การปรับตัวลดลงของดัชนีดอลลาร์สหรัฐและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลส่งให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสร้างจุดสูงสุดใหม่ในรอบสัปดาห์ เช่นเดียวกับราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นเพราะความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีน ที่ยังคงเป็นข่าวให้จับตามอง...เอเวอร์แกรนด์ (HK:3333) (OTC:EGRNY)
อย่างไรก็ตามขาขึ้นอย่างเต็มตัวนั้นอาจจะต้องรอสัปดาห์นี้ ที่ประธานเฟดนายเจอโรม พาวเวลล์ และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังมีนัดต้องแถลงต่อสภาคองเกรส และทำเนียบขาวต้องรอลุ้นมติจากสภาว่าจะสามารถขยายเพดานหนี้เพิ่มได้อีกหรือไม่ นักลงทุนจะได้ทราบข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ภายใน 24 ชั่วโมงนี้
การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา เจอโรม พาวเวลล์ก็ยังไม่ยอมที่จะเปิดเผยข้อมูลวันเวลาที่จะเริ่มลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มูลค่า $2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามเขาก็ได้บอกใบ้ถึงวันเวลาที่จะจบการลดวงเงิน QE คือในช่วงกลางปี 2022 ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่าภายในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมปีนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องประกาศลดวงเงิน QE อย่างแน่นอน
Eamonn Sheridan นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งถูกถามในรายการ ForexLive ว่าการแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟดในวันอังคารนี้จะเป็นเช่นไร? เขาให้ความเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะถูดกดดันให้ตรวจสอบวันเวลาที่จะประกาศเริ่มลดวงเงิน QE อีกครั้งว่าช้าเกินไปหรือไม่หากต้องรอให้ถึงช่วงกลางหรือปลายไตรมาสที่สี่ เพราะแม้กระทั่งแผนภูมิภาพแบบจุด (dot-plot) ของธนาคารกลางฯ ก็ยังเห็นด้วยว่าควรมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าได้แล้ว
สำหรับเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานเฟด เธอก็ต้องเตรียมรับมือกับสภาคองเกรสเช่นกันว่าท้ายที่สุดแล้วสภาจะยอมให้รัฐบาลขยายเพดานหนี้ขึ้นก่อนวันที่ 30 กันยายนนี้ได้หรือไม่ มิเช่นนั้นรัฐบาลจะต้องถูกชัตดาวน์ และอาจทำให้อเมริกาต้องเดินอยู่บนเส้นทางการผิดนัดชำระหนี้ ความเสี่ยงตามที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ประกอบกับกำลังการผลิตที่ยังไม่กลับมาจากถล่มของพายุเฮอริเคนก่อนหน้านี้ ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ห้าติดต่อกัน
ราคาซื้อขายน้ำมันดิบ WTI ที่ตลาดสิงคโปร์เวลา 06:03 GMT ปรับตัวขึ้นมา 1.5% หรือคิดเป็น $1.07 มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $75.05 ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็สามารถปรับตัวขึ้นมาได้ 1.3% คิดเป็น $1.02 มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $78.25 บาร์เรล สัปดาห์ที่แล้วราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวขึ้น 2.8% ในขณะที่เบรนท์ปรับตัวขึ้น 3.7% เฉพาะปีนี้ราคาน้ำมันทั้งสองปรับตัวขึ้นมาแล้วมากกว่า 50%
อีกหนึ่งสินค้าโภคภัณฑ์ที่กลายมาเป็นจุดสนใจอย่างมากในปีนี้คือตลาดก๊าซธรรมชาติ ที่กำลังอยู่บนเส้นทางว่าจะสามารถวิ่งขึ้นถึง $6 mmBtu หรือไม่ ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน ราคาก๊าซธรรมชาติสร้างขาขึ้นมาแล้วมากกว่า 100% ล่าสุดราคาก๊าซธรรมชาติก็ได้ขยับขึ้นมาอีก 3.6% มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $5.385 ต่อ mmBtu
สินทรัพย์สำรองอันดับหนึ่งของโลกอย่างทองคำได้โอกาสขึ้นมาหายใจเหนือ $1,750 อีกครั้ง เพราะได้รับปัจจัยเชิงบวกจากความเสี่ยงที่ได้กล่าวไป แม้จะปรับตัวขึ้นได้ 0.4% มีราคาซื้อขายเหนือ $1,758 แต่สถานการณ์ของทองคำก็ยังไม่น่าไว้ใจ ทองคำยังคงวิ่งอยู่ใกล้ๆ กับแนวรับล่าสุดที่ $1,745 ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวลดลง 0.8% และดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลงมาที่ 93.23 จุด
เจฟฟี่ ฮัลลีย์ หัวหน้านักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ OANDA แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกวิเคราะห์ว่าความกังวลเกี่ยวกับประเด็นของเอเวอร์แกรนด์ถือเป็นปัจจัยยั่วยวนนักลงทุนให้เข้ามาช้อนซื้อในจังหวะที่ตลาดปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก
“ถึงแม้ว่าอินดิเคเตอร์ RSI จะวิ่งเข้าใกล้โซน overbought มากแล้ว และดัชนีวัดความผันผวนจากฝั่งอุปสงค์ของราคาน้ำมันดิบเบรท์จะระบุว่าอีกไม่นานอาจจะได้เห็น $80 ต่อบาร์เรล แต่ด้วยปัญหาซัพพลายน้ำมันขาดแคลนในเอเชีย และความต้องการพลังงานที่กำลังจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว ยิ่งทำให้นักลงทุนอยากเข้ามาช้อนซื้อ ในทุกๆ ครั้งที่เห็นการย่อตัวลดลงมา”