-
สัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาการระบาดของ Delta กดดันให้ตลาดการเงินเผชิญการปรับฐานในเกือบทุกสินทรัพย์ ยกเว้น สินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง ดอลลาร์ และ บอนด์
-
ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ งานประชุมวิชาการประจำปีของเฟด ณ เมือง Jackson Hole ซึ่งตลาดจะรอลุ้นทิศทางการปรับลดมาตรการคิวอีของเฟด
-
ความต้องการ “Safe Haven” ในระยะสั้น คือปัจจัยหนุนโมเมนตัมของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจผันผวนและพลิกอ่อนค่าลงได้บ้าง หากสุดท้ายเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณหรือข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทยอยลดคิวอี หรือ เฟดแสดงความกังวลปัญหาการระบาดของ Delta ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดลดโอกาสที่เฟดจะรีบลดคิวอี ส่วนในฝั่งเงินบาท เราคาดว่าผู้เล่นในตลาดจะรอคอยงานประชุมวิชาการเฟด Jackson Hole ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways โดยโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ยังคงเป็นโซนแนวต้านสำคัญ ส่วนแนวรับเงินบาทอยู่ใกล้โซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ บรรดาผู้นำเข้าต่างรอทยอยเข้ามาแลกเงินดอลลาร์
-
มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้
33.00-33.50 บาท/ดอลลาร์
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
-
ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินโอกาสของการทยอยลดคิวอีของเฟดในปีนี้ โดยตลาดจะให้ความสำคัญกับข้อมูลด้านตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีการจ้างงานของรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ทั้งนี้ ตลาดจะจับตางานประชุมวิชาการเฟด (Jackson Hole Symposium) ซึ่งตลาดคาดว่า เฟดอาจมีการส่งสัญญาณถึงการทยอยลดคิวอี รวมถึงมีความชัดเจนในแนวทางการปรับลดคิวอี เช่น อัตราการลดคิวอี เป็นต้น โดยตลาดการเงินอาจผันผวนสูงขึ้นได้ หากเฟดส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะลดคิวอีได้ในปีนี้ และ เฟดอาจลดคิวอีในอัตราที่สูงกว่ามุมมองของตลาด ส่วนในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดมองว่าปัญหาการระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจกดดันให้ทั้งภาคการผลิตและการบริการของสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ดังจะเห็นได้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ ที่จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 62.3 จุด และ 59.2 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ขยายตัว)
-
ฝั่งยุโรป – ตลาดประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 อาจกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปไม่มากนัก เพราะ ดัชนี PMI ของทั้งภาคการผลิตและการบริการของยุโรป ในเดือนสิงหาคม ยังอยู่ที่ระดับ 62 จุด และ 59.5 จุด ตามลำดับ สะท้อนถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตและการบริการ เช่นเดียวกันกับในฝั่งอังกฤษ ทั้งดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนสิงหาคม ก็ยังอยู่ที่ระดับ 59.5 จุด และ 59 จุด ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ปัญหาการระบาดในยุโรปอาจทำให้ ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลง สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (Ifo Business Climate) เดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 100 จุด
-
ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7-day Repo) ไว้ที่ระดับ 0.50% หลังเกาหลีใต้เผชิญการระบาดของ COVID-19 อีกครั้ง ทว่า BOK ก็อาจเริ่มส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ ขึ้นดอกเบี้ย หากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง และเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อระบบการเงินจากภาวะดอกเบี้ยต่ำ ทั้งนี้ ในฝั่งญี่ปุ่น เศรษฐกิจอาจส่งสัญญาณฟื้นตัวจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตที่หนุนโดยความต้องการสินค้าทั่วโลก โดยเฉพาะ Semiconductor, เครื่องใช้ไฟฟ้า และ เคมีภัณฑ์ สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนสิงหาคมที่ระดับ 53 จุด ส่วนภาคการบริการ แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะยังคงหดตัวจากปัญหาการระบาดของ Delta แต่ภาคการบริการก็เริ่มฟื้นตัว สะท้อนจากการปรับตัวขึ้นของ ดัชนี PMI ภาคการบริการที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 หมายถึง หดตัว) ส่วนในฝั่งเวียดนาม การฟื้นตัวเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน จากปัญหาการระบาดที่ยังคงรุนแรงอยู่และทำให้รัฐบาลยังคงต้องใช้ มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวด ซึ่ง ตลาดมองว่า ผลกระทบจากปัญหาการระบาดจะทำให้ ยอดส่งออกของเวียดนามในเดือนสิงหาคม โตลดลงเหลือ +5%y/y สอดคล้องกับ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ที่จะโตราว 2%y/y
-
ฝั่งไทย – ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงคลัสเตอร์การระบาดในโรงงานไทย อาจกดดันให้ ยอดการส่งออก (Exports) เดือนกรกฎาคม ขยายตัวในอัตราชะลอลงเหลือ +20%y/y เช่นเดียวกันกับ ยอดนำเข้า (Imports) ที่จะโตเพียง 38%y/y จากการนำเข้าวัตถุดิบ รวมถึง สินค้าเพื่อบริโภคในประเทศที่ลดลง ทั้งนี้ โดยรวม ดุลการค้าของไทยยังคงเกินดุลกว่า 950 ล้านดอลลาร์