สถานการณ์ล่าสุดของราคาน้ำมันดิบในตอนนี้ดูเหมือนว่ากำลังอยู่บนเส้นทางการมุ่งหน้าสู่จุดสูงสุดในเดือนมีนาคม หรือในช่วงที่การรุกรานยูเครนพึ่งจะเกิดขึ้นใหม่ๆ สาเหตุที่ราคาน้ำมันดิบสามารถปรับตัวขึ้นไปได้เพราะสหภาพยุโรปได้มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการห้ามนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ในขณะเดียวกัน จีนก็ได้คลายล็อกดาวน์ ที่กินเวลานานกว่าสองเดือน ทำให้ท่าเรือของเซี่ยงไฮ้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
สถานการณ์ของสินทรัพย์สำรองปลอดภัยอันดับหนึ่งอย่างราคาทองคำในสัปดาห์นี้อาจทำเพียงทรงตัวอยู่กรอบราคาระหว่าง $1,850 - $1,830 เพราะดัชนีดอลลาร์สหรัฐพยายามสู้จนสามารถกลับขึ้นมายืนเหนือ 100 จุดได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่กลับมาเป็นบวกได้ครั้งแรกในรอบสี่สัปดาห์ล่าสุด
หลังจากการสู้ไปเจรจาไประหว่างสหภาพยุโรปและรัสเซีย ในที่สุด EU ก็ได้ข้อสรุปว่าจะลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียลง 90% ให้ได้ภายในสิ้นปี 2022 สร้างความกังวลให้กับตลาดว่ายุโรปจะมีพลังงานใช้ภายในภูมิภาคเพียงพอหรือไม่ เพราะตอนนี้ยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังจะเข้าสู่ช่วงหน้าร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้พลังงานเพื่อเดินทางท่องเที่ยวสูง
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางประเทศสมาชิกที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมติของกลุ่มสหภาพยุโรปได้อย่างเช่น ฮังการี เช็ค และสโลวาเกีย เนื่องจากเป็นประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกับทะเล จึงไม่มีทางเลือกนอกจากยังต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ความกังวลดังกล่าวได้ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เมื่อวานนี้ปรับตัวขึ้น 1.4% มีราคาซื้อขายเมื่อเวลา 12.35 PM ตามเวลาท้องถิ่นสิงคโปร์อยู่ที่ $119.23 ต่อบาร์เรล ในขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบ WTI ของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคมได้ปรับตัวขึ้น 1.2% มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $118.54 ต่อบาร์เรล
การปรับตัวขึ้นล่าสุดทำให้ภาพรวมของราคาน้ำมันดิบทั้งสองเกือบทำสถิติปรับตัวขึ้นหกเดือนติดต่อกัน โดยที่เบรนท์ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 9% และ WTI ปรับตัวขึ้นมา 13% เฉพาะในเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียว การปรับตัวขึ้นมาเช่นนี้ ที่มาพร้อมกับการตัดสินใจลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียของยุโรป ความต้องการใช้พลังงานของประเทศจีน และกลุ่ม OPEC+ ที่ไม่ยอมเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้นักวิเคราะห์เป็นกังวลว่ามีโอกาสที่ราคาน้ำมันดิบจะกลับไปทดสอบจุดสูงสุดในช่วงเริ่มสงครามรัสเซียยูเครนได้อีกครั้ง
Jeffrey Halley ผู้ดูแลการวิจัยตลาดลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของโบรกเกอร์ OANDA ให้ความเห็นว่า
“พฤติกรรมราคาของกราฟน้ำมันดิบแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ในฝั่งอุปทานน้ำมันนั้นมีแต่จะแย่ลง ไม่มีดีขึ้นเลย การที่สหภาพยุโรปตัดสินใจลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียยิ่งทำให้สถานการณ์มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีก แล้วแบบนี้นักลงทุนขาขึ้นที่ต้องการจะ buy เพิ่มจะไปหาจุดเข้าได้จากจังหวะไหน”
แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางคนที่คิดว่าหลังจากที่ราคาน้ำมันยืนเหนือ $120 ต่อบาร์เรลได้แล้ว มีโอกาสที่ราคาจะทรงตัวแบบเงียบๆ อยู่สักระยะ Stephen Innes หุ้นส่วนผู้จัดการด้านการจัดการสินทรัพย์ SPI กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า
“เมื่อประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ตัดสินใจแบนรัสเซีย นั่นทำให้ตลาดคาดการณ์ไปแล้วว่าแต่ละประเทศคงจะมีมาตรการคว่ำบาตรเฉพาะของตัวเอง ตอนนี้ตลาดคงคิดแล้วว่าความต้องการน้ำมันจะยิ่งมีมากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีนที่พึ่งกลับมาเปิดเมือง สิ่งที่ต้องจับตาดูคือราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นนี้จะกระทบการเดินทางในช่วงหน้าร้อนจนไปถึงขั้นความต้องการเดินทางลดลงเลยหรือไม่”
อุปสงค์จากจีนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เซี่ยงไฮ้ประกาศยุติล็อกดาวน์ ที่กินเวลานาน 2 เดือนเรียบร้อย และจะอนุญาตให้คนในเมืองใหญ่ที่สุดของจีนออกจากบ้านและขับรถได้ตั้งแต่วันพุธ
ด้านการผลิตน้ำมัน OPEC+ ถูกกำหนดให้ปฏิบัติตามข้อตกลงของปีที่แล้ว โดยการผลิตน้ำมันในเดือนกรกฎาคมจะขึ้นจาก 432,000 บาร์เรลต่อวันเล็กน้อย แหล่งข่าวจาก OPEC+ หกแห่งกล่าวว่า OPEC+ พร้อมปฏิเสธคำร้องจากโลกตะวันตก ที่ให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเพื่อลดราคาน้ำมันลง
เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มพันธมิตรผู้ส่งออกน้ำมันทั่วโลก 23 แห่งของกลุ่ม OPEC+ ได้รับรองว่าประเทศสมาชิกจะจัดหาน้ำมันดิบให้น้อยกว่าที่ตลาดต้องการ เพื่อรักษาราคาที่เหมาะสมที่สุด การรุกรานของยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้การผลิตน้ำมันหยุดชะงักอย่างน้อย 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ประเทศที่อยู่ในกลุ่มผู้บริโภคไม่มีทางเลือกนอกจากต้องรับผลกระทบราคาน้ำมันแพงไปเต็มๆ
ปัญหานี้ยังซับซ้อนได้อีก เมื่อกลุ่มบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับการกลั่นน้ำมันของสหรัฐฯ เลือกที่จะกลั่นน้ำมันในปริมาณที่คิดว่าเพียงพอต่อการได้กำไรของตน และไม่คิดจะนำเงินไปลงทุนกับการขยายธุรกิจ หรือหาแหล่งพลังงานเพิ่ม สำนักข่าวบลูมเบิร์กประมาณการว่ากำลังการกลั่นน้ำมันของสหรัฐฯ มากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (หรือประมาณ 5% โดยรวม) ได้หายไปแล้ว นับตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 ช่วงแรก นอกจากสหรัฐอเมริกา กำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกลดลงอีก 2.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน Turner ที่ปรึกษาด้านพลังงาน Mason & Co กล่าวโดยสรุปว่า
“เมื่อผู้กลั่นไม่มีแผนขยายธุรกิจในอนาคต สถานการณ์ราคาน้ำมันแพงจึงยิ่งมีแต่จะแย่ลง”
เนื่องจากสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน จึงจะมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐอเมริกามากมาย ข้อมูลตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ในเดือนพฤษภาคมจะประกาศในวันศุกร์นี้ นักวิเคราะห์คาดว่าการจ้างงานในพฤษภาคมจะเพิ่มขึ้น 320,000 ตำแหน่ง ลดลงจากเดือนเมษายน 428,000 ตำแหน่ง หากตัวเลขที่ออกมาต่ำกว่านี้อาจทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาได้ชั่วคราว
นักลงทุนทองคำก็จะให้ความสนใจกับข่าวนี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขอัตราการเติบโตของค่าจ้างและอัตราการว่างงานที่คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 3.5% แต่ก่อนที่จะไปถึง NFP ในวันศุกร์ ตลาดลงทุนจะได้ทราบข้อมูลตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานนอกภาคการเกษตรจากภาคเอกชน ADP ก่อน นอกจากนี้ยังมีรายงานตัวเลขตำแหน่งงานเปิดใหม่จาก JOLT และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกอีกด้วย
ปัญหาซัพพลายเชนขาดแคลน ที่เป็นส่วนหนึ่งกับการทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ทำให้นักลงทุนต้องมาให้ความสนใจกับรายงานตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการจาก ISM ที่จะเปิดเผยในช่วงค่ำของวันนี้ตามเวลาประเทศไทย หลังจากนั้นจะมีถ้อยแถลงของคนในธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้แก่ประธานเฟดสาขานิวยอร์กนายเจมส์ วิลเลียม และเจมส์ บลูราร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ส่วนโรแรตต้า เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ จะมีถ้อยแถลงในวันถัดไป