ในขณะที่นักลงทุนและเหล่าบรรดาผู้มีสิทธิ์วางนโยบายการเงินกำลังเฟ้อรอการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้อย่่างใจเย็น แต่ราคาน้ำมันดิบขอล่วงหน้าปรับตัวขึ้นไปก่อน สร้างจุดสูงสุดในรอบหลายเดือน เหตุผลสนับสนุนขาขึ้นของราคาน้ำมันในครั้งนี้หลักๆ มาจากการที่สหภาพยุโรปมีมติแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียทางทะเลเพิ่มเติม การยกเลิกมาตรการคุมเข้มโควิดในจีน ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีเกินคาด และการขึ้นราคาขายน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบีย
นับตั้งแต่เงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่โตยิ่งกว่าโควิด การรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในแต่ละเดือนของสหรัฐฯ กลายเป็นจุดสนใจของตลาดลงทุนมากกว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในสัปดาห์ที่แล้วเสียอีก ในเดือนเมษายนตัวเลข CPI YoY นั้นออกมาอยู่ที่ 8.3% ลดลงจากเดือนก่อนหน้านั้น 8.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบสี่สิบปี
แต่ถึงจะลดลงมา ก็ยังมากกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินเอาไว้ที่ 8.1% อยู่ดี นั่นจึงเป็นเหตุผลที่การรายงานตัวเลข CPI ในวันศุกร์นี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะตลาดลงทุนจะได้ทราบว่าที่ตัวเลขลดลงมาก่อนหน้านี้เป็นเพราะผ่านจุดสูงสุดของเงินเฟ้อไปแล้วจริงๆ หรือเป็นแค่การปรับตัวลดลงจากปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น สำหรับตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค ประจำเดือนพฤษภาคม ที่จะประกาศในวันศุกร์ นักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่าตัวเลขที่ออกมาอาจจะอยู่ที่ 8.2% YoY
ไม่ว่าตัวเลขจะออกมาเป็นเช่นไร แต่ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อได้นำหน้าไปก่อนแล้ว ด้วยราคาน้ำมันดิบ WTI ที่สามารถขึ้นแตะ $120 ต่อบาร์เรลได้ ซึ่งเป็นจุดที่เคยขึ้นมาทดสอบในช่วงต้นเดือนมีนาคม ในช่วงเวลา 2:15 PM ตามเวลาท้องถิ่นสิงคโปร์วันนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่จะส่งมอบในเดือนสิงหาคม ได้ปรับตัวขึ้น 0.6% มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $120.44 ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้น 0.6% เช่นกัน มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $119.53 ต่อบาร์เรล ตั้งแต่ต้นปี 2022 มาจนถึงปัจจุบัน เบรนท์ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 52% ในขณะที่ WTI ปรับตัวขึ้นมา 57%
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา บริษัทซาอุดิอารัมโก (TADAWUL:2222) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบียได้ปรับเพิ่มราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (OSP) ที่จะส่งไปขายยังฝั่งเอเชียขึ้นเป็น $6.50 พรีเมียม เทียบกับค่าเฉลี่ย $4.40 พรีเมียม สงครามคว่ำบาตรระหว่างตะวันตกกับรัสเซียมีส่วนทำให้ราคา OSP ขึ้นมาทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม การประกาศครั้งนี้สร้างความกังวลมากจนไม่มีใครสนใจการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในเดือนสิงหาคมของกลุ่ม OPEC+ เป็น 648,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากกว่า 50% ของปริมาณที่เคยวางแผนเอาไว้ก่อนหน้านี้
ประเทศอีรักกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในเดือนกรกฎาคมขึ้นเป็น 4.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน Avtar Sandu ผู้จัดการการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ของ Phillip Futures ในสิงคโปร์ให้ความเห็นต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การเปลี่ยนนโยบายการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ ตอนนี้ไม่มีคำไหนเหมาะสมไปมากกว่าคำว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก” อีกแล้ว
“ความต้องการท่องเที่ยวด้วยรถยนต์ในช่วงฤดูร้อน การจ้างงานที่กลับมาเพิ่มขึ้น และสถานการณ์โควิดในจีนที่คลี่คลายลงคือสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันตอนนี้ปรับตัวสูงขึ้น ถ้าจะหาปัจจัยอะไรมาสนับสนุนเหตุผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลง ก็คงมีแค่เรื่องที่บริษัท Eni (BIT:ENI) ของอิตาลี และ (BME:REP) ของสเปนสามารถส่งน้ำมันจากเวเนซูเอลาไปยังอยู่โรปได้ในเดือนหน้า แต่สาเหตุที่ข่าวนี้ไม่ได้รับความสนใจจากตลาดเลยเป็นเพราะปริมาณที่ส่งไปให้นั้นก็ยังไม่มากพอที่จะชดเชยน้ำมันที่หายไปจากรัสเซีย”
Jeffrey Halley ผู้ดูแลการวิจัยตลาดลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของโบรกเกอร์ OANDA ให้ความเห็นว่า
“ไม่ว่ายุโรปจะพยายามแก้ปัญหาด้วยการหาแหล่งน้ำมันใหม่เช่นไร ตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ขึ้นถึงจุดเดียวกันกับช่วงเริ่มต้นสงครามรัสเซียยูเครนใหม่ๆ แล้ว การหันไปพึ่งพาน้ำมันจากเวเนซูเอลาหรือลิเบียนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ไม่เพียงพอที่จะกดราคาน้ำมันลงมาได้ ต้นทุนการกลั่นน้ำมันทั่วโลกที่แพงขึ้น แสดงให้เห็นถึงความต้องการน้ำมันทั่วโลก”
จากการวิเคราะห์ราคาน้ำมันทางเทคนิคโดย Sunil Kumar Dixit หัวหน้านักวิเคราะห์ทางเทคนิคของ skcharting.com เขาให้ความเห็นว่า
“นับเป็นเดือนที่เจ็ดแล้วที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ขาขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วกำลังสร้างรากฐานของขาขึ้นระลอกถัดไป ที่มีโอกาสขึ้นไปทดสอบระดับราคา $123 $124.50 และ $127 ก่อนที่จะขึ้นทดสอบจุดสูงสุดใหม่ที่ $130 ต่อบาร์เรล แม้แต่อินดิเคเตอร์อย่าง Stochastic และ RSI ก็ยังชี้ให้เห็นว่ามีโอกาสปรับตัวขึ้น แนวรับของราคาน้ำมันในตอนนี้มีอยู่ที่ $115, $111 และ $100 ต่อบาร์เรลตามลำดับ”
ทางด้านของราคาทองคำล่วงหน้าที่จะส่งมอบในเดือนมิถุนายนวันนี้ยังคงวิ่งอยู่กรอบเช่นเคย ไม่ยอมปรับตัวขึ้นสูงกว่า $1,860 และไม่ยอมลงไปวิ่งต่ำกว่า $1,850 เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ราคาทองคำงวดส่งมอบเดือนมิถุนายนปรับตัวขึ้น 0.4% มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $1,856.75 แต่ตลอดทั้งสัปดาห์ที่แล้ว ราคาทองคำได้ปรับตัวลดลง 1.1% หายไป $21.20 นักวิเคราะห์เชื่อว่าตอนนี้นักลงทุนทองคำกำลังรอตัดสินใจหลังการประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 15 มิถุนายนนี้
“ตอนนี้ราคาทองคำกำลังยืนอยู่หน้าทางแยก ทางแยกที่จะต้องเลือกระหว่างจะลงไปยัง $1,800 หรือจะกลับขึ้นไปยัง $1,900 เราเชื่อว่าราคาจะผันผวนเช่นนี้ต่อไปจนถึงการประชุมอัตราดอกเบี้ยของเฟดในเดือนนี้ การพักฐานทรงตัวอยู่เหนือ $1,850 มีโอกาสพาราคาให้ขึ้นไปทดสอบ $1,874 ได้ หากเป็นเช่นนั้นก็มีโอกาสขยับขึ้นทดสอบ $1,893 และ $1,903” - Sunil วิเคราะห์
“แต่ถ้าหากหลุดลงต่ำกว่า $1,850 เมื่อไหร่” เขากล่าวปิดท้าย “มีโอกาสที่ราคาทองคำจะมุ่งหน้าลงไปยัง $1,835, $1,828 และถ้าถึงจุดนั้น เตรียมเห็นราคาทองคำลงทดสอบ $1,815 และ $1,800 ได้เลย”