ใครก็ตามที่ยังคิดว่าการเติบโตของเงินเฟ้อในตอนนี้เป็นเรื่องน่ากังวล ควรจะเปลี่ยนเป็นคำว่า “กลัว” ได้แล้ว เพราะพฤติกรรมของกราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในระยะหลังสะท้อนให้เห็นความกลัวนั้นได้อย่างชัดเจน
ถามว่าถึงขั้นต้องใช้คำว่ากลัวแล้วอย่างนั้นจริงหรือ? แล้วคุณคิดอย่างไรกับตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาเป็นเวลาสามเดือนติดต่อกัน ตัวเลขในเดือนมกราคมปี 2022 ออกมาอยู่ที่ 7.5% เดือนกุมภาพันธ์ 7.9% และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของเดือนมีนาคมออกมาอยู่ที่ 8.5% YoY ที่น่าขำก็คือนักวิเคราะห์ฝั่งโลกสวยก็ยังคงบอกว่าให้ดูที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน แล้วจะเห็นว่าตัวเลขที่ออกมานั้นต่ำกว่าคาดการณ์ 0.3% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอัตราเร่งของเงินเฟ้ออาจถึงจุดสูงสุดแล้ว
แต่ความจริงก็ยังคงเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ เมื่อดัชนีราคาผู้ผลิต ที่เป็นต้นบ่งบอกถึงต้นทุนในการผลิตสินค้าทะยานขึ้นเป็น 11.2% นักวิเคราะห์ฝั่งโลกสวยก็ไม่อาจปฏิเสธอะไรได้อีก เพราะนี่คือราคาค้าส่งก่อนที่จะส่งไปให้ภาคค้าปลีก สิ่งที่ PPI กำลังบอกกับเราในตอนนี้ก็คือราคาสินค้าข้าวของที่เราจะต้องจ่ายในชีวิตประจำวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะสามารถปฏิเสธความเป็นจริงของเงินเฟ้อได้ เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีเมื่อวันจันทร์สามารถขึ้นยืนเหนือระดับตัวเลข 2.88% แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็สามารถบ่งบอกได้ถึงอะไรหลายๆ อย่าง ถึงจะปรับตัวลดลงมาหลังจากนั้น แต่ก็ยังสามารถปิดบวกเมื่อวานนี้ได้ถึง 5 จุดเบสิส
การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทน 10 ปีกำลังแซงหน้าอัตราผลตอบแทน 2 ปี ทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนระยะสั้นและยาวมีความกว้างห่างกันถึง 30-40 จุดเบสิส นักวิเคราะห์เริ่มกลัวมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าหากขยายกว้างมากกว่านี้จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจอเมริกา
กราฟอัตราผลตอบแทนฯ อายุ 2 ปีสามารถปรับตัวขึ้นยืนเหนือ 2.45% ได้ หากปรับตัวขึ้นอีกเพียง 1 จุดเบสิส จนทำให้มีความกว้างระหว่างระยะสั้นและยาวที่มากกว่านี้่ อาจส่งสัญญาณว่าตลาดลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะสามารถไล่ตามภาวะเงินเฟ้อได้ทัน ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเป็นปกติ มีเงินเฟ้อต่ำ นักวิเคราะห์อาจสามารถมองข้ามตัวเลข PPI และความผันผวนในราคาอาหารและพลังงานได้
แน่นอนว่าไม่ใช่สถานการณ์ปัจจุบัน ตอนนี้ราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ อาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ กำลังทำให้ต้นทุนในชีวิตของเราสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือจนก็สามารถสัมผัสได้อย่างแน่นอน
ตลาดพันธบัตรไม่เคยโกหก เงินเฟ้อยังไม่ถึงจุดสูงสุด
มันถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล ธนาคารกลาง นักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์ สตรีท และสื่อเกี่ยวกับการเงินทั่วโลกจะต้องยอมรับความเป็นจริงนี้ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดพันธบัตรไม่เคยโกหกใคร ตอนนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่นักลงทุนโลกสวยจะมาหลอกตัวเองแล้ว เมื่อเดือนก่อนธนาคารโกลด์แมน แซคส์เคยทำนายเอาไว้ว่ากราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีจะขึ้นถึง 2.7% ภายใน “สิ้นปีนี้” ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่าตอนนี้ขึ้นไปยืนเหนือ 2.8% ได้เรียบร้อยแล้ว
Mohamed El-Erian อดีต CEO ของ PIMCO ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Allianz เชื่อว่าขาขึ้นของเงินเฟ้อยังไม่ถึงจุดสูงสุด และเฟดอาจจะต้องปรับเป้าหมายเงินเฟ้อขึ้นจาก 2% ซึ่งส่วนตัวเขามองว่าอาจจะได้เห็นตัวเลข 3% หากเป็นเช่นนั้น ประเด็นนี้จะกลายเป็นที่ถกเถียงในสังคมอย่างมาก และเฟดคงไม่อาจหนีคำครหาเกี่ยวกับการบกพร่องต่อหน้าที่ได้
แม้ว่าเมื่อวานนี้ฝั่งยุโรปจะเป็นวันหยุดอีสเตอร์ แต่นักลงทุนก็ยังคงเฝ้าจับตาดูท่าทีของธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังจากที่สัปดาห์ก่อนพวกเขาตัดสินใจชะลอการกำหนดวันสำหรับการยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงิน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในยูโรโซนจะอยู่ที่ 7.5%
หลังจากการประกาศจบลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมัน 10 ปีก็ร่วงลงไปวิ่งต่ำกว่า 0.77% จากนั้น Otmar Issing หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์คนแรกของ ECB และหนึ่งในผู้สร้างสกุลเงินยูโรก็ได้ออกมาตำหนิการตัดสินใจของ ECB ว่าโลกสวยเกินไป และตั้งใจละเลยความเป็นเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ ในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Financial Times เขากล่าวสั้นๆ ว่า
“เงินเฟ้อนั้นเหมือนมังกรหลับ ที่ตอนนี้ได้ตื่นขึ้นแล้ว”