ถ้าจะให้พูดสั้นๆ กระชับ ได้ใจความก็คือสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงด้วยความกังวลต่อเรื่อง…
- ความต้องการน้ำมันในประเทศจีนอาจลดลง
- ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจของอเมริกาไม่ได้สดใสแข็งแกร่งมากเท่าไหร่นัก
- การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ ที่เข้ามาพอดีกับการระบาดของโควิดระลอกใหม่
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตระหนักเอาไว้เสมอว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากันทั่วโลกส่งผลให้ความต้องการน้ำมันในแต่ละภูมิภาคนั้นย่อมจะแตกต่างกันออกไป ถึงแม้ว่าจะยังมีปัจจัยกดดันในภาพรวมเป็นการระบาดของโควิดอยู่ก็ตาม ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่านักลงทุนควรต้องติดตามเรื่องอะไรในการลงทุนสัปดาห์หน้า
1. ประเทศจีน
ข้อมูลจากประเทศจีน (ที่ต้องฟังหูไว้หู) ได้เปิดเผยว่าการเติบโตของกิจกรรมภาคการผลิตในเดือนกรกฎาคมลดลง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบหนึ่งปีที่การเติบโตของภาคโรงงานในประเทศนี้หดตัว ตัวเลขดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนที่ลงทุนอยู่ในประเทศจีนว่าการผลิตของพวกเขาที่เคยแข็งแกร่งมาตลอดจนเป็นผู้นำของเอเชียกำลังง่อนแง่น
เมื่อเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวหรือถึงขั้นหดตัว ก็จะส่งผลให้ความต้องการน้ำมันภายในประเทศลดลงด้วย ที่สำคัญตอนนี้นักลงทุนเริ่มกลับมาเป็นกังวลเกี่ยวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศจีนอีกครั้ง 46 เมืองตอนนี้ต้องใช้มาตรการคุมเข้ม จำกัดการเดินทางของประชากรในตำแหน่งที่พบว่ามีการระบาดเกิดขึ้น
นอกจากนี้ประเทศจีนกำลังพยายามเข้ามาควบคุมโรงกลั่นน้ำมันอิสระขนาดเล็ก โรงกลั่นน้ำมันเหล่านี้จำเป็นต้องรายงานโควตาการผลิตที่พวกเขาสามารถนำเข้าให้กับรัฐบาลจีนได้ ล่าสุดภาครัฐพึ่งได้มีการเจรจาโควตากับกลุ่มบริษัทผู้กลั่นน้ำมันว่าพวกเขาสามารถผลิตน้ำมันได้สูงสุดเท่าไหร่ และสามารถส่งมอบให้ภาครัฐหรือนำไปขายได้เท่าไหร่ เพราะการผลิตน้ำมันมากเกินไปของผู้ประกอบการเหล่านี้ทำให้รัฐต้องแบกมาร์จิ้นกำไรที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นนักลงทุนอาจจะเห็นการนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศจีนลดลงเพราะสาเหตุเหล่านี้
2. สหรัฐอเมริกา
ข้อมูลตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนกรกฎาคมจาก ISM ลดลง โดยสาเหตุหลักๆ เป็นเพราะว่าวัสดุก่อสร้างขาดแคลนและภาวะเงินเฟ้อ ถึงแม้ว่าข้อมูลตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรจากภาคเอกชน (ADP) เปิดเผยว่าการจ้างงานในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 330,000 ตำแหน่ง ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขการจ้างงานที่ประกาศออกมาในเดือนมิถุนายน ที่สำคัญตัวเลขดังกล่าวยังน้อยกว่าตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินเอาไว้ที่ 653,000 ตำแหน่ง
รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังจาก EIA ที่ประกาศข้อมูลของสัปดาห์ที่แล้วเพิ่มขึ้น แต่น้ำมันเชื้อเพลิงสำรองลดลง นักวิเคราะห์ให้เหตุผลว่าสาเหตุที่ตัวเลขคลังน้ำมันดิบสำรองเพิ่มขึ้นเป็นเพราะปริมาณการส่งออกลดลง ไม่ใช่เพราะความต้องการน้ำมันภายในประเทศลดลง ดังนั้นนักลงทุนจึงควรจับตาดูตัวเลขการส่งออกน้ำมันในสัปดาห์หน้า หากตัวเลขการส่งออกลดลง จึงจะสามารถตีความได้ว่าความต้องการน้ำมันของโลกกำลังลดลง
อีกสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนน้ำมันควรจับตาในสัปดาห์หน้าคือความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ นักลงทุนต้องดูว่าตัวเลขดังกล่าวจะปรับตัวลดลงหรือไม่ เพราะช่วงเวลาพักร้อนของสหรัฐฯ ในหลายๆ พื้นที่ของประเทศจะเริ่มหมดลง โรงเรียนในพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ จะเริ่มกลับมาเปิดภาคเรียนในช่วงต้นเดือนถึงกลางเดือนสิงหาคม ดังนั้นการใช้งานน้ำมันเชื้อเพลิงน่าจะลดลงเพราะโรงเรียนได้กลับมาเปิดแล้ว
3. กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร (OPEC+)
ข้อมูลผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยว่ากลุ่ม OPEC ได้ผลิตน้ำมันเพิ่มมาในเดือนกรกฎาคมอีก 610,000 บาร์เรลต่อวันเทียบกับการผลิตในเดือนมิถุนายน และตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา กลุ่ม OPEC+ ก็ได้เพิ่มกำลังการผลิตอีก 400,000 บาร์เรลต่อวันตามที่ตกลงกันไว้ในการประชุมประจำเดือน พวกเขายังมีแผนที่จะคงการเพิ่มกำลังการผลิตในตัวเลขนี้ไปเรื่อยๆ ทุกเดือนจนถึงเดือนเมษายนปี 2022
นักลงทุนในตอนนี้จึงแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝั่งหนึ่งกังวลว่าหากโอเปก+ ยังเพิ่มกำลังการผลิตเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ ก็อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง แต่นักวิเคราะห์อีกกลุ่มหนึ่งก็แย้งว่ากลุ่มโอเปก+ มีการประชุมทุกเดือน หากพวกเขาเห็นว่าสถานการณ์การระบาดรุนแรงขึ้น พวกเขาโอกาสที่จะเปลี่ยนนโยบายเพิ่มกำลังการผลิตนน้ำมันได้ตลอด
ซาอุดิ อารัมโก (SE:2222) บริษัทผู้ผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของซาอะดิอาระเบียได้ปรับเพิ่มตัวเลขราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (OSP) ในเดือนกันยายนที่จะส่งออกไปยังเอเชีย หากประเทศผู้ซื้อเริ่มเกิดความลังเลในการซื้อน้ำมันจากอารัมโกรอบนี้ นี่อาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกความต้องการน้ำมันในฝั่งเอเชียไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่คาดการณ์ อนึ่ง ซาอุดิ อารัมโก คือผู้ส่งน้ำมันมากกว่า 60% ให้กับทวีปเอเชีย
4. อินเดีย
นักลงทุนในตลาดน้ำมันห้ามมองข้ามความต้องการน้ำมันในประเทศอินเดียเป็นอันขาด ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นระบุว่าความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นเป็น 646,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ว่าอินเดียจะเคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก อินเดียยังคงนำเข้าน้ำมันจากประเทศตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง