นักลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับลดความคาดหวังของตัวเองที่มีต่อการลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลงหลังจากที่ได้เห็นดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศออกมาเมื่อวันอังคารมีตัวเลขอยู่ที่ 0.3% MoM ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ 0.4% MoM ในขณะเดียวกันตัวเลขราคาผู้บริโภคแบบปีต่อปี (YoY) มีตัวเลขอยู่ที่ 5.3% เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์อย่างแม่นยำ
เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กันยายน ตลาดพันธบัตรฯ และอัตราผลตอบแทนฯ เคยปรับตัวขึ้นตามดัชนีราคาผู้ผลิตที่ออกมาอยู่ที่ 8.3% แต่ทันทีที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประกาศออกมา ก็ได้ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรรัฐบาลและอัตราผลตอบแทนฯ ปรับตัวลดลงต่อจากวันจันทร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีได้ปรับตัวลดลงไปยัง 1.263% ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับขึ้นมาวิ่งอยู่ที่ 1.273% คิดเป็นการย่อตัวลงไปในวันนั้นห้าจุดเบสิส
นักลงทุนที่ก่อนหน้านี้เคยหวังเอาไว้ว่าจะได้เห็นธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดวงเงิน QE ภายในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในสัปดาห์หน้า เริ่มถอดใจและยอมรับว่าคงจะได้เห็นเฟดปรับลด QE ในการประชุมวันที่ 2-3 พฤศจิกายนแทน การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้าอาจจะเป็นเพียงการอัปเดตภาพรวมไตรมาสที่สาม และความเห็นของประธานเฟดแต่ละคนที่มีต่อเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย
การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลง หมายความว่านักลงทุนมีความสงสัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันมากขึ้น และเริ่มมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่าการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาได้ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาชะลอตัว ก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททำเหมือนกับไม่รู้ไม่เห็นว่าการจ้างงานชะลอตัว ทั้งๆ ที่ตัวเลขการจ้างงานในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นเพียง 235,000 ตำแหน่งเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ 720,000 ตำแหน่ง นับเป็นการเพิ่มขึ้นของตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่น้อยที่สุดในรอบเจ็ดเดือนล่าสุด
สถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐฯ ที่ไม่มีความแน่นอนก็มีส่วนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง มาตรการยืดระยะเพดานหนี้ออกไปอีกสองปีได้หมดอายุลงไปตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม จนนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ต้องออกมาเตือนรัฐบาลว่าหากไม่ดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม รัฐบาลจะหมดหนทางชำระหนี้ภายในเดือนหน้า
นอกจากนี้ ในวันที่ 1 ตุลาคมจะเป็นวันสุดท้ายที่รัฐบาลของโจ ไบเดนสามารถยื่นเรื่องต่อสภาเพื่อของบประมาณก้อนใหม่ หากไม่สามารถทำได้ รัฐบาลโจ ไบเดนอาจต้องยอมให้บางส่วนที่ทำงานอยู่หยุดดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลไปก่อน ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ชอบใช้วิธีหางบจากส่วนอื่นมายืดระยะเวลาออกไป ในครั้งนี้นักลงทุนจะเฝ้าจับตาดูว่าในวันที่ 1 ตุลาคม โจ ไบเดนจะสามารถดันจนเรื่องของบประมาณก้อนใหม่ ($3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ผ่านมติสภาคองเกรสได้หรือไม่ ความไม่แน่นอนเหล่านี้ทำให้เดือนกันยายนกลายเป็นเดือนที่มีความผันผวนสูงเป็นอย่างมาก
นักลงทุนตลาดพันธบัตรในยูโรโซนเริ่มได้รับอิทธิพลจากข่าวเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาแล้ว หลังจากการรายงานตัวเลข CPI ของอเมริกา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันอายุ 10 ปีปรับตัวลดลงมาจากจุดสูงสุดในรอบสองเดือนมีตัวเลขอยู่ที่ -0.345% ก่อนหน้านี้อัตราผลตอบแทนดังกล่าวเคยปรับตัวขึ้นไปเกือบแตะ -0.3% เพราะพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีชุดใหม่ไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้มากพอ
สถานการณ์การเลือกตั้งในเยอรมันกำลังน่าสนใจเลยทีเดียว ตอนนี้เหลือเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์แล้วก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง แต่ผู้ที่ได้คะแนนนำจากผลสำรวจคือนายโอลาฟ โชลซ์ อดีตนายกเทศมนตรีจากเมืองฮัมบวร์ค ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเป็นสมุหนายกของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี
หากโพลผลสำรวจนี้ถูกต้อง เยอรมันกำลังจะได้รัฐบาลใหม่ที่เป็นพรรคร่วมจากสามพรรคใหญ่ครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อีกโพลผลสำรวจหนึ่งระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปไตยคริสเตียนอาจได้เป็นผู้นำรัฐบาลแม้จะได้ผลการเลือกตั้งเป็นอันดับสอง ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการตกลงภายในของพรรคร่วมหลังจากการเลือกตั้งอีกที
ในขณะเดียวกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีอายุ 30 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5,750 ล้านยูโร ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีอายุ 10 ปีปรับตัวลดลงประมาณ 3.5 จุดเบสิสจากระดับ 0.65% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา