เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นยืนเหนือ 1.6% หลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนกันยายนออกมาน่าผิดหวัง จนทำให้นักลงทุนวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะได้ข้ออ้างเลื่อนการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ออกไปอีกครั้ง
ในวันที่ 8 ตุลาคม การรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ประจำเดือนกันยายนโดยกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ ได้ตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 194,000 ตำแหน่ง เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ 500,000 ตำแหน่ง ข่าวดีก็คืออัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากตัวเลขคาดการณ์ 5.1% ลดลงมาเหลือ 4.8%
อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงแบบเดือนต่อเดือนเพิ่มขึ้น 0.6% ในขณะที่ตัวเลขแบบปีต่อปีออกมาอยู่ที่ 4.6% นายสตีฟ มนูชิน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูกเบิร์กเกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้อของอเมริกาในตอนนี้ว่า
“ผมเป็นห่วงจริงๆ ว่าเงินเฟ้อของประเทศเราในตอนนี้จะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ เราอาจจะได้เห็นอัตราผลตอบแทนฯ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะ 3.5% ภายในปีนี้เลยก็เป็นได้ นี่ยังไม่นับรวมกับหนี้สาธารณะและงบประมาณในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล”
ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่อัตราผลตอบแทนฯ ปรับตัวขึ้นจาก 1.55% ตามตัวเลขการจ้างงานฯ เมื่อวันศุกร์ สตีฟได้ไปลงทุนด้วยเงินส่วนตัวของเขา และสามารถทำกำไรได้ $2,500 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับกองทุนใหม่ของเขาที่มีชื่อว่า Liberty Strategic Capital
เงินเฟ้อเป็นตัวพลักดันให้สถานการณ์ในตลาดพลังงานแย่ลง
สภาวะเงินเฟ้อในตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาของอเมริกาประเทศเดียวแล้ว แต่กำลังเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้น 0.50% จุดเบสิส จนทำให้ตอนนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรญี่ปุ่นมีตัวเลขอยู่ที่ 0.85% เมื่อวันจันทร์ที่พึ่งผ่านมา
สถานการณ์ในยุโรปก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน เมื่อพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง อัตราผลตอบแทนจึงวิ่งสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหราชอาณาจักร อายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้น 5 จุดเบสิสหลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ได้ออกมาเตือนอย่างเป็นทางการถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับเงินเฟ้อ
ขาขึ้นของอัตราผลตอบแทนของสหราชอาณาจักร ทำให้อัตราผลตอบแทนในหลายๆ ประเทศของยุโรปวิ่งขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นอัตราผลตอบแทนของเยอรมันอายุ 10 ปีก็เพิ่มขึ้นมา 2.5 จุดเบสิส คิดเป็น -0.108%
อย่างไรก็ตามนายฟิลิป เลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กลับยังไม่เป็นห่วงสถานการณ์เงินเฟ้อและผลกระทบที่จะตามมาเท่าไหร่ ถึงจะยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจริง แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นต้องออกนโยบายการเงินใดมาสกัด ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในเดือนธันวาคมปี 2022 หรือไม่ก็เดือนกันยายนปี 2022
เกี่ยวกับการเร่งตัวของภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าเป็นเพราะราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และปัญหาซัพพลายเชนขาดแคลน ตอนนี้ราคาน้ำมันดิบ WTI ของสหรัฐฯ สามารถขึ้นมายืนเหนือ $80 ต่อบาร์เรล ในขณะที่เบรนท์สามารถยืนเหนือ $83 ต่อบาร์เรล นักเศรษฐศาสตร์บางคนถึงชั้นประเมินว่าอาจได้เห็นราคาน้ำมันที่ระดับ $100 ต่อบาร์เรล
ที่น่ากังวลคือในช่วงฤดูหนาวปีนี้ ถ้าราคาน้ำแพงจะหันไปพึ่งพลังงานใดได้บ้าง เพราะแม้แต่ราคาก๊าซธรรมชาติก็ยังสามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่เหนือ $6 mmBtu ได้ แม้ว่าปัจจุบันจะวิ่งลดลงมาอยู่ต่ำกว่า $5.5 mmBtu แล้วก็ตาม ตอนนี้รัฐบาลที่เน้นโลกสีเขียวอาจต้องระงับแผนโลกสวย และใช้พลังงานฟอสซิลเพื่อให้ผ่านฤดูหนาวปีนี้ไปให้ได้ก่อน
ภาพรวมของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลประเทศต่างๆ เป็นตัวสะท้อนภาพการฟื้นตัวที่จากแค่ชะลอตัว ตอนนี้เริ่มกลายเป็นคำว่าเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ถ้าอัตราผลตอบแทนสหรัฐฯ สามารถขึ้นมาถึง 1.6% ได้ เราอาจจะได้เห็นอัตราผลแทนที่ 1.75% อย่างรวดเร็ว นักเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าการที่ผู้คนยังไม่กลับไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารอย่างครึกครึ้น และหนังเจมส์ บอนด์ ที่เป็นภาคสุดท้ายของเดเนียล เคร็กกลับไม่สามารถสร้างกระแสได้เท่าที่ควร คือผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อทั้งสิ้น
ธนาคารโกลด์แมน แซคส์เขียนในโน๊ตถึงลูกค้าของธนาคารว่าปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตขึ้นเพียง 5.6% ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อน 5.7% ในไตรมาสที่สอง โกลด์แมน แซคส์เคยคาดการณ์เอาไว้ว่าการเติบโตในปีนี้จะมีตัวเลขอยู่ที่ 6.7% ส่วนในปี 2022 นั้นโกลด์แมน แซคส์ก็ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตลงจาก 4.4% เป็น 4% เท่านั้น
การเติบโตชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นคือสัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังจะตามมาในอนาคต