การวิเคราะห์ทางเทคนิคมีหรือจะสู้ปัจจัยพื้นฐานที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงได้ แม้ว่าอินดิเคเตอร์เส้นค่าเฉลี่ยทั้งหลายจะส่งสัญญาณ overbought กันหมด ตอนนี้โลกตะวันตกสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ความต้องการพลังงานจึงกลับมาเกือบจะกลายเป็นช่วงก่อนโควิด แต่เพราะการผลิตน้ำมันยังคงอยู่ในระดับเดิม จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราจะเห็นราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
ผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (OPEC+) เมื่อวันจันทร์ปฏิเสธความหวังของนักลงทุน ที่ต้องการเห็น OPEC+ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อลดความกดดันครั้งนี้ ก่อนที่การประชุมจะเริ่มขึ้น ตลาดหวังว่า OPEC+ จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตจาก 400,000 บาร์เรลต่อวัน แต่กลายเป็นว่าการประชุมนั้นได้ข้อสรุปคงการผลิตเอาไว้ดังเดิมที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ไม่มีการชี้แจงอะไรออกมาจากการประชุมครั้งนั้น นอกจากซาอุดิอาระเบียที่บอกกับ Wall Street Journal ว่ากลุ่มโอเปกยังมีความสุขดีกับระดับราคาในปัจจุบัน และเชื่อว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในตลาดน้ำมัน
ที่มา: SK Charting
มีข้อมูลที่ไม่ได้ถูกบันทึกออกมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์บอกว่ากลุ่มโอเปกกังวลเรื่องการแพร่ระบาดรอบที่สี่ ดังนั้นสมาชิกจึงไม่อยากดำเนินการเพิ่มการผลิตแล้วต้องกลับมาตัดสินใจลดทีหลัง ในสายตาของนักลงทุน พวกเขาอาจจะคิดว่ากลุ่มโอเปกกลัวโควิดมากเกินไป แต่ต้องไม่ลืมว่าการประชุมทุกๆ ต้นเดือนมีจุดประสงค์เพื่อที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานได้ทุกเดือนตามต้องการ
ที่สำคัญ การที่โจ ไบเดนหันไปให้ความสำคัญกับนโยบายพลังงานสะอาด ยิ่งทำให้กลุ่มโอเปกได้ใจว่าพวกเขาจะกลับมาเป็นมหาอำนาจผู้ผลิตน้ำมันอีกครั้ง เพราะแม้ว่าผู้ผลิตน้ำมันในอเมริกามีความต้องการที่จะขุดเจาะเปิดบ่อน้ำมันเพิ่มมากเท่าไหร่ แต่เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่ต้องแบกรับในแง่ของต้นทุนที่มากขึ้น บริษัทผู้ผลิตน้ำมันเหล่านั้นก็เลือกที่จะเลี่ยงความเสี่ยงไปก่อน
ไม่ใช่แค่เรื่องการงัดข้อกับนโยบายพลังงานสะอาดที่ดูแล้วเสี่ยงเกินไป แต่ในช่วงนี้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ยังต้องการที่จะเอาเงินที่ได้ไปมอบให้กับผู้ถือหุ้นมากกว่าหลังจากที่ขาดทุนมาอย่างหนักในปีที่แล้ว เท่ากับว่าตอนนี้อเมริกาไม่ได้อยู่ในจุดที่พร้อมจะสู้กับโอเปกในเรื่องของการผลิตน้ำมัน สก๊อตต์ เชฟฟิลด์ หัวหน้าทีมขุดเจาะน้ำมันจากบริษัท Pioneer Natural Resources (NYSE:PXD) ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ในตอนนี้ว่า
“บริษัทผู้ผลิตน้ำมันจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของผู้ถือหุ้น หลังจากที่ปีที่แล้วพวกเราต้องอ้อนวอนพวกเขาให้อยู่เป็นผู้สนับสนุนของเราต่อไป ไม่ว่าราคาน้ำมันเบรนท์จะขึ้นถึง $75 $80 หรือ $100 ต่อบาร์เรลหรือไม่ ผู้ถือหุ้นถึงกับพูดเลยว่าหากบริษัทไหนสามารถกลับมาเติบโตได้ พวกเขามีรางวัลให้เป็นการซื้อหุ้นเพิ่ม”
CEO ของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันชื่อดัง Chevron Corp (NYSE:CVX) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อเร็วๆ นี้ว่าที่จริงนั้นบริษัทผู้ผลิตน้ำมันพร้อมแล้วที่จะเพิ่มกำลังการผลิต แต่เมื่อดูจากราคาน้ำมันในปัจจุบันแล้วไม่ใช่จุดที่พวกเราจะยอมรับได้
เลียม เดนนิ่ง หนึ่งในคอมลัมนิสต์ตลาดพลังงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์กให้ความเห็นว่า
“แม้การผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันของสหรัฐฯ จะสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดเมื่อ 10 ปีที่แล้วได้ แต่สถานการณ์ในตอนนี้นั้นไม่เหมือนกัน จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ประกอบการนักลงทุนที่มีแต่จะต้องการกำไรมากขึ้นๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตมีราคาที่แพงขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าโอเปกจะต้องจ่ายค่าต้นทุนการผลิตไม่ต่างจากสหรัฐฯ แต่ต้นทุนของพวกเขาก็ยังถือว่าถูกกว่าอยู่ดี”
แต่ถึงแม้ว่าต้นทุนการผลิตจะแพงแค่ไหน และถึงแม้ว่าโจ ไบเดนจะต้องการเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดอย่างไร ก็ต้องยอมรับว่าในตอนนี้ความต้องการน้ำมันในปัจจุบันยังคงสูง และถ้าสหรัฐฯ ไม่ผลิต ก็มีผู้ผลิตอื่นที่พร้อมจะรับตำแหน่งนั้นแทน จึงไม่ต้องแปลกใจหากว่าสิ้นปีนี้เราจะได้เห็นราคาน้ำมันกลับขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในปี 2017 แม้แต่ค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของประเทศ OECD ตอนนี้ยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายคาดการณ์
อีกปัจจัยหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนกับขาขึ้นของราคาน้ำมันดิบคือก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ ราคาก๊าซธรรมขาติสามารถขยับตัวขึ้นยืนเหนือ $6 ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คิดเป็นการปรับตัวขึ้นมามากถึง 130% เมื่อก๊าซธรรมชาติมีราคาแพง ประกอบกับฤดูหนาวที่ใกล้จะมาถึง ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกที่ต้องหันไปใช้พลังงานจากน้ำมันมากขึ้น และยิ่งเพิ่มโอกาสให้ตลาดน้ำมันปรับตัวขึ้นต่อไป
เลียม เดนนิง กล่าวว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป สุดท้ายความเสียหายก็จะวนกลับมาส่งผลกระทบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาน้ำมันขาดแคลนจะส่งผลกระทบมากกว่าปัญหาซัพพลายเชนขาดแคลนในตอนนี้หลายเท่า
ดังนั้นคำถามสำคัญในตอนนี้ที่นักลงทุนอยากรู้จึงเป็น “ราคาน้ำมันในระยะสั้นจะวิ่งขึ้นไปได้อีกไกลแค่ไหน?”
ธนาคารเพื่อการลงทุนชื่อดังโกลด์แมน แซคส์วิเคราะห์ว่าเราอาจจะได้เห็นราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ระดับราคา $90 ต่อบาร์เรล ในขณะที่สแตนดาร์ด ชาร์ตเตอร์บอกว่าที่ระดับราคา $80 ต่อบาร์เรลยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของขาขึ้นครั้งนี้อย่างแน่นอน สุดท้ายเราจะปิดบทความนี้ด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิคของนักวิเคราะห์คนเดิม Sunil Kumar Dixit นักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ SK Charting จากประเทศอินเดีย เขาได้ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคมาอธิบายว่าทำไมราคาน้ำมันดิบ WTI ยังมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นต่อแม้ว่าราคาจะอยู่ในระดับ overbought แล้วก็ตาม
“จากการวิเคราะห์รายเดือน รายสัปดาห์และรายวันจะเห็นว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงรักษาทรงวิ่งอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น อินดิเคเตอร์ RSI ยังคงอยู่ในโซน overbought โดยที่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะย่อตัวกลับลงมาภายในสัปดาห์สองสัปดาห์นี้ แนวโน้มขาขึ้นจะยังเป็นฝ่ายคุมเทรนด์ ตราบใดที่ยังสามารถยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน และระดับราคา $69.88 ต่อบาร์เรล”
“ในส่วนของการวิเคราะห์ทางเทคนิค” เขากล่าวต่อ “ถ้าเห็นราคาน้ำมันวิ่งลงต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 5 วันที่ $76.58 ต่อบาร์เรล หรือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 5 สัปดาห์ที่ $74.52 ต่อบาร์เรล บริเวณนั้นอาจจะเป็นสัญญาณของการปรับฐาน ที่อาจลงไปถึงเส้นค่าเฉลี่ย 200 เดือนที่ $69.88 ต่อบาร์เรล ระดับราคานี้อ้างอิงมาจากการวัดด้วย Fibonacci Retracement ที่วัดจากจุดสูงสุด $77.17 ต่อบาร์เรล และจุดต่ำสุด $62.05 ต่อบาร์เรล”
“ส่วนฝั่งขาขึ้น” เขากล่าวปิดท้าย “เป้าหมายที่ใกล้ที่สุดคือ $80.73 ต่อบาร์เรล ที่ระดับราคา 123.6% และ $82.95 ต่อบาร์เรลที่ 138.2% หากสูงขึ้นไปยิ่งกว่านั้นคือ $84.73 และ $86.51 ต่อบาร์เรล”