-
สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดการเงินกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 มากขึ้น ส่งผลให้ บรรยากาศตลาดการเงินโดยรวมกลับมาสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง
-
จับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และ รายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก อย่างใกล้ชิด หลังสถานการณ์การระบาดเริ่มน่ากังวลมากขึ้นและอาจกดดันให้ตลาดกลับมาสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยงได้
-
ทิศทางเงินดอลลาร์อาจ Sideways ในระยะสั้น โดยปัจจัยแข็งค่า คือ ความต้องการ Safe Haven asset จากปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก แต่ทว่า หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวมากกว่าคาด ก็อาจกดดันเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าลงได้ ส่วนในฝั่งเงินบาท ปัญหาการระบาด COVID-19 ที่ยังไม่ถึงจุดเลวร้ายสุด อาจสร้างแรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าต่อได้ถึงระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะในกรณีที่เงินดอลลาร์ก็กลับมาแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงเข้ามาช่วยลดความผันผวนของเงินบาท เพื่อให้ภาคธุรกิจปิดความเสี่ยงค่าเงินได้ทัน
-
มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้
32.70-33.20 บาท/ดอลลาร์
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
-
ฝั่งสหรัฐฯ – ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจกดดันให้ภาคการบริการขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนกรกฎาคม อาจชะลอลงสู่ระดับ 60 จุด ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมนั้นยังคงได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น จะยังสามารถขยายตัวได้ดี โดย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) เดือนกรกฎาคม อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 60.9 จุด ทั้งนี้ การจ้างงานอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่บ้าง แต่โดยรวม ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกรกฎาคม จะเพิ่มขึ้นกว่า 8 แสนตำแหน่ง หนุนให้อัตราว่างงานลดลงเหลือ 5.7% นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการที่แข็งแกร่งและดีกว่าคาดจะช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนได้ อนึ่ง ควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Bowman & Clarida (วันพุธ) และ Waller (วันพฤหัสฯ) ถึงมุมมองต่อการทยอยลดคิวอีของเฟด เพราะทั้งสามท่านล้วนเป็นคณะกรรมการ FOMC และมีส่วนในการตัดสินแนวทางการปรับลดคิวอี
-
ฝั่งยุโรป – เศรษฐกิจอังกฤษมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown แม้ว่าล่าสุด อังกฤษจะพบการระบาดที่เพิ่มสูงขึ้น แต่สถานการณ์ก็ยังไม่น่ากังวล เนื่องจากยอดผู้ป่วยหนักและยอดผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มในอัตราเร่งตามยอดผู้ติดเชื้อใหม่ อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดอาจทำให้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ทั้ง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Bank Rate) ที่ระดับ 0.10% และเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องต่อ ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อาจทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินบางส่วนเริ่มสนับสนุนการทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องในปลายปีนี้ หรือ ช่วงต้นปีหน้า
-
ฝั่งเอเชีย – ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลให้เศรษฐกิจในโซนเอเชียมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้น กดดันให้บรรดาธนาคารกลางในเอเชียเลือกที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยในสัปดาห์นี้ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cash Rate) ที่ระดับ 0.10% และเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการคุม yields curve เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ที่แม้ว่าสถานการณ์การระบาดจะเริ่มดีขึ้น หลังเกิด Natural Herd Immunity ซึ่งแลกมาด้วยความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมมหาศาล ทำให้ RBI จำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate) ที่ระดับ 4.00% ต่อไป ส่วนในฝั่งจีน ตลาดอาจเริ่มกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งอาจสะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Caixin Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนกรกฎาคม ที่จะลดลงสู่ระดับ 51 จุด และ 50.2 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) นอกจากนี้ ปัญหาการระบาดของ Delta ล่าสุดในเมืองใหญ่ อาทิ กรุงปักกิ่งและนครฉงชิ่ง ก็อาจสร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจีนในระยะสั้นได้
-
ฝั่งไทย – ปัญหาการระบาด COVID-19 ที่มีแนวโน้มเลวร้ายต่อเนื่องจะกดดันให้เศรษฐกิจซบเซาลงมากกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยประเมินไว้ ทำให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เลือกที่จะคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% และเน้นย้ำถึงการใช้นโยบายการเงินเฉพาะจุด อาทิ การเร่งเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจที่ต้องการ ผ่านโครงการพักทรัพย์พักหนี้ หรือ Soft loans เป็นต้น นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลงจากปัญหาการระบาด โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนจะกดดันให้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือนกรกฎาคม ชะลอลงสู่ระดับ 0.10% ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ก็จะชะลอลงสู่ระดับ 1.0% เช่นกัน โดยอัตราเงินเฟ้อยังได้แรงหนุนจากราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่แรงกดดันจะมาจากภาวะการบริโภคที่ซบเซาและมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของภาครัฐ อาทิ ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า