เมื่อหกสัปดาห์ก่อนเราได้เขียนบทความวิเคราะห์เกี่ยวกับแร่แพลเลเดียมว่าลงจากจุดสูงสุด $3,417 ได้มากถึง 45% แล้วเมื่อวานนี้เอง ราคาซื้อขายแพลเลเดียมล่วงหน้าบนตลาด COMEX ก็ได้ลงมาถึง $2,178.50 คิดเป้นขาลง 36% จากจุดสูงสุดล่าสุด อันที่จริง ก่อนหน้านี้ในวันที่ 29 มีนาคม ราคาแพลเลเดียมเคยลงมาต่ำสุดถึง $2,025.50 คิดเป็นขาลงทั้งหมด 41% ใกล้เคียงกับที่เราวิเคราะห์เอาไว้เมื่อหกสัปดาห์ก่อน
คำถามสำคัญก็คือตอนนี้ แพลเลเดียมพร้อมที่จะรีบาวด์กลับขึ้นไปแล้ว หรือยังปรับตัวลดลงได้มากกว่านี้อีก?
อ้างอิง: skcharting.com
Sunil Kumar Dixit หัวหน้านักวิเคราะห์ทางเทคนิคของ skcharting.com ให้ความเห็นต่อพฤติกรรมราคาแพลเลเดียมในตอนนี้ว่า
“ขาลงที่คุมเทรนด์มาอย่างยาวนานได้ทำให้ราคาลงไปอยู่ในโซน oversold ดังนั้นจึงมีโอกาสที่แพลเลเดียมจะหยุดพักแนวโน้มขาลงที่ดำเนินมานาน และเปิดโอกาสให้ฝั่งตรงข้ามได้หายใจบ้าง สัญญาณที่ชัดเจนที่สุดจะเกิดขึ้นหากว่าแพลเลเดียมได้ลงมาทดสอบ $1,900 และกลับสามารถดีดกลับขึ้นมาถึง $2,025 หลังจากนั้น หากว่าราคาสามารถทรงตัวเหนือ $2,025 ได้ มีโอกาสที่ ราคาแพลเลเดียมจะขึ้นไปทดสอบกรอบราคาระหว่าง $2,330 - $2,270 อย่างมากที่สุดคือการวิ่งขึ้นไปถึง $2,530”
“แต่สำหรับตอนนี้” เขากล่าวต่อ “แพลเลเดียมยังไม่ได้เป็นอิสระจากเทรนด์ขาลงอย่างชัดเจน ดังนั้นหากกราฟหลุดจุดต่ำสุดที่ $2,025 ลงไป มีโอกาสที่ราคาจะลงไปถึงแนวรับ $1,925 และ $1,915 แต่มากที่สุด ผมเชื่อว่าจะลงไปไม่เกิน $1,900”
แต่เมื่อมาดูทางด้านปัจจัยพื้นฐาน เรากลับได้ข้อมูลที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง ราคาแพลเลเดียมพึ่งร่วงลงเกือบ 13% ท่ามกลางการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้เพราะโควิดในประเทศจีน ที่กดดันความต้องการรถยนต์ ไม่ใช่แค่แพลเลเดียมเท่านั้น แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตัวอื่นๆ ต่างก็ปรับตัวลดลงมาเช่นกัน ตลาดลงทุนต่างเป็นกังวลว่าการล็อกดาวน์จะยืดเยื้อนานเป็นเดือนๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐกิจอันดับที่สองของโลก
ยิ่งไปกว่านั้น ความกังวลของตลาดได้ส่งไปถึงสัปดาห์หน้าแล้ว เพราะในวันที่ 4-5 พฤษภาคม จะมีการประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นอย่างน้อย 0.50% ไม่มีเหตุผลใดที่ทำให้ตลาดลงทุนรู้สึกวางใจได้เลย Bart Melek หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์ที่ TD Securities กล่าวว่า
“ความกังวลที่เกี่ยวกับราคาแพลเลเดียมส่วนใหญ่ล้วนอยู่กับปัจจัยที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ยิ่งปิดเมืองมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาส ความต้องการ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ไม่มีทางเติบโตได้เท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ นี่ยังไม่นับผลกระทบจากการคว่ำบาตรรัสเซีย”
Peter Mooses นักยุทธศาสตร์การตลาดอาวุโสที่ RJO Futures ให้ความเห็นเกี่ยวกับแพลเลเดียมว่า
“เพราะจีนเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่สำคัญ ดังนั้นการล็อกดาวน์จึงส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก นอกจากการล็อกดาวน์แล้ว การเติบโตของจีนได้ชะลอตัวลดลง ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่กลับไม่มีให้เห็นเป็นข่าวเลย”
เมื่อพูดถึงสถานการณ์ในประเทศจีน Bart Melek แห่งTD Securities ก็ได้ให้ความเห็นว่า
“ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์กำลังถดถอย ท่ามกลางสงครามชักเย่อระหว่างหายนะของอัตราการเติบโตของจีน การกักตุนสินค้าจำเป็นในช่วงของการระบาดโควิด-19 และสงครามในยูเครน ความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตกำลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลัวว่าปักกิ่งอาจจะต้องล็อกดาวน์ตามเซี่ยงไฮ้ไปด้วย มีความไม่แน่นอนมากมายเกี่ยวกับการล็อกดาวน์ที่อาจเกิดขึ้นในจีน และสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่จบ ยังไม่ต้องนับถึงความผันผวนในสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้โลหะเช่นแพลเลเดียมและทองแดงจึงได้รับผลกระทบหนักขึ้น ในขณะที่ทุกประเทศต้องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน แต่เมื่อเศรษฐกิจไม่มีความชัดเจนเช่นนี้ ก็ม่สามารถทำให้การวางงบประมาณสำหรับการใช้แร่เหล่านี้ทำได้อย่างราบรื่น”
นิคกี้ ชีลส์ นักยุทธศาสตร์ด้านโลหะของ MKS PAMP ให้ความเห็นว่า
“ตลาดลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับขอบเขตของการล็อกดาวน์ในจีน เนื่องจากนโยบายปลอดโควิดเป็นอย่างมาก ความกลัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะล็อกดาวน์ของจีนในเซี่ยงไฮ้เป็นสัปดาห์ที่ 4 สร้างความกังวลโควิดอาจลามไปถึงปักกิ่งได้ ตอนนี้เริ่มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นที่นั่น ความดื้อรั้นของการใช้นโยบายปลอดโควิด จะเป้นบททดสอบการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรับมืออัตราเงินเฟ้อ อุดมการณ์ทางการเมือง ที่อยู่เหนือความเป้นจริงด้านเศรษฐกิจถือเป็นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความดื้อรั้นนี้มีแนวโน้มจะทำให้สองเมืองใหญ่ ที่มั่งคั่งที่สุดของจีนเป็นอัมพาต”
สุดท้าย ขอทิ้งท้ายด้วยข้อมูลจากหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Cox Automotive โจนาธาน สโมค ได้เปิดเผยข้อมูลจากสองบริษัทขายรถยนต์ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ “Autotrader” และ “Kelly Blue Book” ซึ่งระบุว่ายอดผู้ซื้อรถในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบแบบเทียบปี 2022 กับปี 2021 พบว่ามีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ