ในช่วงบ่ายของวันอังคารที่ตลาดหุ้นฝั่งเอเชีย เราพบว่าดอลลาร์สหรัฐพยายามที่จะชะลอการอ่อนค่าลงจากผลกระทบของตัวเลขการจ้างงานฯ เมื่อวันศุกร์ ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่เคยได้เปรียบจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐอย่างเช่น ทองคำ น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติปรับตัวลดลง เข้าสู่ภาวะความไม่แน่นอนอีกครั้ง
การรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนสิงหาคมเมื่อวันศุกร์สร้างความผิดหวังให้กับตลาดลงทุนเป็นอย่างมาก ตัวเลขการจ้างงานฯ ในเดือนสิงหาคมปรับเพิ่มขึ้นได้เพียง 235,000 ตำแหน่งเท่านั้น ห่างจากตัวเลขคาดการณ์ 733,000 ตำแหน่งมากถึง 70% แม้ว่าการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ตัวเลขการว่างงานกลับสามารถปรับตัวลดลงได้ 5.2% จากครั้งก่อน 5.4% ใกล้เคียงกับเป้าหมายตัวเลขการว่างงานที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องการเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ (เฟดต้องการตัวเลขว่างงาน 4% หรือต่ำกว่านั้น)
ก่อนหน้าที่จะมีการรายงานตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ตลาดลงทุนค่อนข้างเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่าต่อให้ตัวเลขการจ้างงานฯ จะเพิ่มขึ้นมาไม่ถึงตัวเลขคาดการณ์ แต่เฟดก็ยังจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ภายในเดือนนี้อยู่ดี เพราะสัญญาณทุกอย่าง (รวมถึงตัวเลขการจ้างงานในเดือนกรกฎาคม) ก็บ่งบอกแล้วว่าเศรษฐกิจอเมริกาสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้แล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไร (ในตอนนั้น) ให้คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป แต่เมื่อตลาดได้เห็นตัวเลขการจ้างงานเมื่อวันศุกร์ พวกเขาก็เริ่มทำใจแล้วว่าอาจจะไม่ได้เห็นการประกาศลด QE จากธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นแน่
ในเดือนนี้นักลงทุนยังมีลุ้นที่จะได้เห็นว่าสุดท้ายแล้วเฟดจะลด QE เลยหรือไม่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 21-22 กันยายน โดยปกติแล้วการประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยและการเงินอื่นๆ จากเท่าที่ประเมินความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นตอนนี้ พวกเขาไม่คาดหวังให้การประชุม FOMC คราวนี้จะมีการปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวขึ้นอีกแล้ว การจ้างงานเพิ่มขึ้นที่น้อยที่สุดในรอบเจ็ดครั้ง การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา ไม่มีเหตุผลใดที่จะเอาไปโต้แย้งกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เลย
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาได้เป็นเพราะธนาคารในประเทศแคนาดาและออสเตรเลียจะเริ่มยืดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกไปในสัปดาห์นี้ ดังนั้นผู้คนจึงหันมาถือครองดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินสำรองอันดับหนึ่งของโลก
ที่มา: SK Charting
ในช่วงเช้าของวันอังคารที่ตลาดหุ้นฝั่งเอเชีย ราคาทองคำปรับตัวลดลงมาจาก $1,830 แต่ยังสามารถยืนเหนือระดับราคา $1,800 นาย Sunil Kumar Dixit นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ SK Charting ประเทศอินเดีย มองว่าขาขึ้นของทองคำตอนนี้อาจจะถึงเพดานที่สามารถทำได้แล้วก็เป็นได้
“ชัดเจนแล้วว่าโซนราคาระหว่าง $1,825 - $1,835 คือโซนแนวต้านสำคัญของราคาทองคำ ตราบใดที่ราคาทองคำยังวิ่งอยู่ต่ำกว่า $1,826 - $1,825 ฝั่งสนับสนุนขาลงก็จะกดดันราคาทองคำให้ปรับตัวลงไปทดสอบ $1,818 หรือที่บริเวณเส้นกึ่งกลางของอินดิเคเตอร์โบลิงเจอร์ แบนด์ หากว่าสามารถลงไปต่ำกว่า $1,818 ได้เมื่อไหร่ ให้พิจารณาแนวรับ $1,811 ซึ่งตรงกับเส้นค่าเฉลี่ย EMA 5 สัปดาห์ และ $1,798 ที่เส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 สัปดาห์ได้เลย”
“ในทางตรงกันข้าม” เขากล่าวต่อ “ถ้าการพักฐานเกิดขึ้นที่บริเวณราคา $1,798 (ส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 สัปดาห์) อาจเปิดโอกาสให้ฝั่งขาขึ้นได้สะสมกำลัง และพาราคาทองคำทะยานขึ้นสู่ระดับราคาถัดไปที่ $1,860 ก่อนที่จะขึ้นไปทดสอบแนวต้านถัดไปที่ $1,900 เส้นค่าเฉลี่ยของอินดิเคเตอร์ RSI ก็ยังอยู่ระหว่าง 53/38 ยังมีพื้นที่ว่างให้กับแนวโน้มขาขึ้นอยู่พอสมควร” - Sunil Kumar Dixit กล่าว
ที่ตลาดซื้อขายน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันยังคงผันผวนเพราะความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันของนักลงทุนที่มีต่อการปรับลดราคาน้ำมันที่จะส่งไปทางฝั่งเอเชีย ราคาน้ำมันดิบ WTI เมื่อวานนี้ปรับตัวลดลง 17 เซนต์ มีระดับราคาซื้อขายอยู่ที่ $69.12 ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้น 31 เซนต์ ขึ้นมามีราคาซื้อขายอยู่ที่ $72.53 ต่อบาร์เรล
“หากว่าราคาน้ำมันดิบ WTI สามารถปรับตัวลดลงต่ำกว่า $68.30 ให้พิจารณาความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันอาจจะลงไปถึง $67.30 และ $65.38 ต่อบาร์เรล หากแนวรับ $65.38 เอาไม่อยู่ ให้พิจารณาแนวรับถัดไปรอเอาไว้ที่ $59.70 ต่อบาร์เรล ส่วนฝั่งขาขึ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ราคาสามารถขึ้นยืนเหนือ $69.30 ให้พิจารณาแนวต้านถัดไปที่ $70.75 และ $72.50 หากว่า WTI ขึ้นไปสูงกว่า $74.50 ได้เมื่อไหร่ ให้มองถึงแนวต้านที่ $77 ต่อบาร์เรลเอาไว้ได้เลย”
ทันทีที่ราคาก๊าซธรรมชาติสามารถวิ่งขึ้นมาเหนือ $4 ตลาดแห่งนี้ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นที่ถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้น ราคาซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่จะส่งมอบในเดือนตุลาคมสามารถปรับตัวขึ้นเป็นวันที่สี่ติดต่อกัน สร้างจุดสูงสุดเอาไว้ที่ $4.697 ต่อ mmBtu เฉพาะสัปดาห์ที่แล้ว ราคาสัญญาก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าปรับตัวขึ้น 8% และสัปดาห์ก่อนหน้านั้นเคยปรับตัวขึ้นมาแล้ว 13.5%
ผลกระทบจากพายุเฮอริเคนไอดาทำให้โรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติ 85% ต้องหยุดดำเนินการ หลังจากที่พายุอ่อนแรงลงแล้ว การผลิตในบางส่วนก็ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการต่อได้ และอาจต้องใช้เวลาสักระยะกว่าโรงงานจะสามารถกลับมาผลิตน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม เฉพาะปี 2021 ราคาก๊าซธรรมชาติสามารถปรับตัวขึ้นมา 86% นักวิเคราะห์ถึงกับประเมินไว้ว่ามีโอกาสได้เห็นราคาก๊าซธรรมชาติที่ $5 ต่อ mmBtu
นักวิเคราะห์จาก SK Charting คนเดิมประเมินสถานการณ์ของตลาดก๊าซธรรมชาติว่า
“ขาขึ้นของราคาก๊าซธรรมชาติที่ผ่านมายังทำได้ดีกับการยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 5 สัปดาห์ หรือที่ระดับราคา $4.40 มีโอกาสที่ราคาก๊าซธรรมชาติจะสามารถขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ $4.93 ในปี 2018 ได้เพราะอินดิเคเตอร์ RSI รายสัปดาห์ยังมีตัวเลขอยู่ที่ 85/68 อย่างไรก็ดี ธรรมชาติของแนวโน้มขาขึ้นมักจะต้องมีการปรับฐานระยะสั้น หากเมื่อไหร่ก็ตามที่เห็นราคาก๊าซธรรมชาติลงมาวิ่งต่ำกว่า $4.40 มีความเป็นไปได้ที่ราคาจะปรับตัวลดลงต่อไปยัง $4.20 และ $3.98”