สลายไปแล้วหรือภาพฝันวันทองคำยืนเหนือ $2,000?
แม้ว่าตอนนี้ราคาทองคำจะปรับตัวลดลงมาสี่วันติดต่อกัน และยังมีโอกาสที่จะวิ่งลงต่อไป แต่เราเชื่อว่ายังเร็วไปที่จะพูดประโยคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่ได้ข้อสรุป ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคมเป็นต้นมา นักลงทุนขาขึ้นที่ลงทุนในสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า COMEX เสียกำไรไปแล้ว 3% นี่คือครั้งที่สองในระยะเวลา 19 เดือนแล้วที่ได้เห็นทองคำลงมาวิ่งอยู่ ณ บริเวณนี้ หลังจากที่เคยหวังไว้ว่าจะได้เห็นทองคำขึ้นยืนเหนือระดับราคา $2,121
หากนับจากจุดสูงสุดของเดือนที่ $2,078.80 ตอนนี้ราคาทองคำบน COMEX ได้ปรับตัวลดลงมาแล้ว $148 หรือคิดเป็น 7% เพราะความตึงเครียดระหว่างรัสเซียยูเครนมีท่าทีที่ผ่อนคลายลง ไม่ต่างจากราคาน้ำมันที่ร่วงลงมาจากวันศุกร์ถึงปัจจุบันมากกว่า 10% เช่นกัน ในช่วงบ่ายของวันอังคารที่ผ่านมา ราคาน้ำมัน ณ ท่าเรือสิงคโปร์เคยหลุด $100 ต่อบาร์เรลกลับลงมาแล้ว สาเหตุเป็นเพราะตอนนั้นขีข่าวจากรัสเซียออกมาว่าการเจรจาเพื่อสันติภาพมีความคืบหน้า
เมื่อนักลงทุนลดความเสี่ยงในตลาดน้ำมันลง ทองคำจึงปรับตัวลงตามมาด้วย
ความกล้าหาญชาญชัยของนักลงทุนที่มองว่าสถานการณ์ดีขึ้นพอจนลดความเสี่ยงกับราคาน้ำมันได้นั้น ทำให้ขาขึ้นของราคาทองคำได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทั้งๆ ที่ตอนนี้สถานการณ์ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นเลย และกรุงเคียฟของยูเครนก็ยังคงถูกรัสเซียล้อมเอาไว้อยู่
ตั้งแต่ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดเหนือ $130 ต่อบาร์เรลในวันที่ 8 มีนาคม ทั้งราคาน้ำมันดิบ WTI และเบรนท์ก็ได้ปรับตัวลดลงมาแล้วมากกว่า 30% เช่นเดียวกับราคาทองคำที่ลงมาจาก $2,000 ได้อย่างง่ายดาย ประกอบกับตอนนี้อยู่ในช่วงสองวันอันตราย ที่การประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่ได้ข้อสรุป ทำให้เกิดคำถามมากมายว่าขาลงของทองคำครั้งนี้จะไปสิ้นสุดลงที่เท่าไหร่
Sunil Kumar Dixit หัวหน้านักวิเคราะห์จาก skcharting.com เชื่อว่าราคาทองคำสปอตจะลงได้ต่ำสุดไม่เกิน $1,887 ก่อนทราบผลการประชุมของธนาคารกลาง ในช่วงท้ายของบทความ เราจะมาดูรายละเอียดการวิเคราะห์ของคุณ Sunil กัน แต่ตอนนี้เราไปดูปัจจัยพื้นฐานกันก่อนว่ามีเรื่องอะไรที่สร้างผลกระทบกับราคาทองคำในปัจจุบันบ้าง
เป็นที่ทราบกันดีว่าสัปดาห์นี้ (15-16 มีนาคม) จะมีการประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งนักลงทุนทุกคนเชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% แน่นอน ความท้าทายของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้คือเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ จึงจะเหมาะสมที่สุดในการสกัดกั้นเงินเฟ้อ ไปพร้อมๆ กันกับการไม่ขวางกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย นักวิเคราะห์หลายคนออกมาฟันธงแล้วว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในตอนนี้นั้นแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย
สงครามรัสเซียยูเครนทำให้การตัดสินใจของเฟดยากขึ้น
นอกจากเงินเฟ้อแล้ว ประเด็นที่เฟดไม่คาดคิดมาก่อน แต่ต้องมีการพิจารณาเข้ามาร่วมด้วยในการประชุมครั้งนี้คือผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียยูเครน สำนักข่าวบลูมเบิร์กวิเคราะห์ว่าสงครามสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินและพลังงานทั่วโลก แม้เฟดจะเป็นธนาคารที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก แต่พวกเขาก็ต้องเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้
มาร์ก ซานดี หัวหน้านักวิเคราะห์จาก มูดี้ อนาไลติกส์ วิเคราะห์เชิงเปรียบเปรยว่า
“การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ครั้งนี้ตัดสินใจได้ยากจริงๆ เปรียบเทียบสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้เหมือนเครื่องบินที่กำลังจะแลนดิ้งบนรันเวย์ด้วยความเร็วสูง และต้องฟันฝ่ากระแสลมแรงจากโรคระบาด แถมยังมีทัศนวิสัยที่ถูกบดบังด้วยความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ”
โจฮาน เกรน หัวหน้านักวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุนใน ETF ของ Allianz บอกกับ investing.com ว่า
“ด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ และสถานการณ์รัสเซียยูเครน การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จะเหมือนกับว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ได้ตัดสินใจทำอะไรเลย”
เอ็ด โมญ่า นักวิเคราะห์จาก OANDA ให้ความเห็นว่าแม้เฟดจะอยากแสดงความตั้งใจในการรับผิดชอบต่อเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เพราะสถานการณ์สงคราม ทำให้เฟดมันสามารถเดินเกียร์หน้า ขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างเต็มกำลัง เป็นไปได้มากว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเลือกประคองสถานการณ์ไปก่อนด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%
จากวีรบุรุษที่เคยได้รับการยกย่องเพราะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการป้องกันภาวะถดถอยเพราะโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว ตอนนี้พาวเวลล์กลายเป็นผู้ร้ายที่จะต้องรับผิดชอบทุกสิ่งที่ผิดพลาดเกี่ยวกับเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เขายอมรับว่าธนาคารกลางประเมินผิดว่าเงินเฟ้อเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว
นอกเหนือจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (ที่เชื่อว่าจะมีมากถึงเจ็ดครั้งในปีนี้ตามจำนวนการประชุมในปฏิทินของ FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังต้องลดงบดุล ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ระบุว่าจะลดลงเท่าไหร่ การกระทำดังกล่าวจะลดกระแสเงินสดในระบบการเงิน เพิ่มความไม่แน่นอนให้กับตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น ที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นคือหากอัตราเงินเฟ้อไม่เริ่มลดลงตามมาตรการเหล่านี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป จะส่งผลย้อนกลับมาทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยและตลาดการเงินตกต่ำ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กยกคำพูดของลินซีย์ ลอว์เรนซ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นมากล่าวว่า
“เมื่อคุณติดกระดุมผิดเม็ด และยังฝืนติดมันเช่นนั้นเรื่อยๆ สิ่งที่คุณต้องทำเพื่อจบปัญหานี้คือเริ่มติดกระดุมตั้งแต่เม็ดแรกใหม่ทั้งหมด ซึ่งมันต้องใช้ความพยายามมากว่าเมื่อเทียบกับการติดผิด แล้วยอมรับ และเริ่มแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% จะไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย และจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร สกุลเงิน และสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย”
“การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%” เขากล่าวต่อ “อาจจะทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมาอย่างรุนแรง ทองคำ น้ำมันอาจร่วงลงเร็ว เงินเฟ้ออาจจะหยุดชะงักไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง คำถามคือเฟดจะมีเครื่องมืออะไรเพิ่มเติมเพื่อไม่ทำให้สถานการณ์นี้ช็อกตลาดมากเกินไปนัก”
หากแนวรับ $1,925 เอาไม่อยู่ ให้พิจารณาระดับราคา $1,887 รอไว้ได้เลย
ต่อจากการวิเคราะห์ของคุณ Sunil ในเนื้อหาข้างบน เขาเชื่อว่าถ้าแนวรับ $1,925 เอาไม่อยู่ มีโอกาสที่ราคาทองคำจะร่วงลงไปถึง $1,887
“ทองคำยังคงร่วงลงเรื่อยๆ และไม่ได้แสดงสัญญาณความแข็งแกร่งของแนวโน้มขาขึ้นออกมาเลย ขาลงครั้งนี้มีส่วนเกิดขึ้นมาจากรูปแบบ double-top ในกราฟรายเดือน จุดสูงสุดที่ราคาทองคำพึ่งสร้าง ทำให้เกิดความเป็นไปได้นี้ขึ้นมาด้วย ถ้าหากทองคำคิดจะพักฐาน การหยุดลงที่โซนราคา $1,925 - $1,900 ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม และถ้าคิดจะกลับตัวขึ้นไป โซนราคา $1,906 - $1,887 ถือว่ากำลังใช้ได้”
“ส่วนฝั่งขาขึ้นนั้น” เขากล่าวต่อ “แนวต้านแรกที่อยากให้พิจารณาคือ $1,970 จากราคาปัจจุบันขึ้นไปถึง $1,970 เป็นระยะทางที่นักลงทุนขาขึ้นต้องพิสูจน์ตัวเอง พวกเขาจะมาได้แรงสนับสนุนจากนักลงทุนสายเก็งกำไรต่อเนื่องราคาทองคำสามารถขึ้นยืนเหนือ $2,010 - $2,030 ได้แล้ว อย่าลืมว่าสัปดาห์นี้คือสัปดาห์ของเฟด และมันสำคัญมากเพราะเป็นการประชุมเพื่อขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่โรคระบาด เชื่อได้เลยว่าจะได้เห็นความผันผวนอย่างรุนแรงแน่นอน”