สัปดาห์นี้ราคาน้ำมันยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดิบที่เป็นมาตรวัดทั้งสองไม่ว่าจะเป็น WTI หรือเบรนท์ทะเลเหนือต่างก็สามารถยืนอยู่เหนือ $80 ต่อบาร์เรลได้แล้วทั่งคู่ สิ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นคือซัพพลายน้ำมันที่มีอยู่อย่างจำกัด และความต้องการน้ำมันที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2022 แต่ประเด็นที่พึ่งจะเพิ่มเข้ามาในปีนี้คือความขัดแย้งทางการเมือง วิกฤตพลังงานในยุโรป โดรนโจมตีรถส่งน้ำมันของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และการระเบิดท่อส่งน้ำมันจากอีรักไปตุรกี
ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ประเด็นที่น่าสนใจ และส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานมากที่สุดคือความตึงเครียดระหว่างยุโรป ยูเครน รัสเซียและสหรัฐอเมริกา ในบทความนี้เราจะมาดูความเป็นไปได้ และภาพรวมที่ของสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบถึงราคาน้ำมันดิบในอนาคต มาเริ่มกันที่คำถามแรกก่อนเลย
มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่รัสเซียจะลุยเข้าไปในยูเครน?
อ้างอิงคำพูดจากนาย Brian Fitzpatrick อดีตเจ้าหน้าที่ FBI ที่เคยประจำอยู่ที่ประเทศยูเครน และรายงานจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ระบุว่ามีความเป็นไปได้มากกว่า 50% ที่รัสเซียจะบุกยูเครนภายในเดือนหน้า Jen Psaki โฆษกหญิงแห่งทำเนียบขาวให้ความเห็นที่คล้ายกันในแถลงการณ์เมื่อวันอังคารว่า
“เราเชื่อว่าตอนนี้พวกเราทุกคนกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่รัสเซียอาจเปิดฉากโจมตียูเครนเมื่อไหร่ก็ได้”
ถึงสหรัฐฯ จะเชื่ออย่างนั้น แต่หน่วยงานทางทหารอื่นๆ กลับไม่เห็นด้วย เลขานุการของ NATO เห็นว่าถึงจะมีความเสี่ยงทางการทหารจริง แต่พวกเขาก็ยังไม่เห็นถึงลางบอกเหตุว่าการบุดโจมตีนั้นใกล้เข้ามาแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียนาย Sergei Ryabkov ก็ออกมาปฏิเสธว่ารัสเซียไม่มีแผนที่จะส่งกองกำลังของตนข้ามพรมแดนไปโจมตียูเครน
นักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นว่าการบุกรุกดินแดนยูเครนอาจจะเป็นดีลที่ได้ไม่คุ้มเสีย เมื่อต้องแลกกับการขายพลังงานในยุโรป ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและเก้าอี้ของนายวลาดิเมียร์ ปูตินมากกว่า ตอนนี้สภาพเศรษฐกิจของรัสเซียและสภาพคล่องทางการเงินก็ดี และจะมีเหตุผลอะไรที่จะเอาเศรษฐกิจของตัวเองไปเสี่ยงกับประเทศยูเครน
นักวิเคราะห์คนอื่นๆ คิดว่ารัสเซียไม่เชื่อว่าสภาพทางการทหารและการเมืองในตอนนี้มีความเหมาะสมสำหรับการเข้าไปแทรกแซงทางทหาร นาย Eugene Chausovsky ได้โต้เถียงในประเด็นนี้ ซึ่งเขาอิงจากการวิเคราะห์การสู้รบ และการไม่เข้าร่วมทางทหารของรัสเซียในอดีต เงื่อนไขความเป็นไปได้ในการโจมตียูเครนไม่เป็นไปตามมาตรฐานของรัสเซียอย่างที่เคยทำมาก่อน
การตอบโต้ทางทหารที่อาจจะเป็นไปได้
หากรัสเซียเข้าโจมตียูเครนจริง ฝั่งตะวันตกยังไม่ได้เตรียมแผนที่จะตอบโต้ทางการทหารเนื่องจากยูเครนไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่ม NATO ดังนั้นนาโต้จึงไม่มีสิทธิ์เข้าไปพิทักษ์ชายแดนของยูเครนได้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้ออกมากล่าวแล้วว่าจะไม่ส่งกองกำลังอเมริกันเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง แต่ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรได้ให้คำมั่นที่จะส่ง “ระบบอาวุธป้องกัน” ไปยังยูเครน โดยที่สหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ รวมถึง ขีปนาวุธต่อต้านรถถัง ขีปนาวุธระยะไกล รถถังสติงเกอร์ อาวุธขนาดเล็ก และเรือรบ
สิ่งที่สหรัฐอเมริกาพอจะทำได้เพื่อเป็นการตอบโต้รัสเซียคือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และการห้ามไม่ให้คนใกล้ชิดของปูตินเข้าดินแดนสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าการคว่ำบาตรรายบุคคลนี้จะไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อตลาดการเงิน แต่หากกดดันมากๆ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบอาจจะเป็นยุโรปเอง รัสเซียสามารถตั้งแง่กับการ่ส่งพลังงานอย่างน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินไปให้ยุโรป และนั่นจะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น
เยอรมนีขู่รัสเซียให้ระวัง "ผลที่ตามมา" ตอนนี้ทั้งสองชาติมีท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 2 ซึ่งเป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติสายสำคัญที่เชื่อมระหว่างรัสเซียและเยอรมนี ที่เพิ่งสร้างเสร็จไปไม่นานแต่ยังไม่เปิดดำเนินการ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมันกล่าวว่า "ท่อส่งก๊าซนี้ไม่สามารถให้บริการได้" หากรัสเซียยังคงกดดันให้สถานการณ์กับยูเครนให้มีความรุนแรงมากขึ้น
ทางเลือกสุดท้าย ประเทศต่างๆ ได้หารือถึงการยกเลิกการเชื่อมต่อระบบธนาคารของรัสเซียจากระบบการชำระเงิน ‘SWIFT’ ระหว่างประเทศ มีรายงานบางฉบับที่ระบุว่าตัวเลือกนี้ไม่ได้ผลเพราะจะทำให้ตลาดโลกไม่มั่นคง แต่ในการแถลงข่าวเมื่อบ่ายวันพุธ ประธานาธิบดีไบเดนบอกกับนักข่าวว่า: “ถ้ารัสเซียจะบุก พวกเขาจะต้องจ่าย ซึ่งไม่ใช่การจ่ายด้วยเงินดอลลาร์” คำพูดนี้เหมือนจะเป็นการคุกคามที่ขู่จะตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT
สิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับตลาดพลังงาน
สถานการณ์การจัดหาพลังงานของยุโรปในตอนนี้มีความไม่แน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้นหากรัสเซียหยุดการจัดหาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และ/หรือถ่านหินลงทันทีจะสร้างหายนะให้กับยุโรป สิ่งนี้อาจทำให้ประเทศในยุโรปตกอยู่ในความมืด ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีฮีตเตอร์ในบ้านและธุรกิจหลายล้านแห่งต้องปิดทำการในช่วงฤดูหนาว
สิ่งที่จะตามมาแน่นอนว่าราคาพลังงานในยุโรปจะพุ่งสูงขึ้น ราคาน้ำมันจะได้รับผลกระทบทันทีและจะทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกแพงขึ้น ราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินในภูมิภาคต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน แม้ว่าจะน้อยกว่าและมีความสำคัญน้อยกว่าราคาน้ำมันก็ตาม มีแนวโน้มว่าราคาพลังงานที่สูงขึ้นในยุโรปจะช่วยเปลี่ยนเส้นทางการจัดหาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินจากส่วนอื่นๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกมีกำลังการผลิตน้ำมันและก๊าซสำรองไม่เพียงพอที่จะแทนที่อุปทานของรัสเซีย ที่ส่งไปยังยุโรปได้
อ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้หารือกับบริษัทเอกชนผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ ที่จะช่วยเหลือยุโรปหากว่าเกิดสงครามในยูเครนจริง (ก๊าซธรรมชาติที่รัสเซียส่งไปให้ยุโรปคิดเป็น 1 ต่อ 3 ของความต้องการก๊าซธรรมชาติในยุโรป) แต่บริษัทเอกชนก็ให้ความเห็นกับโจ ไบเดนว่าต่อให้รวมพลังกันก็ไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของทวีปยุโรปได้มากเท่ากับสิ่งที่รัสเซียทำ
ถึงจะมีความเป็นไปได้ว่าหากทำเนียบขาวกดดันลงมา บริษัทเหล่านี้อาจจะเพิ่มกำลังการผลิตและส่งออกได้ หรือแม้แต่ยอมข้ามช่วงเวลาการปิดซ่อมบำรุงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต แต่ก็ไม่มีแหล่งข่าวใดยืนยันว่าเหตุการณ์นั้นอาจจะเกิดขึ้นจริง อุปทานที่เพิ่มขึ้นสามารถช่วยบรรเทาราคาน้ำมันและก๊าซที่สูงได้ แต่ถ้าไม่มีแผนฉุกเฉินโดยละเอียด ก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งทางการเมือง ราคาพลังงานก็จะปรับตัวขึ้นก่อนที่จะมีการจัดส่งด้านลอจิสติกส์ หรือมีการผลิตและการส่งออกจะเพิ่มขึ้น
สำหรับทางด้านการเงิน หากรัสเซียถูกตัดออกจากระบบ SWIFT ประเทศในกลุ่มยูโรโซนจะไม่สามารถซื้อพลังงานจากรัสเซียด้วยสกุลเงินดอลลาร์ได้ และนั่นอาจทำให้ผู้คนหันไปถือยูโรมากกว่าที่จะเป็นดอลลาร์ จริงอยู่ว่าผลกระทบนี้จะทำให้สกุลเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่า แต่รัสเซียก็ยังมีทางเลือกในการไปขายพลังงานให้กับจีนแทน และรัสเซียก็ได้มีการรองรับระบบการชำระเงินด้วยหยวนเรียบร้อยแล้ว
มีรายงานระบุว่าทั้งสองประเทศมีระบบการเงินอื่นที่มาใช้แทน SWIFT แล้ว และอาจจะมีประเทศอื่นๆ ตามมาใช้ระบบนี้ด้วยอีกในอนาคต ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของ SWIFT อ่อนลงไปอีก ยิ่งไปกว่านั้น หากรัสเซียและจีนหันมาค้าขายพลังงานกันอย่างจริงจัง อุปทานพลังงานที่ทั้งสองมีอาจสั่นคลอนไปถึงกลุ่ม OPEC+ ได้