เรามาสรุปภาพรวมของตลาดหุ้นทั่วโลกในวันนี้กันก่อนครับ ว่าทำไมตลาดหุ้นทั่วโลกถึงได้ร่วงลง ยกเว้นตลาดหุ้นจีนที่ได้พุ่งขึ้นสวนทางตลาดโลก
ตลาดหุ้นเอเชียปิดร่วงลงในวันนี้ โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลง หลังถูกกดดันจากแรงเทขายหุ้นเทคโนโลยี และนักลงทุนวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้าเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ตลาดหุ้นจีนพลิกจากการเปิดในแดนลบสู่การพุ่งขึ้นในช่วงเช้าที่ผ่านมา ก่อนจะปิดบวกในวันนี้
ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดลบในวันนี้ โดยตลาดถูกกดดันจากความวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า อย่างไรก็ดี ตลาดปรับตัวลงไม่มากนักโดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่แข็งแกร่ง
ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 28,794.50 จุด ลดลง 135.83 จุด หรือ -0.47%
ดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลียปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ในวันนี้ โดยหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ดิ่งลงหนักที่สุด หลังจากราคาทองคำและแร่เหล็กปรับตัวลดลง
ดัชนี S&P/ASX 200 ปิดที่ 7,046.90 จุด ลดลง 67.60 จุด หรือ -0.95% และดัชนี All Ordinaries ปิดที่ 7,287.20 จุด ลดลง 71.50 จุด หรือ -0.97%
ดัชนีหุ้นกลุ่มทองคำร่วงลง 3% เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ
ดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดตลาดในแดนลบเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันในวันนี้ โดยปรับตัวลงกว่า 1% เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และเศรษฐกิจโลกถดถอย
ดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (KOSPI) ปิดวันนี้ที่ 2,462.50 จุด ลดลง 30.19 จุด หรือ -1.21%
ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวกในวันนี้ หลังจากธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี และ 5 ปี เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,277.79 จุด เพิ่มขึ้น 19.72 จุด หรือ 0.61%
ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีลง 0.05% แตะที่ 3.65% จากระดับ 3.7% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีลง 0.15% สู่ระดับ 4.30% จากระดับ 4.45% ในวันนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว หลังจากเศรษฐกิจภายในประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีของจีนเป็นดัชนีวัดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคเอกชน ส่วนอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีเป็นดัชนีวัดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของภาคครัวเรือน ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเพื่อการกู้จำนอง
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีลง 0.10% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย LRP ประเภท 5 ปีลงมากกว่า 0.10% ในวันนี้
การปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ในวันนี้ มีขึ้นหลังจากธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีน ลง 0.10% สู่ระดับ 2.75% เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา
และการลดอัตราดอกเบี้ย LPR ของทางธนาคารกลางจีนนี้เองที่ได้ทำให้สกุลเงินหยวน CNY ของจีนได้อ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 2 ปี และการอ่อนค่าของสกุลเงินหยวน CNY ของจีนนี้เองที่ได้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ได้ทำให้ราคาทองคำได้ร่วงลงในวันนี้
ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดลดลงในวันนี้ อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า
ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดที่ระดับ 19,656.98 จุด ลดลง 116.05 จุด หรือ -0.59%
ทั้งนี้ นักลงทุนกังวลว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับภาวะถดถอย
และเราไปดูทางด้านตลาดหุ้นยุโรปกันบ้าง
ตลาดหุ้นยุโรปเปิดตลาดลบในวันนี้ โดยตลาดหุ้นขนาดใหญ่ในยุโรปต่างเคลื่อนตัวเข้าสู่แดนลบ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสัญญาณเชิงรุกจากเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ดัชนี STOXX 600 เปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 437.08 จุด ลดลง 0.28 จุด หรือ -0.06%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีเปิดวันนี้ที่ 13,471.44 จุด ลดลง 73.08 จุด หรือ -0.54% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสเปิดวันนี้ที่ 6,448.81 จุด ลดลง 47.02 จุด หรือ -0.72%
ราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นยังคงกดดันตลาดหุ้นยุโรปและสกุลเงินยูโร EUR อย่างต่อเนื่อง และปัญหามีแนวโน้มย่ำแย่ลง เพราะฤดูหนาวใกล้มาเยือนในไม่ช้า โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีภารกิจสำคัญในการลดแรงกดดันเงินเฟ้อท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา
ราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) ของเอเชียปรับตัวขึ้นเพิ่มเติม หลังมีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นว่า การที่รัสเซียประกาศซ่อมบำรุงท่อขนส่งก๊าซไปยังยุโรปนั้น จะทำให้อุปทานโลกตึงตัวมากยิ่งขึ้น
ก๊าซพรอมประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า บริษัทจะระงับการจัดส่งก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อนอร์ดสตรีมเป็นเวลา 3 วัน เพื่อซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.-2 ก.ย. ส่งผลให้ราคาอ้างอิงของยุโรปพุ่งแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่เทรดเดอร์ก๊าซธรรมชาติในเอเชียแสดงความวิตกกังวลว่า ก๊าซพรอมอาจจะไม่กลับมาให้บริการตามกำหนด ซึ่งจะทำให้อุปทานในตลาดโลกตึงตัวมากขึ้น หลังรัสเซียปรับลดการจัดส่งก๊าซให้ยุโรปอย่างมาก โดยยุโรปเป็นลูกค้าก๊าซรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย
ก๊าซพรอมระบุว่า บริษัทจะกลับมาจัดส่งก๊าซผ่านท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมใต้ทะเลบอลติกให้กับเยอรมนีอีกครั้งที่ระดับปัจุบัน หรือประมาณ 20% ของศักยภาพการจัดส่ง
ตลาดหุ้นเยอรมนีได้ร่วงลงเช่นเดียวกันจากการที่นายโยอาคิม นาเกล ประธานธนาคารกลางเยอรมนีให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์เยอรมนีว่า ธนาคารกลางยุโรปต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป แม้เยอรมนีเสี่ยงเผชิญเศรษฐกิจถดถอยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเงินเฟ้อจะเคลื่อนไหวในระดับสูงเกินไปตลอดปี 2566
ขณะนี้นักลงทุนต่างจับตาการประชุมนโยบายครั้งล่าสุดของ ECB ในสัปดาห์นี้ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในเชิงรุก ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ขั้นต้นของยูโรโซนมีกำหนดเผยแพร่ในวันพรุ่งนี้ (23 ส.ค.)
และจากการที่ตลาดหุ้นยุโรปและตลาดหุ้นเยอรมนีได้ร่วงลงในวันนี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สกุลเงินยูโรร่วงลงอยากหนัก
สกุลเงินยูโรหลุดระดับ 1 ยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสั้นๆในวันนี้ (22 ส.ค.) โดยอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่าน ๆ มา และแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ โดยได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลว่าการระงับจัดส่งก๊าซให้ยุโรปเป็นเวลา 3 วันเพื่อซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.ของรัสเซียจะทำให้วิกฤตพลังงานย่ำแย่ลงไปอีก
ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ค่าเงินยูโรร่วงแตะระดับ 0.99945 ยูโรต่อดอลลาร์ในช่วงสั้นๆซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. และล่าสุดอ่อนค่าลง 0.2691% เทียบดอลลาร์
เช่นเดียวกับสกุลเงินปอนด์ GBP ที่ได้ร่วงลงจากการที่ตลาดหุ้นอังกฤษได้ร่วงลงเช่นเดียวกัน
และจากการร่วงลงของสกุลเงินหยวน CNY สกุลเงินยูโร EUR และสกุลเงินปอนด์ GBP ที่ได้ทำให้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ DXY ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินดอลลาร์สหรัฐกับสกุลเงินอื่นๆในตะกร้าสกุลเงินสำคัญ แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์นั่นเอง โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐได้กลับขึ้นมายืนเหนือระดับ 108 จุดอีกครั้ง และได้กดดันราคาทองคำให้ร่วงลงอย่างหนักในวันนี้นั่นเอง
และสุดท้ายเราไปดูทางด้านของตลาดหุ้นสหรัฐฟิวเจอร์สกันครับ
ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ได้ร่วงลงในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือน ก.ย.นี้
นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือน ก.ย.
ล่าสุด ตัวเลขคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% และ 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือน ก.ย.เริ่มเข้าใกล้ 50-50 หลังจากที่ก่อนหน้านี้นักลงทุนเทน้ำหนักว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50%
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ในขณะนี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 53.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 2.75-3.00% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 46.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
ก่อนหน้านี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 68.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 31.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือน ก.ย. ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือน มิ.ย.และ ก.ค.
นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือน ก.ย. เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่ง
"ผมมองไม่เห็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราต้องชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเป็นปีหน้า โดยเฟดควรปรับเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับ 3.75-4.00% ภายในสิ้นปีนี้" นายบูลลาร์ดกล่าว
คำกล่าวของนายบูลลาร์ดสอดคล้องกับถ้อยแถลงของนางแมรี ดาลี ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก ซึ่งสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมเดือน ก.ย.
ทั้งนี้ นายบูลลาร์ดเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย ขณะที่เฟดเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยเขาเชื่อมั่นว่าคณะกรรมการเฟดชุดปัจจุบันจะไม่นำพาเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นที่เคยเกิดขึ้นในสมัยที่นายพอล วอล์คเกอร์ ดำรงตำแหน่งประธานเฟดในช่วงต้นทศวรรษ 1980
ส่วนนายโธมัส บาร์คิน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ระบุในวันศุกร์ที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า เฟดจะเดินหน้าปรับลดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%
"เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น เนื่องจากยังไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้" นายโรดริโก คาทริล นักกลยุทธ์เงินตราของธนาคารเนชันแนล ออสเตรเลีย แบงก์กล่าวในวันนี้
นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 25-27 ส.ค. โดยคาดว่าเฟดจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งการปรับลดขนาดงบดุล (QT) ของเฟด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ
สำหรับหัวข้อในการประชุมประจำปีนี้คือ "Reassessing Constraints on the Economy and Policy" โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด จะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในวันศุกร์ที่ 26 ส.ค.เวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 21.00 น.ตามเวลาไทย
เบน เอมอนส์ กรรมการผู้จัดการจากบริษัทเมดลีย์ โกลบอล แอดไวเซอร์กล่าวว่า "นายพาวเวลจะใช้เวทีแจ็กสัน โฮลปีนี้เป็นโอกาสในการส่งสัญญาณถึงตลาด อย่างน้อยก็เพื่อเน้นย้ำว่า เฟดยังคงอยู่ในภารกิจการฉุดเงินเฟ้อให้ลดต่ำลงอย่างเป็นรูปธรรม"
เอมอนส์ยังกล่าวด้วยว่า เขาไม่คาดว่าเฟดจะล้มเลิกความตั้งใจในการปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบเชิงรุก โดยแม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ชะลอตัวลงในเดือน ก.ค. แต่เอมอนส์เชื่อว่า ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าภารกิจการสกัดเงินเฟ้อของเฟดได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และเขาเชื่อว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ยังคงอยู่บนโต๊ะการอภิปรายของกรรมการเฟด
ทั้งนี้ นักลงทุนมีความกังวลกันว่าการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 0.9% ในไตรมาส 2 หลังหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 ซึ่งการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค
ล่าสุดราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายๆตัวปรับตัวขึ้นมาอีกครั้ง อาทิ ก๊าซธรรมชาติ ข้าวโพด รวมไปถึงดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์จาก Bloomberg ก็เริ่มปรับตัวขึ้นมาสะท้อนถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังไม่หายไป เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวกำลังอยู่ในการจับตาของเฟด ดังนั้นหากที่ประชุม Jackson Hole เริ่มเปิดเผยถึงแนวโน้มดอกเบี้ยที่อาจมากกว่า 0.5% ในการประชุมเดือน ก.ย. จะเป็นปัจจัยกลับมากดดันตลาดหุ้นโลก
ในขณะเดียวกันตลาดยังขานรับปัจจัยลบจากความกังวลการปรับลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะเพิ่มวงเงินขึ้นในเดือน ก.ย.65 อาจไปสู่ระดับ 9.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากระดับเดิมที่ 4.75 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนการคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% หรือ 0.50% ในการประชุมเฟดวันที่ 20-21 ก.ย.นั้นตลาดรับรู้ไปและ Price in ไปมากแล้ว แต่สภาพคล่องที่กำลังจะถูกดึงออกจากระบบมากขึ้นเป็น 2 เท่านับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไปจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก ซึ่งจะต้องติดตามท่าทีของประธานเฟดในการประชุมรอบ Jackson Hole ว่าจะส่งสัญญาณกับสองประเด็นดังกล่าวอย่างไร
และนี่ก็คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ USD ได้แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกดดันราคาทองคำอย่างหนักในวันนี้
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบประมาณหนึ่งเดือนบริเวณกรอบล่าง 137 เยนที่ตลาดโตเกียว
ส่วนสกุลเงินยูโรหลุดระดับ 1 ยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสั้นๆในวันนี้ (22 ส.ค.) โดยอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่าน ๆ มา และแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์
ค่าเงินยูโรร่วงแตะระดับ 0.99945 ยูโรต่อดอลลาร์ในช่วงสั้นๆ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. และล่าสุดอ่อนค่าลง 0.2691% เทียบดอลลาร์
ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินดอลลาร์กับสกุลเงินอื่น ๆ ในตะกร้าสกุลเงินสำคัญ แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์ หลังเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เน้นย้ำจุดยืนการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปก่อนถึงการประชุมของเฟดที่เมืองแจ็กสันโฮลในสัปดาห์นี้
และการร่วงลงของตลาดหุ้นทั่วโลกอีกครั้งในวันนี้จึงได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ได้กดดัน BTC ให้ร่วงลงหลุดระดับ 21,000$ อีกครั้งนั่นเอง!!!