุดยืนอยากให้สงครามสงบลงในเร็ววัน

ปัจจุบันกรณีนี้ เป็นสิ่งที่ตลาดกำลังรับรู้อยู่ ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ลงบ้าง ทั้ง เงินดอลลาร์ พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ทองคำ รวมถึง เงินเยนญี่ปุ่น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบก็ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อ โดยเฉพาะหลังจากที่ทางการสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่ออุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลา ซึ่งจะช่วยลดทอนผลกระทบในกรณีที่อุปทานน้ำมันโลกกลับมาตึงตัวจากภาวะสงครามที่อาจทวีความรุนแรงและบานปลายได้ 

ในกรณีนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะทยอยมองข้ามปัจจัยความเสี่ยงสงคราม และเริ่มกลับมาให้น้ำหนักต่อรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยหากเรามองว่า บรรยากาศในตลาดการเงินมักจะผันผวนไปตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะพบว่า ในช่วงฤดูกาลประกาศผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ เนื่องจากหุ้นในหลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะรายงานผลประกอบการขยายตัวได้ดี อาทิ กลุ่ม Healthcare Communication Services รวมถึงหุ้นในธีม AI เป็นต้น ทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ และผู้เล่นในตลาดจะกลับมาให้ความสนใจต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะ เฟด อีกครั้ง

โดยหากตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ซึ่งเรามองว่า อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอลงชัดเจน และเราคงมุมมองเดิมว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงต้นปีหน้า ภาพดังกล่าวจะส่งผลให้ เงินดอลลาร์ (ดัชนีเงินดอลลาร์ DXY) มีแนวโน้มอ่อนค่าลง สู่ระดับ 102-103 จุด ได้ ณ สิ้นปี ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีโอกาสลดลงสู่ระดับ 4.10%-4.20% เช่นเดียวกันกับบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทย ที่อาจลดลงได้บ้างสู่โซน 3.10%-3.20% ส่วนเงินบาทก็มีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 34.25-34.75 บาทต่อดอลลาร์ 

ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าวของเรามีสมมติฐานว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI จะแกว่งตัวในโซน 80-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากทางการอิหร่านอาจยังสามารถผลิตน้ำมันได้เกิน 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และถ้าหากอิหร่านสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไปแตะระดับ 3.4-3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเผชิญมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์) ก็มีผลกระทบคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบได้ราว -2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากงานวิจัยของทาง Goldman Sachs 

Iran Strike Back Scenario สงครามขยายวงกว้าง จนอิหร่านเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งในกรณีนี้ เรามองว่า หากอิหร่านถูกคว่ำบาตรเพิ่มเติม หรือ ถูกโจมตี ทางอิหร่านก็พร้อมที่จะตอบโต้ ด้วยการปิดช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งพลังงานสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลาง หรือ อิหร่านอาจลดกำลังการผลิต/ระงับการส่งออกพลังงาน โดยไม่ว่าทางการอิหร่านจะตัดสินใจแบบไหน ก็ย่อมส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ 

โดยในกรณีนี้ เราสามารถแบ่ง scenario ได้อีกสองแบบย่อย ตามการพิจารณาผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเราจะประเมินทั้งในมิติระดับของราคาน้ำมันดิบและระยะเวลาที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงดังกล่าว

1) อิหร่านตัดสินใจลดกำลังการผลิตลง 5 แสนบาร์เรลต่อวัน ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ควบคู่กับการปิดช่องแคบฮอร์มุซ เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตร หรือ การถูกโจมตีจากฝั่งตะวันตก/อิสราเอล แต่อิหร่านจะไม่ประกาศทำสงครามกับฝั่งตะวันตกหรืออิสราเอลโดยตรง โดยในกรณีนั้น เรามองว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI อาจมี upside เพิ่มขึ้นจากที่เราประเมินอย่างน้อย 10-20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบ WTI อาจปรับตัวขึ้นและทรงตัวแถวระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้ราว 1 เดือน ก่อนที่จะปรับตัวลดลงสู่โซน 80-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับฝั่งตะวันตก/อิสราเอลคลี่คลายลงได้เร็ว และทางซาอุฯ หรือเวนาซุเอลา อาจเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน

แม้ว่าในกรณีนี้ ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็อาจไม่ได้ส่งผลให้ บรรดาธนาคารกลางหลักต้องกลับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบจะเป็นปัจจัยชั่วคราว ทว่า ธนาคารกลางหลัก อย่าง เฟด อาจส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้นาน (Higher for Longer) เพื่อให้มั่นใจว่า แนวโน้มการชะลอตัวของเงินเฟ้อจะกลับมาได้อย่างยั่งยืน ซึ่งภาพดังกล่าว รวมถึงภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดจากสถานการณ์สงครามที่รุนแรงขึ้น จะยิ่งหนุนให้ เงินดอลลาร์ กลับมาเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ผู้เล่นในตลาดต้องการ และแม้เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่เงินดอลลาร์ก็อาจอยู่ที่ระดับ 105-106 จุด ณ สิ้นปี ขณะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเคลื่อนไหวผันผวน โดยจะมีการย่อตัวลงในช่วงตลาด risk-off และปรับตัวขึ้นจากประเด็น Higher for Longer รวมถึงการทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวแถว 4.50% ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทย อาจทรงตัวแถวระดับปัจจุบัน 3.30% ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และโฟลว์ขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ แต่เรามองว่า ในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง ราคาทองคำก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้บ้าง ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดไม่ได้กังวลว่า ธนาคารกลางจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้เงินบาทจะได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าบ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งเราประเมินว่า ในกรณีนี้ เงินบาทอาจอยู่แถวระดับ 35.30-35.85 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี   

2) อิหร่านลดกำลังการผลิตน้ำมันของอิหร่านไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาร์เรล พร้อมปิดช่องแคบฮอร์มุซได้นานเกิน 1 เดือน ในกรณีนี้ อาจมีความเป็นไปได้ หากการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตก/อิสราเอล มีความล่าช้า และแม้ว่า ทางซาอุฯ และเวเนซุเอลา จะกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน แต่ก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงได้นานกว่าคาด ซึ่งเราประเมินว่า หากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เกินกว่า 3 เดือน จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อ (Disinflation progress) และจะทำให้เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวขึ้นได้ ทำให้บรรดาธนาคารกลางหลักอาจมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ 1 ครั้ง และเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน 

การเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลางหลัก อาจสร้างความเสี่ยงให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น โดยเรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีความเสี่ยงที่จะปรับตัวขึ้นได้บ้างในกรณีนี้ อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผ่านการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ (ล่าสุด หุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ the Magnificent 7 เช่น Apple และ Microsoft มีน้ำหนักเกือบ 30% ของดัชนี S&P500) ทั้งนี้ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินอาจอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ ก็อาจทำให้ราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปได้มาก ซึ่งในกรณีนี้ เราประเมินว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ามากกว่าที่จะได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำทำให้เงินบาทมีโอกาสอยู่แถว 36.50-37.00 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี ส่วนเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัวแถวระดับ 107-10.7.5 จุด (ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดในปีนี้ ที่ตลาดยังเชื่อว่า เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้) สำหรับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจแกว่งตัวแถวระดับ 4.80% ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทย ก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้บ้างสู่ระดับ 3.40% (อาจปรับตัวขึ้นมากกว่านี้ได้ หากธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อสู่ระดับ 2.75%)

It’s 1973 again! โดยสงครามขยายวงกว้าง จนบานปลายเป็นสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยบรรดาประเทศในตะวันออกกลางอาจรับไม่ได้กับการโจมตีของอิสราเอลต่อกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์นับล้านคน จนทำให้กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศสมาชิก OPEC เข้าร่วมสงคราม หรืออาจใช้มาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันให้กับพันธมิตรของอิสราเอล คล้ายกับสถานการณ์ Oil Embargo ในปี 1973 และยังมีความเสี่ยงที่รัสเซียอาจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งดังกล่าว ผ่านมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานเช่นกัน 

กรณีนี้ เรามองว่า มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด ดังที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้าว่า ความสัมพันธ์ของบรรดาประเทศในตะวันออกกลางไม่ได้แน่นแฟ้นมากนัก นอกจากนี้ เรามองว่า หลายประเทศในตะวันออกกลางอาจไม่ได้ต้องการทำสงครามกับอิสราเอล ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว อีกทั้งบทเรียนในอดีตได้สะท้อนให้เห็นว่า อิสราเอลมีประสบการณ์ในการทำสงครามแบบ Conventional กอปรกับในปัจจุบันกองทัพอิสราเอลถือว่ามีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีความทันสมัยมาก เมื่อเทียบกับกองทัพในภูมิภาคตะวันออกกลาง (ประเทศไทยก็เป็นลูกค้าของบริษัทอาวุธอิสราเอล)

 

   

ทว่า หากกรณีเกิดขึ้น ผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจจะรุนแรงมาก โดยเราประเมินว่า ในกรณีนี้ หากผลกระทบของสงครามที่บานปลายทำให้กำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC ลดลงราว 25% หรือมีการระงับการส่งออกน้ำมันในสัดส่วนดังกล่าว ก็อาจส่งผลให้ ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นทดสอบระดับ 150-180 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้ภายในปีนี้ 

หากราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับดังกล่าวและอาจอยู่ในระดับสูงได้เกิน 1 เดือน เรามองว่า Playbook ที่จะสามารถเอามาเทียบเคียงได้ คือ ช่วง Oil Embargo 1973 ซึ่งในช่วงนั้น อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เฟดต้องกลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ย และนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในที่สุด 

ดังนั้น หากกรณีเกิดขึ้นจริง (ซึ่งเราขอย้ำว่า โอกาสเกิดต่ำมาก) อาจนำไปสู่การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อและลดโอกาสเกิด Wage-Price spiral โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่เฟดยังมองว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ 2-3 ครั้ง จนถึงระดับ 6.25-6.50% ได้ ทั้งนี้ เรามองว่า เฟดอาจไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อมากไปกว่า 3 ครั้ง เนื่องจากFinancial Condition รวมถึง Credit Condition ในปัจจุบัน ก็ตึงตัวมากขึ้นพอสมควร และให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (สอดคล้องกับความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านในช่วงนี้)

ทั้งนี้ การขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวของเฟดจะส่งผลให้สุดท้าย เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนทำให้สุดท้ายเฟดจำเป็นต้องกลับมาลดดอกเบี้ยลงได้พอสมควรและการลดดอกเบี้ยก็สามารถเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่ตลาด ดังนั้น การเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ในตลาดการเงินจะผันผวนสูงในกรณีนี้

โดยในจังหวะแรกที่สงครามบานปลาย ตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ เงินดอลลาร์ พันธบัตรรัฐบาล และทองคำ โดยในส่วนของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวลงแรงในจังหวะแรก ก่อนที่จะทยอยปรับตัวขึ้นได้บ้าง หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ 2-3 ครั้ง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดก็จะเริ่มกลับมากังวลแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมาก หรือมีโอกาสย่อตัวลงได้บ้าง ซึ่งในปีนี้ จะเหลือการประชุมเฟดเพียง 2 ครั้ง ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจจบสิ้นปีแถว 4.90% หากเฟดทยอยขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 25bps แต่หากเฟดกลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ย 50bps ก็อาจทำให้ ณ สิ้นปี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อยู่เหนือระดับ 5.00% ได้ไม่ยาก อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นปีหน้า เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะพลิกกลับมาปรับตัวลดลงได้เร็ว หากเฟดต้องกลับมาลดดอกเบี้ยลงในช่วงไตรมาสแรก จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยมีโอกาสเห็นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.00% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีหน้า 

ส่วนเงินดอลลาร์ เรามองว่า แนวโน้มขาขึ้นจะยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าจะตลาดจะเริ่มกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย หรือ เฟดเริ่มลดดอกเบี้ยลง ทำให้ เงินดอลลาร์อาจปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซน 109 จุด และมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อสู่ระดับ 111 จุด ได้ ณ สิ้นปีนี้ ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า จะทำให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าหนัก โดยเงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงแตะระดับ 100-102 จุด ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีหน้าได้

และสำหรับเงินบาท เราประเมินว่าในช่วงที่ตลาดปิดรับความเสี่ยง เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ทว่า หากราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ก็จะเริ่มส่งผลกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ผ่านแรงกดดันต่อดุลการค้าที่มีโอกาสขาดดุลมากขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามที่บานปลายและขยายวงกว้างอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว จนทำให้ โดยรวมดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเสี่ยงขาดดุล และจากทิศทางเงินดอลลาร์ที่ทยอยแข็งค่าขึ้น รวมถึง แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง เรามองว่า มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าไปทดสอบโซน 38.00-38.50 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี (โซนดังกล่าว เป็นจุดอ่อนค่าสุดที่เราได้ประเมินไว้ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2022 จากการพิจารณา Valuation ของเงินบาทด้วย REER) อย่างไรก็ดี ในไตรมาสแรกของปีหน้า เรามองว่า เงินบาทก็สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เร็วและแรง ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่อาจมาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงตลาดเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวแถว 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีหน้าได้

แม้เราจะคงมุมมองว่า สถานการณ์สงครามอาจไม่ได้บานปลายและลุกลามจนกลายเป็นสงครามใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทว่า ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยที่ยากต่อการคาดเดา และมุมมองของเราก็อาจผิดไปได้ (ดังจะเห็นได้จากการวิเคราะห์สงครามรัสเซีย-ยูเครนของเราในปีก่อน) ทำให้เรามองว่า ตลาดการเงินยังคงมีแนวโน้มผันผวนสูง จนกว่าตลาดจะคลายกังวลความเสี่ยงสงคราม

และจากมุมมองของเราที่คงมองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นได้ ทำให้เราคงแนะนำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอย “SELL on RALLY” เงินดอลลาร์ ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลง โดยจับตาโซนแนวต้านระยะสั้นแถว 36.60 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปแถว 37.00 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่ฝั่งผู้นำเข้า หากมีความจำเป็นต้องซื้อเงินดอลลาร์ ก็อาจรอจังหวะ Buy on Dip ซึ่งมีโอกาสที่เงินบาทจะพอแข็งค่าขึ้นได้ หากราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวขึ้นต่อ หรือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น 

สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ ยังคงเป็นสิ่งที่เราแนะนำ โดยเฉพาะบอนด์ระยะยาว เนื่องจากเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวในช่วงที่ผ่านมา จนถึงระดับล่าสุด ได้ทำให้ Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวมีความน่าสนใจและคุ้มค่า ทำให้ เราคงคำแนะนำ ทยอย Buy on Dip บอนด์ระยะยาว ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งบอนด์ฝั่งสหรัฐฯ และไทย

สุดท้ายนี้ เราคาดหวังว่า เราจะคาดการณ์ผิดในทุก Scenario ที่สงครามทวีความรุนแรงมากขึ้น เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติม และเราคาดหวังว่า สันติภาพและเสรีภาพ จะเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง อย่างยั่งยืนในอนาคต

“Imagine there's no countries

It isn't hard to do

Nothing to kill or die for

And no religion, too

Imagine all the people

Livin' life in peace”

Imagine by John Lennon

 

ความคิดเห็นล่าสุด

กำลังโหลดบทความถัดไป...
การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย