เชื่อได้เลยว่าในปี 2022 ที่พึ่งจะก้าวเข้ามาถึงนี้จะยังคงเป็นปีที่โลกคริปโตฯ ถูกจับตาอีกเช่นเคย ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีว่ากันว่าพัฒนาการของโลกสกุลเงินดิจิทัลได้ทำให้วงการเทคฯ เข้าสู่ยุค “เว็บ 3.0” หรืออินเทอร์เน็ตรุ่นที่ 3 ซึ่งให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่มีเทคโนโลยีในการทำงานที่ถูกตั้งค่าให้ขับเคลื่อนโดย AI และแอปพลิเคชันแบบ P2P (Peer to Peer) เช่นบล็อกเชน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปีนี้เราจะได้เห็นกฎหมายใหม่ๆ จากภาครัฐออกมาควบคุม และนั่นก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ”
ก่อนที่จะไปพูดถึงความเสี่ยงดังกล่าว เรามาดูข้อมูลพื้นฐานเชิงสถิติในปี 2021 กันก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นกับคริปโตฯ แน่นอนว่าสกุลเงินที่ยังมีมูลค่าหลักทรัพย์มากที่สุดยังคงเป็นบิทคอยน์และอีเธอเรียม ในช่วงสิ้นปี 2021 มูลค่าของสกุลเงินทั้งสองยังคิดเป็น 60% ของโลกสกุลเงินดิจิทัลทั้งหมด บิทคอยน์มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามตลาดทั้งหมดอยู่ที่ $894,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีราคาซื้อขายล่าสุดอยู่ที่ $47,000 โดยประมาณ ในขณะที่อีเธอเรียมมีมูลค่าตามตลาดทั้งหมด $445,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีราคาซื้อขายล่าสุดอยู่ที่ $3,715
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ CoinMarketCap ในช่วงสิ้นปี 2020 มูลค่าของตลาดสกุลเงินดิจิทัลทั้งหมดมีอยู่ที่ $767,482 ล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ 31 ธันวาคมปี 2021 มูลค่านั้นเพิ่มขึ้นเป็น $2,223 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นการเติบโตขึ้นเกือบ 2.9 เท่า โดยที่ทั้งบิทคอยน์และอีเธอเรียมมีมูลค่ารวมกันเกือบ $1.34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขยับเข้าใกล้บริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกอย่างแอปเปิล (NASDAQ:AAPL) ที่ $2.913 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเข้าไปเรื่อยๆ
ปี 2021 ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าขาขึ้นของบิทคอยน์จะไม่ได้โดดเด่นเท่ากับปี 2020 แต่ก็ถือว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดเปิดในช่วงต้นปี 2021
ที่มา: Barchart
กราฟรูปนี้ไฮไลท์จุดต่ำสุดของบิทคอยน์ในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ตอนนั้นบิทคอยน์มีมูลค่าอยู่ที่ $28,986.74 ขยับขึ้นมาทำจุดปิดที่ $46,329.11 ในวันสุดท้ายของปี 2021 คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 59.83% แม้ว่าจะปรับตัวลดลงมาจากจุดสูงสุดตลอดกาล $68,906.48 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 32.77% ก็ตาม
ปี 2021 ต้องยอมรับว่าเป็นปีที่อีเธอเรียมสร้างขาขึ้นได้งดงามกว่าบิทคอยน์
ที่มา: Barchart
ในช่วงสิ้นปี 2020 ราคาซื้อขายอีเธอเรียมเคยมีราคาอยู่ที่ $738.912 อย่างไรก็ตามในวันที่ 31 ธันวาคมปี 2021 ราคาซื้อขายของอีเธอเรียมได้เปลี่ยนเป็น $3,688.877 คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบห้าเท่า แม้ว่าจะยังมูลค่าตามตลาดตามหลังบิทคอยน์ แต่การเติบโตของอีเธอเรียมในปีที่แล้วกำลังส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง
คริปโตฯ จะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ
การเติบโตของโลกสกุลเงินดิจิทัลสะท้อนให้เห็นจำนวนผู้คนที่ตื่นรู้กับเรื่องระบบทางการเงิน การครอบงำทางอ้อมจากรัฐบาล และความพยายามที่จะปฏิเสธสกุลเงินที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่กำลังกัดกินมูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และอื่นๆ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความล้มเหลวในการบริหารปริมาณเงินในระบบของรัฐบาล ประชาชนไม่หลงกลเทคนิคการพิมพ์เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ ของรัฐบาลอีกต่อไป
ในภาคของเอกชนเองก็ได้มีการผลักดันให้เกิดการใช้สกุลเงินดิจิทัลอย่างเป็นระบบมากขึ้น แม่ทัพอย่างแจ็ค ดอร์ซีย์ CEO ของสแควร์ (NYSE:SQ) อดีตผู้สร้างทวิตเตอร์และอีลอน มัสก์ เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา (NASDAQ:TSLA) และบุคคลแห่งปี 2021 จากนิตยสารไทม์ต่างออกมาสนับสนุนการใช้สกุลเงินดิจิทัลอยู่ตลอดเวลา การเติบโตนี้ควบคู่ไปกับการทำระบบให้เป็นพลังงานสะอาด และการทำธุรกรรมที่รวดเร็ว ได้ประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อีเธอเรียมมีแต่บิทคอยน์ไม่มี
สิ่งที่ต้องจับตาบนเส้นทางการเติบโตของสกุลเงินดิจิทัลในปี 2022
ในปี 2021 เราได้เห็นการเติบโตหลักๆ อยู่สองประการ หนึ่งคือการถือกำเนิดขึ้นของ DeFi โลกการทำธุรกรรมที่ไร้ตัวกลาง และความนิยมของ GameFi ที่กำลังจะปฏิวัติวงการเกมให้สามารถกลายเป็นอาชีพขึ้นมาจริงๆ ผลตอบแทนที่เหลือเชื่อทำให้นักเก็งกำไรแห่กันไปที่สินทรัพย์ดิจิทัลถึงแม้จะมีความผันผวน หากในปี 2022 แนวโน้มความนิยมยังคงเติบโตเช่นนี้ต่อไป มีโอกาสที่แนวโน้มขาขึ้นจะสามารถกลับมาเป็นฝ่ายคุมเทรนด์ได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การเติบโตนี้ถือเป็นดาบสองคม เพราะอย่าลืมว่าคริปโตฯ เปรียบเสมือนคู่แข่งของระบบการเงินของรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าภาครัฐย่อมจับตาอย่างใกล้ชิด และพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของพวกเขาเองควบคู่ไปด้วยกัน พวกเขารู้ดีว่าการเติบโตของคริปโตฯ ถือเป็นความเสี่ยงที่จะทำลายระบบการเงินที่พวกเขาสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ แต่การจะเข้าไปสกัดการใช้งานของผู้คนในทันทีก็ถือเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นรัฐจึงต้องควบคุมคริปโตฯ อย่างเป็นระบบด้วยเช่นกัน
ด้วยมูลค่ารวมทั้งตลาดที่ยังเล็กกว่าบริษัทแอปเปิล ภาครัฐจึงยังไม่มองคริปโตฯ เป็นภัยคุกคามต่อระบบการเงินมากเท่าไหร่ ต่อให้คริปโตฯ จะมีความผันผวนมากแค่ไหน ก็ยังไม่มีพลังทำลายล้างอย่างเช่นที่โควิดทำ และยิ่งคริปโตฯ เติบโตขึ้นอย่างสร้างสรรค์มากขึ้นเรื่อยๆ รัฐก็ยิ่งรู้วิธีที่จะเลียนแบบ และทำสกุลเงินของพวกเขาให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ความเสี่ยงที่นักลงทุนควรจับตาคือ ถ้าหากวงการสกุลเงินดิจิทัลในปี 2022 ยังเติบโตในความเร็วที่เท่ากับปี 2020 หรือ 2021 จนดันให้มูลค่าตลาดแซงบริษัทแอปเปิลได้ ก็มีโอกาสที่เราจะได้เห็นภาครัฐดำเนินการกับโลกคริปโตฯ อย่างรัดกุมมากขึ้น
ความจริงอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่ฝั่งผู้สนับสนุนคริปโตฯ ต้องยอมรับความจริงคือมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งหมด $2 ล้านล้านกว่าเหรียญของโลกคริปโตฯ ยังเทียบไม่ได้กับปริมาณการซื้อขายด้วยสกุลเงินปกติโดยเฉลี่ยที่สูงถึง $5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน นี่คือความจริงที่ตอกย้ำว่าภาครัฐยังเป็นฝ่ายกุมกระเป๋าเงินของคนในชาติเอาไว้ พวกเขายังคงมีอำนาจที่จะเพิ่มหรือลดปริมาณเงินในระบบอย่างไรก็ตาม โดยถึงแม้ว่าจะมีคนไม่เห็นด้วย แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่รัฐบาลบอก การมีความรู้ไปจนถึงในระบบที่ควบคุมการเงินทั้งหมดด้วยตัวเองยังเป็นอะไรที่ซับซ้อน ยุ่งยาก ที่สำคัญ บางคนแม้จะรู้เรื่องนี้ แต่ก็ยินดีที่จะให้รัฐบาลควบคุม เพราะง่ายกับการดำรงชีวิตของพวกเขามากกว่า
มีคำพูดหนึ่งในปี 2021 ที่ผมชอบยกมาเขียนในบทความของผมเสมอคือคำพูดของเรย์ ดาลิโอ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเจ้าของหนังสือ Principles เคยกล่าวเอาไว้ว่า
“ผมคิดว่าท้ายที่สุดของเรื่องนี้ (หมายถึงการเติบโตของโลกสกุลเงินดิจิทัล) ต่อให้ทุกอย่างจบลงอย่างสวยงาม ทุกคนมีความรู้ด้านการเงินกันหมด และไม่เชื่อใจระบบการเงินของรัฐ สิ่งที่รัฐจะทำเพื่อการกำจัดสกุลเงินดิจิทัลเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายมาก พวกเขาก็แค่ห้ามคุณไม่ใช้มัน เมื่อพวกมันเติบโตขึ้นจนถึงจุดๆ หนึ่งที่มองว่าเป็นภัย พวกเขาจะหาทางกำจัดมันอย่างแน่นอน”
ในปี 2022 อาจจะเป็นปีที่เราได้เห็นการต่อสู้อย่างจริงจังระหว่างการเงินของภาครัฐ กับฝ่ายที่สนับสนุนการเงินเสรีจากโลกคริปโตฯ อย่างเป็นทางการมากขึ้น ข่าวดีของการประยุกต์ใช้จากภาคเอกชนจะทำให้มูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเมื่อภาครัฐตัดช่องทางการทำธุรกรรมคริปโตฯ มากขึ้น ข่าวเหล่านั้นจะทำให้มูลค่ารวมของโลกคริปโตฯ ลดลง
ปีนี้อาจเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นมูลค่ารวมของตลาดสกุลเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น $3-5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าโชคดีพอ เราอาจจะได้เห็นตัวอย่างการใช้สกุลเงินดิจิทัลจริงๆ จากประเทศจีน พวกเขาจะกลายเป็นแม่แบบให้ภาครัฐทั่วโลก (รวมถึงอเมริกา) ได้ศึกษาว่าจะทำอย่างไรที่จะดึงคนที่หันไปเชื่อในคริปโตฯ กลับมาเชื่อใจในภาครัฐดังเดิมได้ หากจะกล่าวว่าปี 2022 จะเป็นยกแรกที่คริปโตฯ ถ้าชิงตำแหน่งเจ้าของโลกการเงินยุคใหม่อย่างเป็นทางการก็คงจะไม่ผิดมากนัก