ข้อมูลอัปเดตล่าสุด ที่วัดจากจุดสูงสุดของเดือนที่แล้วจนถึงราคาปัจจุบัน ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักของโลก หลังจากการร่วงลงอย่างหนักเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมามีดังนี้:
- S&P 500 ปรับตัวลดลง 22.3%
- NASDAQ Composite ปรับตัวลดลง 33.4%
- Euro Stoxx 50 ปรับตัวลดลง 20.7%
- Shanghai Composite ปรับตัวลดลง 13.3%
- FTSE MIB ปรับตัวลดลง 22.4%
ต้องขอแสดงความเสียใจกับความสูญเสียที่นักลงทุนทั่วโลกทุกท่านต้องเผชิญ แต่เราก็จำเป็นต้องตระหนักและยอมรับความจริงในตอนนี้กันแล้วว่า “ตลาดลงทุนได้เข้าสู่สภาวะตลาดหมีอย่างเป็นทางการ” แล้ว
สิ่งแรกที่นักวิเคราะห์ทำหลังจากเห็นขาลงมหาโหดเมื่อวันจันทร์ ที่ถูกขนานนามว่า “Black Monday” คือการย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับสถานการณ์ขาลงที่รุนแรงในอดีต ที่ใกล้ที่สุดคือแนวโน้มขาลงของดัชนีเอสแอนด์พี 500 ในปี 2008 ที่ปรับตัวลดลงมากถึง 58% หรืออีกสองเท่าของขาลงในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางกลุ่มมองว่าสถานการณ์ในตอนนี้กับปี 2008 นั้นไม่เหมือนกัน และแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในปี 2008 ขาลงของตลาดหุ้นเกิดจากระบบการเงินมีความเสี่ยงที่จะพังลงมา แต่ตอนนี้ ปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามารุมเร้าตลาดลงทุนกำลังบอกว่ามีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
รูปกราฟด้านล่างนี้คือการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันในเชิงลึก กราฟนี้แสดงให้เห็นช่วงเวลาของแนวโน้มขาลงในปี 2001 (เส้นสีส้ม) และขาลงในปี 2008 (เส้นสีน้ำเงิน) ขาลงในแต่ละเฟสถูกตั้งชื่อเอาไว้ดังนี้
เฟสที่ 1: การปรับฐานครั้งแรก (สำคัญแต่กินเวลาไม่นาน)
เฟสที่ 2: การรีบาวด์ทางเทคนิค
เฟสที่ 3: บทสรุปและขาลงครั้งสุดท้าย
(หมายเหตุ: เส้นสีดำของปี 2022 นั้นอัปเดตครั้งล่าสุดในเดือนเมษายน และตอนนี้กราฟนั้นก็วิ่งอยู่ใกล้ๆ กับกรอบเวลาของเฟสที่ 1)
อ้างอิง: Lance Roberts
อย่างที่เราเห็นในสองช่วงเวลาที่ถูกไฮไลท์ไว้ แม้ว่าลักษณะการฟอร์มตัวเป็นขาลงจะคล้ายๆ กัน แต่ก็มีความแตกต่างในแง่ของความรุนแรงของขาลง และระยะเวลาที่ใช้ในการทำขาลงแต่ละครั้ง
ถ้าหากพิจารณาก่อนที่จะปรับตัวลงของช่วงปี 2000 2008 และปัจจุบันจะเห็นว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่คล้ายกันมาก สิ่งหนึ่งที่สามารถสังเกตได้คือตลาดพันธบัตรที่กำลังปรับตัวลดลงมากกว่าปกติ ทั้งๆ ที่ในเวลาเช่นนี้พันธบัตรรัฐบาลมักจะถูกพิจารณาว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ที่แม้จะปรับตัวลดลง แต่ก็มีกรอบจำกัด
แต่ในทุกๆ ครั้งที่เกิดสภาวะตลาดหมี เราพบว่าการถือครองพันธบัตรนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในรุ่น 6-7 ปี ยิ่งระยะเวลาการถือครองยาวเท่าไหร่ ก็ยิ่งปรับตัวลดลงมากเท่านั้น
อ้างอิง: Charlie Bilello
แล้วนักลงทุนควรทำตัวอย่างไรในสภาวะตลาดหมี?
ความจริงเรื่องที่ผมจะพูดก็ไม่ใช่คำแนะนำอะไรใหม่ นี่อาจจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงครั้งหนึ่งในรอบหลายทศวรรษ และนักลงทุนยุคใหม่ที่เสพย์ติดความรวดเร็วในการทำกำไรก็อาจจะได้เรียนรู้ที่จะอยู่นิ่งๆ และมองภาพไกลๆ นี่คือสถานการณ์ที่นักลงทุนจะต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเป็นการลงทุนในระยะยาว เป็นเวลาที่จะได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม สิ่งที่ควรพิจารณาและลงมือทำในช่วงตลาดหมีมีดังนี้
- วางแผนการเก็บสะสมสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต
- กระจายพอร์ตการลงทุน
- วางกลยุทธ์การลงทุนสำหรับขาขึ้นรอบใหม่
- สร้างระบบการจัดการเงินที่ดี
- วางกรอบระยะเวลาที่เป็นรูปธรรม
- ปรับสมดุลพอร์ตลงทุน
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือแนวทางและส่วนประกอบสำคัญในการสร้างพอร์ตการลงทุนที่ใช้ได้มาทุกยุคทุกสมัย ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของผม ผมได้เก็บเงินสดที่ได้จากขาขึ้นในปีที่แล้วเอาไว้ 20% และทยอยเข้าทุกๆ 6-7% ที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมา ปัจจุบันพอร์ตการลงทุนของผมเป็นหุ้น 50% ซึ่งผมเชื่อว่าในระยะยาวยังไงก็ต้องปรับตัวขึ้น ผมจึงใช้โอกาสจากตลาดขาลงในตอนนี้ให้เป็นประโยชน์
และถ้าดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลงรวมแล้วประมาณ 40% (ซึ่งหมายความว่าแนสแดกจะต้องร่วงลงอย่างน้อย 50%) ผมก็จะนำเงินทุนสำหรับลงทุนของผมใส่พอร์ตเข้าไปให้หมด คำถามสำคัญคือ แล้วถ้าตลาดยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จะทำยังไง?
ในกรณีนั้น ผมก็จะปรับพอร์ตการลงทุนของผมใหม่ ให้ความสำคัญไปกับแผนการเก็บหุ้นสะสมมากขึ้น และอาจจะปรับกรอบเวลาการทำกำไรของผมขึ้นเป็นอีก 8 ปีนับจากนี้ คำว่าปรับพอร์ตการลงทุนของผม นอกจากจะเป็นเรื่องของตัวเงินแล้ว ยังเป็นเรื่องของระยะเวลาอีกด้วย
ผมแค่ยกตัวอย่างแผนการลงทุนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผมขึ้นมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น คุณอาจจะไม่เห็นด้วยและอยากจะลงทุนในแบบที่คุณถนัดมากกว่า ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่มีแผนการลงทุนใดที่ประสบความสำเร็จแบบตายตัว คุณต้องมีกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง และที่สำคัญ คุณต้องเชื่อมั่นในกลยุทธ์นั้นด้วย หลังจากนั้นก็ลงทุนตามแผนของคุณไป ในช่วงเวลาขาลงเช่นนี้ถือเป็นช่วงทดสอบระบบ และความแข็งแข็งทางจิตใจของนักลงทุนได้ดีที่สุด
ผมจะปิดบทความนี้ด้วยคำถามทิ้งท้ายให้คุณได้ลองกลับไปถามตัวเอง…ทุกวันนี้คุณกำลังทำอะไรอยู่?
ก.) ขายสินทรัพย์การลงทุนทิ้งทุกอย่าง
ข.) ไล่ซื้อหุ้น หรือสินทรัพย์ทุกอย่างที่คุณเคยอยากได้ตอนตลาดขาขึ้น
ค.) ไม่ทำอะไรเลย