ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เริ่มต้นเดือนตุลาคมเมื่อวันศุกร์ด้วยหน้าตาที่สดใสพอสมควร ดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก ISM แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีการเติบโตขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ นอกจากนี้ตลาดหุ้นยังได้รับข่าวดีเมื่อบริษัทเมิร์ค (NYSE:MRK) สามารถส่งยาโมลนูพิราเวียร์ ยาต้านโควิดชนิดใหม่ผ่านการทดลองในเฟสที่ 3 ได้สำเร็จ แต่สิ่งที่ยังคงทำให้นักลงทุนกังวลไม่เลิกก็ยังคงเป็นภาวะเงินเฟ้อ ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2021 ที่ใกล้จะถึงเวลาแล้ว
นอกจากสามปัจจัยที่กล่าวมา นักลงทุนต้องไม่ลืมว่าถึงแม้วันศุกร์ที่แล้วจะตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม แต่กลับไม่ได้รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) เพราะการรายงานตัวเลขนี้จะเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะได้ตัวเลขการจ้างงาน “ดีดี” อีกหนึ่งครั้งก่อนประกาศลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในการประชุมเดือนพฤศจิกายนหรือไม่คือสิ่งที่ตลาดจะให้ความสำคัญมากที่สุด
การขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ แม้จะถูกเลื่อนออกไปเป็นการประชุมในวันที่ 18 ตุลาคม แต่นักลงทุนก็ต้องการทราบความเป็นไปได้ในระหว่างนี้อย่างต่อเนื่อง และต้องไม่ลืมว่าที่ฝั่งเอเชียก็ยังมีประเด็นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง “เอเวอร์แกรนด์” (OTC:EGRNY) (HK:3333) ผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งที่สอง และยังไม่รู้ว่าดราม่านี้จะจบลงเช่นไร ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่กำลังรอนักลงทุนอยู่ในการเปิดตลาดลงทุนเดือนตุลาคมอย่างเป็นทางการ
จิม แครมเมอร์ ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ “แมด มันนี่” ซึ่งเป็นช่องเกี่ยวกับการเงินบนช่อง CNBC วิเคราะห์ว่าการปิดคำสั่งซื้อขายเพื่อทำกำไรก่อนจะมีส่วนสำคัญกับการกดดันตลาดหุ้นก่อนรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2021 ในขณะเดียวกันก็มีนักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นว่าปรากฎการณ์ “October Effect” จะเป็นปัจจัยฉุกรั้งตลาดหุ้นอเมริกาตลอดทั้งเดือน ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยกดดันอย่างการประชุมเฟด โควิดที่ทำให้ซัพพลายเชนขาดแคลนและลามกลายมาเป็นเงินเฟ้อ นักวิเคราะห์สายคิดบวกบางคนก็ยังเชื่อว่าตลาดหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้
งานวิจัยจาก CFRA ระบุว่าตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ค่าเฉลี่ยการเติบโตของดัชนีเอสแอนด์พี 500 ในไตรมาสที่สี่มีตัวเลขอยู่ที่ 3.9% คิดเป็นการเติบโต 80% ของช่วงเวลาที่ทำการวิจัยทั้งหมด เท่ากับว่างานวิจัยนี้กำลังบอกว่าไตรมาสที่สี่จะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเอสแอนด์พี 500 แต่ก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเดือนตุลาคมมักจะเป็นเดือนที่ตลาดลงทุนมีความผันผวนสูงถึง 36% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนอื่นๆ ในรอบปี
พฤติกรรมการวิ่งของดัชนีเอสแอนด์ 500 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็เริ่มส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง
จากรูปจะเห็นว่าดัชนีเอสแอนด์พี 500 สร้างรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) ขนาดเล็กเสร็จไปแล้ว ตัวดัชนีปรับตัวลดลงต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2020 ตอนนี้กราฟอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน ซึ่งถือเป็นสัญญาณขั้นแรกของการเริ่มทำแนวโน้มขาลง อินดิเคเตอร์ RSI ก็ได้ปรับตัวลดลงต่ำกว่าเส้นซัพพอร์ตตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 เราจึงค่อนข้างเป็นกังวลว่าแท่งเทียนขาขึ้นเมื่อวันศุกร์อาจจะเป็นเพียงการกลับขึ้นมาทดสอบแนวรับที่ทะลุลงมาแล้วเท่านั้น
หากดูหุ้นทุกกลุ่มบนเอสแอนด์พี 500 จะเห็นว่ามีเพียงหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคเท่านั้นที่ทรงตัว นอกนั้นอีกสิบกลุ่มสามารถจบวันศุกร์ด้วยการปิดบวกทั้งหมด ส่งให้ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้น 1.15% แต่หากพิจารณาตลอดทั้งสัปดาห์ จะเห็นว่าหุ้นทุกกลุ่มไม่สามารถปิดบวกได้เลยยกเว้นกลุ่มพลังงาน (+5.8%) หุ้นที่ติดลบมากที่สุดคือกลุ่มเฮลท์แคร์ (-3.5%) และเทคโนโลยี (-3.3%) และถ้าดูตลอดทั้งเดือนกันยายน ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวลดลงมา 4.8% ได้ปิดเดือนติดลบครั้งแรกในรอบเก้าเดือนล่าสุด
ถึงแม้จะเจ็บปวดเพียงใด แต่ผลงานที่ย่ำแย่ของเอสแอนด์พี 500 ก็ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว ในวันนี้ซึ่งถือว่าเป็นเดือนใหม่ มีหุ้นตัวใดน่าจับตาดูบ้าง....
เริ่มต้นด้วยหุ้นของบริษัท AMC Entertainment Holdings (NYSE:AMC) เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์มาร์เวลเรื่อง “เวน่อม” ซึ่งในตอนนี้ก็ได้เดินทางมาถึงภาคที่ 2 และกำลังจะเข้าฉายในทุกโรงภาพยนตร์ที่สหรัฐอเมริกา นักวิเคราะห์เชื่อว่ายอดขายตั๋วของภาพยนตร์ฮีโร่เรื่องนี้จะสามารถทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และอาจจะทำกำไรได้มากที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาด
เมื่อพิจารณาที่ราคาหุ้นของ AMC จะเห็นว่ากราฟยังคงวิ่งอยู่ในรูปแบบไซด์เวย์ โดยที่อินดิเคเตอร์ RSI อยู่ในระดับ overbought และกำลังสร้างรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) ภายในอินดิเคเตอร์ ถึงแม้ว่าหุ้นบริษัทจะได้รับข่าวดีจากการที่ CEO ออกมาทวิตเมื่อวันอังคารที่แล้วว่าผู้ถือหุ้นที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม AMC Investor Connect สามารถซื้อตัวและพาเพื่อนไปดูภาพยนตร์ได้ฟรี
ต่อมา บริษัท PepsiCo (NASDAQ:PEP) จะรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ในวันอังคารที่ 5 ตุลาคม ก่อนตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เปิด นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขการปันผลต่อหุ้นจะมีตัวเลขอยู่ที่ $1.73 ในขณะที่กำไรรวม เป๊ปซี่จะสามารถทำได้ $19,320 ล้านเหรียญสหรัฐ
การวิเคราะห์ทางเทคนิคในรูปนี้กำลังส่งสัญญาณบอกว่าหุ้นเป๊ปซี่ได้สร้างรูปแบบหัวไหล่เสร็จเรียบร้อยแล้ว สถานการณ์ของหุ้นเป๊ปซี่คล้ายกันกับดัชนีเอสแอนด์พี 500 อินดิเคเตอร์ RSI ก็ได้ปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าเส้นแนวรับที่วางที่วางมาตั้งแต่เดือนมีนาคม
บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มเบียร์ ไวน์ และน้ำแร่ธรรมชาติ Constellation Brands (NYSE:STZ) และ Levi Strauss (NYSE:LEVI) จะรายงานผลประกอบการในวันเดียวกันกับบริษัทเป๊ปซี่ แต่บริษัทแรกจะรายงานผลประกอบการก่อนเปิดตลาด ในขณะที่อีกบริษัทจะรายงานผลประกอบการหลังจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ปิด
นักวิเคราะห์คาดการณ์ตัวเลขอัตราผลกำไรต่อหุ้น (EPS) ของ STZ จะออกมาอยู่ที่ $2.78 และตัวเลขกำไรจะมีมูลค่าสูงถึง $2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ EPS ของบริษัท Levi Strauss จะมีตัวเลขอยู่ที่ $0.3736 และมีตัวเลขกำไรอยู่ที่ $1,480 ล้านเหรียญสหรัฐ
ภาพการวิเคราะห์ทางเทคนิคของหุ้น Constellation Brands แสดงให้เห็นราคาที่วิ่งอยู่ในจุดต่ำสุดก่อนการรายงานผลประกอบการ แม้จะมีโอกาสปรับตัวกลับขึ้นมาได้ แต่อย่าลืมว่าการปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าเส้นเทรนด์ไลน์ และวิ่งอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย นั่นคือสัญญาณของแนวโน้มขาลง
ความนิยมที่มีต่อการเกงยีนส์ของผู้คนยังคงไม่เสื่อมคลาย ยิ่งการได้กลับไปทำงานที่บ้านมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องแต่งตัวเป็นทางการมากนักยิ่งทำให้กางเกงยีนส์ขายดีขึ้นเรื่อยๆ นักวิเคราะห์เชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้หุ้นของลีวายปรับตัวขึ้น
แต่ลักษณะการวิ่งของกราฟนั้นแตกต่างออกไปจากยอดขายของบริษัทโดยสิ้นเชิง เราเห็นการฟอร์มตัวอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมขาลง และการปรับตัวลดลงต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน สัญญาณเหล่านี้มีความเสี่ยงว่าหุ้นอาจจะปรับตัวลดลงได้ในอนาคตอันใกล้ จุดตัดสินว่าจะกลายเป็นขาลงจริงหรือไม่นั้นอยู่ที่ระดับราคาต่ำกว่า $24
ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอาหารสหรัฐฯ “Conagra” (NYSE:CAG) พึ่งจะประกาศแผนปรับเพิ่มการปันผลรายไตรมาสในวันที่ 1 ธันวาคมปี 2021 เชื่อว่าข่าวดีนี้จะส่งผลต่อการรายงานผลประกอบหารที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม ก่อนตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เปิด นักวิเคราะห์คาดว่าบริษัทจะมีตัวเลขการปันผลกำรต่อหุ้นอยู่ที่ $0.48 และมีตัวเลขกำไรในไตรมาสนี้อยู่ที่ $2,520 ล้านเหรียญสหรัฐ
หุ้นของ Conagra ปรับตัวลดลงต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 50 และ 100 สัปดาห์ ตอนนี้กราฟกำลังทดสอบเส้นแนวรับ 200 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นแนวต้านหลักนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2020
แม้ว่าจะมีรายงานผลประกอบการของบริษัทชื่อดัง แต่เราเชื่อว่าความสนใจของนักลงทุนจะหันไปอยู่ที่การรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในวันศุกร์ การรายงานตัวเลขการจ้างงานครั้งนี้เชื่อว่าจะมีความสำคัญมากกว่าครั้งไหน เพราะตัวเลข NFP ประจำเดือนกันยายนอาจจะเป็นตัวตัดสินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเลื่อนหรือยอมลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันจันทร์
02:30 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: ครั้งก่อนปรับตัวลดลง -1.7%
23:30 (ออสเตรเลีย) การประชุมดอกเบี้ยของธนาคารกลาง: คาดว่าจะคงเดิมอยู่ที่ 0.10%
วันอังคาร
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการบริการ: คาดว่าจะคงที่ 54.1 จุด
10:00 (สหรัฐฯ) ดัชนี PMI ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตจาก ISM: คาดว่าจะลดลงจาก 61.7 เป็น 60.0 จุด
21:00 (นิวซีแลนด์) การประชุมดอกเบี้ยของธนาคารกลาง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 0.25% เป็น 0.50%
วันพุธ
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการก่อสร้าง: คาดว่าจะลดลงจาก 55.2 จุดเป็น 55.0 จุด
08:15 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรจากภาคเอกชน ADP: คาดว่าจะลดลงจาก 430K เป็น 374K
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: ตัวเลขของสัปดาห์ก่อนออกมาอยู่ที่ 4.578 ล้านบาร์เรล
วันพฤหัสบดี
07:30 (ยูโรโซน) การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงจาก362K เป็น 350K
10:00 (แคนาดา) ดัชนี PMI จาก IVEY: ตัวเลขในเดือนสิงหาคมออกมาอยู่ที่ 63.8 จุด
วันศุกร์
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขอัตราการว่างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก 5.21% เป็น 5.1%
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลขอัตราการจ้างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก 90.2K เป็น 60.0K
หมายเหตุ: ตลาดหุ้นจีนปิดทำการตลอดทั้งสัปดาห์เนื่องในวันหยุดประจำชาติ