เราไปดูกันครับว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ทั้งตลาดหุ้นทั่วโลก ราคาทองคำ รวมไปถึง BTC มีความผันผวนมากในช่วงนี้ โดยเราจะเริ่มต้นกับการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในเมื่อคืนนี้นะครับ
ในเมื่อคืนนี้ในเวลา 21:00 ได้มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐออกมา 2 ตัวนะครับ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ส่งผลต่อตลาดเป็นอย่างมาก
สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 11.24 ล้านตำแหน่งในเดือนก.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.3 ล้านตำแหน่ง
ทั้งนี้ อัตราการเปิดรับสมัครงานดีดตัวสู่ระดับ 6.9%
ตัวเลขการจ้างงานลดลงสู่ระดับ 6.38 ล้านตำแหน่ง ส่วนอัตราการจ้างงานทรงตัวที่ระดับ 4.2%
ตัวเลขการปลดออกจากงานลดลงสู่ระดับ 1.398 ล้านตำแหน่ง
ตัวเลขการลาออกจากงานโดยสมัครใจลดลงสู่ระดับ 4.179 ล้านราย ส่วนอัตราการลาออกจากงานโดยสมัครใจลดลง 2.7%
ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด
และอีกหนึ่งตัวเลขสำคัญที่ได้ประกาศออกมาพร้อมๆกันก็คือตัวเลขนี้ครับ
ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 103.2 ในเดือนส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 97.7 จากระดับ 95.3 ในเดือนก.ค.
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 7.0% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยต่ำกว่าระดับ 7.4% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค, ความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า, สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน
และเราไปดูกันครับว่าตลาดขานรับการประกาศตัวเลขสำคัญที่ออกมา 2 ตัวนี้อย่างไีร
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 300 จุดในวันอังคาร (30 ส.ค.) หลังสหรัฐเผยตัวเลขการเปิดรับสมัครงานสูงกว่าคาดการณ์ ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งในเหตุผลของการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,790.87 จุด ร่วงลง 308.12 จุด หรือ -0.96%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,986.16 จุด ลดลง 44.45 จุด หรือ -1.10% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,883.14 จุด ลดลง 134.53 จุด หรือ -1.12
สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 11.24 ล้านตำแหน่งในเดือนก.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.3 ล้านตำแหน่ง ส่วนอัตราการเปิดรับสมัครงานดีดตัวสู่ระดับ 6.9%
ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS เป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ราคาหุ้นปรับตัวลงทุกกลุ่ม ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่งจะผลักดันให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งจัดอยู่ในหุ้นกลุ่มเติบโต (Growth Stock) ซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ หุ้นเมตา แพลทฟอร์มส์ ร่วงลง 1.26% หุ้นแอปเปิล ดิ่งลง 1.53% หุ้นไมโครซอฟท์ ลดลง 0.85% หุ้นอัลฟาเบท ลดลง 0.44%
หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงหลังจากราคาน้ำมัน WTI ดิ่งลงกว่า 5% เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ทั้งนี้ หุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ ร่วงลง 2.57% หุ้นออคซิเดนเชียล ปิโตรเลียม ดิ่งลง 4.33% หุ้นเชฟรอน ร่วงลง 2.43% หุ้นเอ็กซอน โมบิล ดิ่งลง 3.81%
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดส่งผลให้ภาวะการซื้อขายในตลาดเป็นไปอย่างผันผวนเมื่อคืนนี้ โดยดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก พุ่งขึ้นสู่ระดับ 27.69 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 76.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 23.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%
และเราไปดูทางตลาดหุ้นยุโรปในเมื่อคืนนี้กันบ้าง
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันอังคาร (30 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นท่ามกลางวิกฤตพลังงานครั้งใหญ่ รวมถึงแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
ทั้งนี้ ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 419.81 จุด ลดลง 2.84 จุด หรือ -0.67%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,210.22 จุด ลดลง 12.06 จุด หรือ -0.19%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,961.14 จุด เพิ่มขึ้น 68.15 จุดหรือ +0.53% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,361.63 จุด ลดลง 65.68 จุด หรือ -0.88%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงมากกว่า 3% แล้วในช่วง 3 วันติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น หลังผู้กำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บ่งชี้ถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ
หุ้นกลุ่มต่าง ๆ ส่วนใหญ่ปรับตัวลงในยุโรป ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารซึ่งมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นนั้น ปรับตัวขึ้น 0.9% หลังจากเทรดเดอร์ปรับตัวรับโอกาสมากกว่า 2 ใน 3 ที่ ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมนโยบายวันที่ 8 ก.ย.
ตลาดยังคงถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับแผนการที่บริษัทก๊าซพรอมของรัสเซียจะระงับส่งออกก๊าซธรรมชาติให้กับยุโรปผ่านท่อส่งนอร์ดสตรีม 1 เป็นเวลา 3 วันตั้งแต่วันพุธนี้
หุ้นรายตัวที่ปรับตัวลงได้แก่หุ้นเอ็นจี (Engie) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของฝรั่งเศส ลดลง 0.7% หลังบริษัทก๊าซพรอมแจ้งกับเอ็นจีว่า จะลดการส่งมอบก๊าซตั้งแต่วันอังคาร (30 ส.ค.) เนื่องจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างกันได้
ส่วนหุ้นที่ปรับตัวขึ้นสวนทางตลาด อาทิ หุ้นซาโนฟี บริษัทเวชภัณฑ์ของฝรั่งเศส ปรับตัวขึ้น 1.5% หลังสำนักงานอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐได้ทำการตรวจสอบลำดับความสำคัญของยาที่ซาโนฟีพัฒนาร่วมกับบริษัทเอสโอบีไอของสวีเดน ขณะที่หุ้นเอสโอบีไอ บวก 1.2%
ตลาดหุ้นอังกฤษปิดลดลงในวันอังคาร (30 ส.ค.) โดยหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเหมืองแร่ถ่วงตลาดลงท่ามกลางความวิตกว่า การที่ธนาคารกลางต่าง ๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,361.63 จุด ลดลง 65.68 จุด หรือ -0.88% ซึ่งเป็นการร่วงลงมากที่สุดในรอบเกือบ 7 สัปดาห์
ค่าเงินปอนด์ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบมากกว่า 2 ปี เนื่องจากวิกฤตพลังงานทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหม่ในอังกฤษ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์เตือนว่า ภาวะเงินเฟ้อในอังกฤษอาจสูงเกิน 20% ในต้นปีหน้า หากราคาก๊าซยังคงพุ่งขึ้น
ผลสำรวจบ่งชี้ว่า ธุรกิจในภาคบริการของอังกฤษรายงานต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ และมีมุมมองเชิงลบในอนาคต เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มทำให้อุปสงค์ลดลงอีก
หุ้นบีพีซึ่งเป็นบริษัทน้ำมัน ร่วงลง 2% หลังราคาน้ำมันดิบดิ่งลงราว 4 ดอลลาร์/บาร์เรลจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ
หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ เกล็นคอร์ และริโอ ทินโต ร่วงลงราว 3% เนื่องจากราคาโลหะถูกกดดันจากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น
แต่หุ้นกลุ่มธนาคารที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 0.9% หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีของอังกฤษพุ่งขึ้นมากถึง 0.25% สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2551
และจากการที่ตลาดหุ้นยุโรปและตลาดหุ้นสหรัฐได้ร่วงลงในเมื่อคืนนี้ เลยส่งผลให้ BTC นั้นได้ร่วงลงตามไปด้วย โดย BTC นั้นได้ลงไปถึงระดับ 19,500$ เลยทีเดียวในเมื่อคืนนี้
และอีกหนึ่งปัจจัยที่ได้กดดันทั้งตลาดหุ้น ทองคำ และ BTC ให้พร้อมใจกันร่วงลงในเมื่อคืนนี้ ก็คือการออกมากล่าวของนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กในเวลา 22:00 เมื่อคืนนี้ครับ
นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าววอลล์สตรีท เจอร์นัลในวันอังคาร (30 ส.ค.) โดยเขาสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม เพื่อสกัดเงินเฟ้อ พร้อมชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจำเป็นต้องเคลื่อนไหวเหนือระดับ 3.5% ไปจนถึงสิ้นปี 2566
"ผมเล็งเห็นว่าเฟดจำเป็นต้องยึดมั่นต่อจุดยืนเชิงนโยบาย ซึ่งก็คือการฉุดเงินเฟ้อลง รวมถึงทำให้อุปสงค์และอุปทานมีความสมดุลกัน โดยคาดว่าต้องใช้ระยะเวลายาวนานขึ้นและอาจต้องดำเนินต่อไปตลอดทั้งปีและหน้านี้ เมื่ออิงจากข้อมูลเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ ผมมองว่าต้องใช้เวลาสักระยะจึงสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้" นายวิลเลียมส์กล่าว
ปัจจุบัน นายวิลเลียมส์ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของเฟด และมีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเขาเปิดเผยว่า การตัดสินใจว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมเดือนก.ย. หรือปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% นั้นจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนส.ค.ในวันศุกร์นี้ และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่มีกำหนดเผยแพร่ก่อนถึงการประชุมเฟดในวันที่ 20 - 21 ก.ย. เพียงไม่กี่วัน
ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เฟดได้เริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งกลายมาเป็นวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ศตวรรษ 1980 และนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้ส่งสัญญาณในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เฟดพร้อมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับสูงเท่าที่ความจำเป็น เพื่อจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันเคลื่อนไหวสูงเหนือเป้าหมาย 2% ของเฟดกว่า 3 เท่าตัว
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคาร (30 ส.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากความกังวลที่ว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 13.4 ดอลลาร์ หรือ 0.77% ปิดที่ 1,736.3 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 38.3 เซนต์ หรือ 2.05% ปิดที่ 18.287 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 22.2 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 832.1 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 42.50 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 2,087.80 ดอลลาร์/ออนซ์
ทั้งนี้ นักลงทุนกังวลว่าข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐอาจทำให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 76.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 23.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%
และปัจจัยอะไรที่ทำให้ทั้งตลาดหุ้น ทองคำ และ BTC มีการฟื้นตัวขึ้นได้ในเมื่อเช้านี้
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนส.ค.ขยับขึ้นแตะระดับ 49.4 จากระดับ 49 ในเดือนก.ค. และดีกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่าจะอยู่ที่ 49.2
จากดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ออกมาดีกว่าคาด และออกมาดีกว่าตัวเลขในครั้งก่อนนี้เอง ที่ได้ทำให้ตลาดหุ้นจีนได้พุ่งขึ้นในช่วงเช้าที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีข่าวนี้ออกมาหนุนตลาดหุ้นจีนด้วยครับ ซึ่งเป็นข่าวที่ได้ออกมาตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว
กระทรวงการคลังจีนเปิดเผยในวันนี้ว่า จีนจะใช้มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ รวมทั้งสร้างเสถียรภาพด้านเงินเฟ้อและการจ้างงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ
การให้คำมั่นดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่คณะรัฐมนตรีจีนเพิ่งประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดสรรเงินทุนให้กับธนาคารนโยบายของรัฐ (State Policy Banks)
"จีนจะใช้พันธบัตรพิเศษของรัฐบาลท้องถิ่นเป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และสนับสนุนการใช้เครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ธนาคารนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้" กระทรวงการคลังจีนระบุในแถลงการณ์บนเว็บไซต์
กระทรวงการคลังจีนยังระบุด้วยว่า รายได้ด้านการคลังของจีนปรับตัวขึ้นในเดือนมิ.ย. เนื่องจากจีนผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมโรคโควิด-19 โดยใน 25 จังหวัดของจีนมีรายได้เพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย. หลังจากรายได้ชะลอตัวลงในเดือนเม.ย.และพ.ค.เนื่องจากการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านหยวน (1.46 แสนล้านดอลลาร์) โดยมีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งลดผลกระทบจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 และการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งคณะรัฐมนตรีจีนออกแถลงการณ์ล่าสุดครอบคลุมถึงการจัดสรรเงินทุนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ให้กับธนาคารนโยบายของรัฐ เพื่อให้ธนาคารเหล่านี้นำเงินไปลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดสรรเงินให้กับรัฐบาลท้องถิ่นมูลค่ารวม 5 แสนล้านหยวนเพื่อใช้ในการออกพันธบัตรพิเศษ
ทั้งนี้ การที่จีนยังคงใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นเวลานานนับปีนั้น ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง และอาจทำให้รัฐบาลจีนพลาดเป้าหมายการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต 5.5% ในปีนี้
และจากการที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนออกมาดีกว่าคาดในช่วงเช้าที่ผ่านมานี้เอง ทำให้ตลาดหุ้นจีนได้พุ่งขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงเช้าที่ผ่านมา ในขณะที่สกุลเงินหยวน CNY ได้มีการแข็งค่าขึ้นอย่างมากเช่นกัน และส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย AUD มีการพุ่งขึ้นตามไปด้วย
คู่สกุลเงิน AUDUSD AUDJPY AUDCHF ได้มีการพุ่งขึ้นทั้งหมด
และส่งผลให้ราคาทองคำมีการฟื้นตัวขึ้นได้เล็กน้อยในช่วงเช้าที่ผ่านมาเช่นกัน
และจากการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นจีนได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นยุโรปมีการฟื้นตัวขึ้นในช่วงเช้าเช่นเดียวกัน รวมทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฟิวเจอร์สได้มีการฟื้นตัวขึ้นด้วย เนื่องจากทั้งยุโรปและสหรัฐต่างก็เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ไปยังประเทศจีน จึงทำให้ตลาดหุ้นทั้งสองได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนตามไปด้วย
และการฟื้นตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปฟิวเจอร์สและตลาดหุ้นสหรัฐฟิวเจอร์สในช่วงเช้านี้เอง ที่ได้ส่งผลให้ BTC มีการฟื้นตัวขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว อันเนื่องมาจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาด รวมทั้งมาตรการปันส่วนการใช้พลังงานในช่วงเวลาที่จีนเผชิญคลื่นความร้อนรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี และการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์
ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเดือนส.ค.ของจีนปรับตัวลงสู่ระดับ 52.6 จากระดับ 53.8 ในเดือนก.ค.
ดังนั้น การฟื้นตัวของตลาดหุ้นในวันนี้ และการฟื้นตัวขึ้นของ BTC ในวันนี้ จะเป็นแค่การฟื้นตัวขึ้นในระยะสั้นๆเท่านั้นนะครับ และทั้งตลาดหุ้น ทองคำ และ BTC อาจมีการปรับฐานครั้งใหญ่อีกครั้งในเดือนกันยายนนี้ จากปัจจัยการทำ QT หรือการดึงสภาพคล่องออกจากตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของเฟดนับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป และความเป็นไปได้ที่สูงขึ้นเรื่อยๆที่เฟดจะทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 0.75% ในการประชุมที่กำลังจะมาถึงในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดเป็นอย่างมาก!!!