การเริ่มต้นเดือนกันยายนอย่างเป็นทางการในวันนี้ทำให้นักลงทุนหันกลับมาให้ความสนใจกับตลาดแรงงานอีกครั้ง ซึ่งภาคเอกชนจะเป็นผู้เริ่มก่อนด้วยการรายงานตัวเลขการจ้างงานฯ จาก ADP ในช่วงเวลา 19:15 น. ตามเวลาประเทศไทย นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าตัวเลขการจ้างงานของ ADP ประจำเดือนสิงหาคมในวันนี้จะเพิ่มขึ้นจาก 330,000 ตำแหน่งขึ้นเป็น 625,000 ตำแหน่ง แม้ว่าตัวเลขจาก ADP จะดูดี แต่นักลงทุนก็ยังคงต้องจับตาดูการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรจริงในวันศุกร์ เพราะส่วนใหญ่แล้วตัวเลขทั้งสองนี้มักจะรายงานไม่ตรงกัน แต่ตลาดจะเคลื่อนไหวกับตัวเลขการจ้างงานในวันศุกร์มากกว่า
ดังนั้นหากว่าวันนี้ตัวเลขการจ้างงานจาก ADP ขยายตัวเพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้นักลงทุนได้ตื่นเต้นขึ้นมาบ้าง แต่ปฏิกริยาที่จะเกิดกับกราฟในตลาดต่างๆ อย่างเช่นสกุลเงิน พันธบัตร หรือตลาดหุ้นเชื่อว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวเพียงสั้นๆ เพราะข่าวดีนี้จะขัดแย้งกับรายงานตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและตัวเลข PMI จากชิคาโกที่หดตัวลดลงไปก่อนหน้านี้
การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และคงอีกไม่นานที่เราจะได้เห็นผลกระทบจากรายงานตัวเลขนี้เกิดขึ้นกับระดับความต้องการจริงของผู้บริโภค ชิคาโกเคยผ่านช่วงเวลาแห่งการชะลอตัวมาแล้วเช่นเดียวกันกับนิวยอร์กและฟิลาเดเฟีย และรายงานตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก ISM ในวันนี้จะแสดงให้เห็นว่าโควิดเป็นปัญหาของทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ระดับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่หม่นหมองก็ยังพอจะมีข่าวดีอยู่บ้างเมื่อตัวเลขราคาที่อยู่อาศัยในเดือนมิถุนายนจาก S&P CaseShiller เพิ่มขึ้นจนเป็นสถิติใหม่
กราฟ EUR/USD ขยับตัวขึ้นโดยไม่สนใจตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซนที่ไต่ระดับขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ แต่กลับสนใจแต่ข่าวดีจากตลาดแรงงานของเยอรมันที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดครั้งหนึ่งในรอบทศวรรษ การบอกใบ้ของคลาส น็อต ประธานธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์ถือว่าแม่นพอสมควรเพราะก่อนหน้านี้เขาเคยกล่าวว่า “รายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่กำลังจะออกมาในช่วงนี้อาจสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับนักลงทุนฝั่งขาขึ้น” ในขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสหราชอาณาจักรที่เป็นเจ้าของสกุลเงินปอนด์กลับไม่มีความเคลื่อนไหวใดเป็นพิเศษ ล่าสุดรายงานตัวเลขการอนุญาตและการเช่าที่ดินติดจำนองของสหราชอาณาจักรลดลง นั่นจึงทำให้สกุลเงินปอนด์ถูกกดดันเมื่อต้องเผชิญกับยูโรและดอลลาร์สหรัฐ
ถึงแม้ว่าในเดือนมิถุนายน เศรษฐกิจของแคนาดาจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เรื่องที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจสกุลเงินดอลลาร์แคนาดามากที่สุดในตอนนี้คือการหดตัว 0.3% ของตัวเลข GDP ในไตรมาสที่สอง จบสถิติการเติบโตเก้าเดือนติดต่อกันเป็นที่เรียบร้อย อันที่จริงเราไม่ประหลาดใจที่สถิตินี้ต้องจบลง เพราะการล็อกดาวน์ในไตรมาสที่สองไม่มีทางที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวได้ และเพราะเมื่อวานนี้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงเกือบ 1% กราฟ USD/CAD จึงพอที่จะขยับตัวขึ้นได้บ้าง
ในช่วงเช้าของวันนี้ออสเตรเลียมีการรายงานตัวเลข GDP ในไตรมาสที่สอง ถือเป็นข่าวดีที่ตัวเลข GDP ของออสเตรเลียสามารถออกมาได้ 0.7% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ 0.5% แม้จะไม่เท่าตัวเลข 1.9% ของไตรมาสก่อนหน้าก็ตาม การล็อกดาวน์ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงไม่ต้องเดาเลยว่าตัวเลขในไตรมาสที่สามจะต้องออกมาแย่กว่าของไตรมาสที่สองอย่างแน่นอน การระบาดระลอกใหม่ที่วิคตอเรียทำให้ต้องล็อกดาวน์เป็นครั้งที่สี่ ห้า และตอนนี้ก็ครั้งที่หกแล้ว แม้แต่ซิดนีย์ที่เป็นเมืองใหญ่ยังต้องล็อกดาวน์มาตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายนถึงปัจจุบัน
นักเศรษฐศาสตร์พยายามจะหาข่าวดีมาสนับสนุนมุมมองแง่บวกกับเศรษฐกิจออสเตรเลียบ้าง แต่เมื่อตัวเลข GDP ยังหดตัวลดลง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากในอนาคตดอลลาร์ออสเตรเลียจะอ่อนค่าลงมากกว่านี้ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาดอลลาร์ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะเป็นสองสกุลเงินที่เคยสลัดข่าวร้ายอย่าง PMI จากจีนหดตัว การอนุญาตก่อสร้างในออสเตรเลียลดลง หรือความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจจาก ANZ ออกไปได้ แต่แรงส่งเหล่านั้นไม่มีความหมายเลยเมื่อต้องมาเจอกันดัชนี PMI ภาคการผลิตและ GDP ที่ลดลง