สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันกำลังจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของโลกหรือไม่?
สงครามระหว่างรัสเซียยูเครนได้ทำให้บอร์ดบริหารบางคนของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีท่าทีที่เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่นสองคนที่เรามักจะไม่คุ้นชื่อเท่าไหร่อย่างมิเชลล์ โบว์แมน และคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ที่กำลังเปลี่ยนไปเห็นดีเห็นงามกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นคนที่พยายามจะออกมาพูดอยู่ตลอดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรงมากนัก
มิเชลล์ โบว์แมน อดีตกรรมาธิการธนาคารแคนซัส ก่อนที่จะได้เข้ามาดำรงตำแหน่งในธนาคารกลางสหรัฐในปี 2018 แถบจะไม่เคยกล่าวถึงนโยบายการเงินเลย แต่เมื่อวานนี้เป็นครั้งแรกที่เธอออกมาแสดงความเห็นต้องการให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ตามข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจในระยะหลังที่ออกมา
“ฉันตั้งใจที่จะสนับสนุนการตัดสินใจใดๆ ก็ตามที่จะทำให้เงินเฟ้อในปัจจุบันลดต่ำลง” - เธอกล่าวในงานประชุมของสมาคมนายธนาคารแห่งอเมริกาที่รัฐแคลิฟอร์เนีย
ทำไมคำพูดของโบว์แมนถึงสำคัญ? เพราะเธอเป็นหนึ่งในเก้าของผู้มีสิทธิ์โหวตกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีนี้ ไม่ว่าเธอจะชอบออกมาพูดในที่สาธารณะหรือไม่ การตัดสินใจของเธอย่อมมีผลกระทบต่อการวางนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา ในเวลาที่ใกล้กัน นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ อีกหนึ่งคนที่มีสิทธิ์โหวตวางนโยบายการเงินในปีนี้เรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ภายในช่วงกลางปีนี้
“ที่ผ่านมาเรา (เฟด) พูดมาตลอดว่ามีเครื่องมือพร้อมในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องใช้เครื่องมือเหล่านั้นจริงๆ แล้ว สำหรับเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตามความเห็นของผมอยากจะให้ขึ้นอย่างน้อย 0.50% หากว่าเงินเฟ้อยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง” - วอลเลอร์กล่าวในงานสัมมนาของมหาลัยแคลิฟอร์เนีย เพื่อส่งสาส์นไปถึงประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ชอบออกมาให้ความมั่นใจแก่สาธารณชน แต่ไม่ยอมลงมือทำอะไรสักอย่างอย่างจริงจัง
เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ สหรัฐอเมริกาได้มีการประกาศดัชนีราคาการบริโภคส่วนบุคคล (PCE Index) ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่มาตรวัดเงินเฟ้อหลักของธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัวเลข PCE ของเดือนมกราคมที่ออกมานั้นเพิ่มขึ้นเป็น 5.9% จาก 4.9% ในเดือนธันวาคม ในขณะที่ตัวเลข PCE พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6.1% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1983 และ 1982
ความจำเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา เมื่อต้องมาเจอกับตัวแปรสำคัญอย่างสงครามระหว่างรัสเซียยูเครน ทำให้การประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 15-16 มีนาคมนี้ยิ่งต้องจับตาให้ความสำคัญมากขึ้นไปอีก ล่าสุดประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำของรัสเซียสั่งให้วาง "กองกำลังป้องปราม" ซึ่งถืออาวุธนิวเคลียร์ให้เตรียมตัว ในขณะที่สหภาพยุโรป 27 ชาติตัดสินใจเมื่อวันอาทิตย์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในการจัดหาอาวุธให้กับประเทศยูเครน
ความอุกอาจของปูตินทำให้ธนาคารหลายแห่งของรัสเซียถูกขับออกจากการใช้งาน SWIFT ระบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก นี่คือการลงโทษจากชาติตะวันตกที่รุนแรงที่สุด และเป็นความพยายามที่จะกดดันรัสเซียให้ยอมถอยทัพออกจากยูเครน เมื่อไม่สามารถใช้สกุลเงินรูเบิลของรัสเซียได้ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอาจตัดสินใจชะลอแผนขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปก่อน เพื่อให้ธนาคารทั่วโลกมีดอลลาร์เพียงพอรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นความพยายามก่อสงคราม หรือการคว่ำบาตรจากตะวันตก ได้ทำให้ราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะรัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันให้กับโลก 10% และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปให้กับยุโรปมากถึง 40% ความกังวลว่าจะขาดแคลนพลังงานได้ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์สามารถขึ้นยืนเหนือ $100 ต่อบาร์เรล ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อผลการประชุมของเฟดในเดือนนี้อย่างมีนัยสำคัญแน่นอน
โรแรตต้า เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ และเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิ์โหวตนโยบายการเงินของเฟดในปีนี้ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า
“การขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังเป็นสิ่งที่สมควรทำ และต้องเริ่มตั้งแต่ในเดือนมีนาคม หลังจากนั้นก็ต้องขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนถัดไปเรื่อยๆ ภาพรวมของสถานการณ์ระหว่างรัสเซียยูเครนจะถูกนำมาประเมินในการประชุมครั้งนี้แน่นอน เราจะพิจารณาอย่างจริงจังว่าสมควรแก่การยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่สนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายหรือไม่”
นอกจากโรแรตต้า ประธานเฟดสาขาอื่นๆ ก็ออกมายืนยันเหมือนกันในสัปดาห์ที่แล้วว่าเฟดจะไม่เปลี่ยนแผนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนได้ออกมาเตือนว่าผลลัพธ์ของสงครามครั้งนี้อาจจะเกินจินตนาการกว่าที่เฟดจะคิดได้ไปมาก และถ้าประเมินผิดขึ้นมา ก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้