ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เจอโรม พาวเวลล์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทำเอานักลงทุนต่างสงสัยไปตามๆ กันว่า “นี่เราอยู่กันคนละจักรวาลหรือเปล่า?” เพราะเมื่อพูดถึงตลาดแรงงานขาดแคลน เจอโรมกลับบอกว่าเศรษฐกิจของอเมริกายังแข็งแรงดี
“เศรษฐกิจของอเมริกายังคงแข็งแรงดี และไม่มีสัญญาณใดๆ ที่บ่งบอกเลยว่าเศรษฐกิจของอเมริกาเปราะบาง หรือเข้าใกล้คำว่าภาวะถดถอยเลยแม้แต่น้อย”
แน่นอนว่านักวิเคราะห์หลายคนต่างก็วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ประธานเฟดคนนี้กำลังเล่นละครอยู่ เพราะมีหลักฐานอยู่แล้วชัดๆ จากรายงานตัวเลข GDP ในไตรมาสที่หนึ่งที่ปรับตัวลดลงจนติดลบ 1.4% ถ้าตัวเลขของไตรมาสที่สองยังแย่ไปมากกว่านี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่าเฟดจะไม่มีข้ออ้างใดๆ อีกแล้ว ต่อให้เงินเฟ้อจะลดลงก็ตาม
นักวิเคราะห์หลายคนตอนนี้เชื่อไปแล้วว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อนำคำถามเดียวกันนี้ไปถามเจอโรม พาวเวลล์ สิ่งที่เขาตอบก็มีแต่ทำให้นักลงทุนต้องกุมขมับ
“ผมคิดว่าตอนนี้เป็นโอกาสดีในการรักษาเสถียรภาพของตลาดโดยที่ไม่จำเป็นต้องกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะถ้าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง ตัวเลขการว่างงานมันจะต้องสูงมากกว่านี้ ผมยังเชื่อว่าเรา (เฟด) สามารถพาเครื่องบินเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาลงจอดได้อย่างปลอดภัย”
สำหรับผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันพุธที่แล้วได้ข้อสรุปว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% พร้อมทั้งจะทำการดูดสภาพคล่องในระบบออก สำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% นั้นเจอโรม พาวเวลล์ กล่าวว่าไม่เคยอยู่ในการพิจารณาของเฟด แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% อาจจะมีอีกในอนาคต หรืออาจจะกลับไปขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจในอนาคต
คำถามไม่ได้อยู่ที่ “ถ้าเกิดว่า” แต่อยู่ที่ “จะเลวร้ายแค่ไหน”?
เราเชื่อว่าพฤติกรรมในตลาดหุ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลังจากทราบผลการประชุม FOMC คงทำให้เจอโรม พาวเวลล์ รู้แล้วว่าตลาดมีความเชื่อถือในตัวเขาและสมาชิกเฟดมากน้อยเพียงใด ทันทีที่จบการประชุม ตลาดหุ้นทะยานขึ้นมากกว่า 1000 จุด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯ ลงจากตัวเลขที่เกือบแตะ 3% ทันที แต่พอผ่านไปเพียงแค่วันเดียว ทุกอย่างก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม ตลาดหุ้นร่วง อัตราผลตอบแทนฯ ขึ้นยืนเหนือ 3% ได้สำเร็จ ทำเหมือนกับว่าการประชุม FOMC ในเดือนพฤษภาคมไม่เคยเกิดขึ้น
เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ สำนักข่าวด้านการเงินต่างๆ ก็เริ่มออกมาแสดงความเห็นด้วยกับอดีตรองประธานเฟดนายรีชาร์ด คลาริด้า และแรนดัล คลาเรส ที่เคยออกมาเตือนเฟดชุดปัจจุบันว่าโลกสวยมากเกินไป พวกเขามองว่า FOMC ต้องกล้าได้กล้าเสียมากกว่าขึ้น ถ้าคิดจะจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อครั้งนี้จริงจัง แต่นั่นก็ต้องแลกมากับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ชาร์ลี คาร์โลไมริส นักเศรษฐศาสตร์ที่มักจะวิจารณ์เฟดบ่อยๆ ออกมาแสดงความเห้นหลังการประชุมว่า
“ตอนนี้คำถามที่เราควรถามไม่ใช่ว่าจะเกิดภาวะถดถอยขึ้นหรือไม่ แต่ควรถามกันได้แล้วว่าภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งนี้จะเลวร้ายมากแค่ไหน พวกเขา (เฟด) พลาดโอกาสในการควบคุมเงินเฟ้อไปพร้อมๆ กับการเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปแล้ว ยิ่งเฟดชุดนี้โลกสวยและปฏิเสธความจริงอีกนานเท่าไหร่ ผลกระทบที่พวกเราคนธรรมดากำลังจะได้รับก็ยิ่งจะรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น”
สถานการณ์ของเจอโรม พาวเวลล์ นับวันยิ่งหมดความน่าเชื่อถือลงไปเรื่อยๆ และยิ่งถูกโยงไปเข้ากับประเด็นทางการเมืองมากขึ้น นักวิเคราะห์หลายคนเริ่มเชื่อแล้วว่าที่จริงแล้ว ทั้งหมดที่เจอโรมทำไปเป็นเพราะหวังจะรั้งเก้าอี้ประธานเฟดเอาไว้ให้ได้ ทุกอย่างน่าสงสัยมาตั้งแต่ปีที่แล้วแล้ว ที่เขาเอาแต่พร่ำบอกมาตลอดทั้งปีก่อนถูกเลือกให้เป็นประธานเฟดสมัยที่สองว่า “เงินเฟ้อเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว”
และมาปีนี้ เขาก็ยังดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวด้วยความล่าช้าเพราะกลัวว่าถ้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงเกินไป อาจทำให้เศรษฐกิจอเมริกาเข้าสู่สภาวะถดถอย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการเลือกตั้งในช่วงกลางเทอม
โพลผลสำรวจของสำนักข่าว CNBC.com เมื่อสัปดาห์ที่แล้วระบุว่า 80% ของผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำผลโพลมองว่าปีนี้เศรษฐกิจอเมริกาหนีไม่พ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยแน่นอน ความเห็นจากโพลนี้ยังดูมองโลกตามความเป็นจริงมากกว่าหน่วยงานรัฐ หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินบางคนในตลาดหุ้นวอลล์ สตรีทเสียอีก
เมื่อต้องเจอกับเสียงวิจารณ์ขนาดนี้ คนในของธนาคารกลางสหรัฐฯ บางคนนอกจากประธานเฟดจึงต้องออกมาพูดอะไรบ้างเพื่อทำให้ตลาดใจเย็นลง คริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในบอร์ดผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจวางนโยบายการเงิน กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า
“FOMC ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ทำนายค่าเงินเฟ้อผิดพลาดในปีที่แล้ว แต่ FOMC เป็นกลุ่มเดียวที่มีบทบาทสำคัญและพวกเราไม่สามารถแบกรับผลที่ตามมาหากยอมรับความผิดพลาดนั้น FOMC คือกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินมารวมกัน ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีความเห็นแตกต่างกัน แต่เรามีเป้าหมายเดียวกันคือทำอย่างไรก็ได้ให้อัตราการจ้างงานอยู่ในระดับสูงที่สุด เราเชื่อว่านี่คือหนทางที่ถูกต้องในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า แต่ในระหว่างทางนั้นจะมีนโยบายการเงินบางประการที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามความเหมาะสม เพื่อบรรลุเป้าหมายของพวกเรา”
โรเบิร์ต บรูสก้า นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งเปรียบเทียบสถานการณ์ของเฟดกับเรือไททานิคได้อย่างน่าสนใจ และเข้าใจง่าย เขากล่าวว่า
“เชื่อเถอะว่าเฟดเห็นสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาแต่ไกล แต่เลือกที่จะไม่แจ้งเตือนใดๆ ทั้งนั้น เหมือนกับเรือไททานิคที่เห็นภูเขาน้ำแข็งแต่ก็ไม่คิดจะทำอะไร น่าเสียดายที่เรือลำนี้มีทั้งโมเดลคำนวณทางเศรษฐศาสตร์ดีๆ มากมาย มีนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นระดับท็อปของประเทศ แต่กลับไม่สามารถเลือกทำสิ่งที่ถูกได้เมื่อเห็นภูเขาน้ำแข็ง”