- เฟสบุ๊กจะรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ในวันพุธที่ 28 กรกฎาคมหลังตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ปิด
- คาดการณ์ตัวเลขรายได้: $27,850 ล้านเหรียญสหรัฐ
- คาดการณ์ตัวเลขการปันผลกำไรต่อหุ้น: $3.04
เมื่อพิจารณาจากลักษณะการวิ่งของกราฟหุ้นเฟสบุ๊ก (NASDAQ:FB) ในตอนนี้ เชื่อได้เลยว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่าในไตรมาสที่ 2 ปี 2021 บริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่จะยังสามารถแสดงรายงานตัวเลขผลกำไรที่เติบโตขึ้นได้เช่นเคย
หากเทียบกับเพื่อนทีอยู่ในกลุ่ม “5 เทพหุ้นเทคฯ (FAANG) ” อย่างเช่นแอปเปิล (NASDAQ:AAPL) หรืออะเมซอน (NASDAQ:AMZN) จะพบว่าหุ้นของเฟสบุ๊กในปีนี้ถือเป็นตัวหนึ่งที่เติบโตได้ดี ตลอดทั้งปีปรับตัวขึ้นมาแล้ว 30% จนในที่สุดก็สามารถมี market cap เกิน $1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐได้แบบเพื่อนคนอื่นๆ ในกลุ่มเรียบร้อย
นักวิเคราะห์ประเมินว่ารายได้ในไตรมาสนี้จะมีตัวเลขอยู่ที่ $27,850 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 49% เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ส่วนตัวเลขการปันผลกำไรต่อหุ้น (EPS) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก $1.80 เป็น $3.04 สิ่งที่ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่าเฟสบุ๊กจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นคือการกลับมาฝากโฆษณาของธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง ในยุคที่ผู้คนสามารถใช้เทคโนโลยีโซเชียลมีเดียเป็นกันมากขึ้นเพราะโควิด
ไม่ใช่เฉพาะนักวิเคราะห์เท่านั้น แต่สัญญาณทุกอย่างบ่งชี้ไปที่ความจำเป็นของการทำธูรกิจออนไลน์มากยิ่งขึ้น การขายสินค้าในโลกยุคหลังโควิดจะบังคับให้ทุกบริษัทต้องมีช่องทางการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และที่สำคัญ ก่อนรายงานผลประกอบการของเฟซบุ๊ก จะเห็นว่าแพตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างเช่นทวิตเตอร์ (NYSE:TWTR) หรือสแน็ป (NYSE:SNAP) ที่รายงานผลประกอบการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์กันได้หมด
เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงสาเหตุของความสำเร็จในไตรมาสที่ 2 จะพบว่าผู้ใช้งานแพลตฟอร์มของบริษัทโซเชียลมีเดียดเหล่านั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ของการรับสื่อความบันเทิงภายในบ้าน การติดตามข่าวสาร และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับอีกซีกโลกหนึ่งที่ยังคงเผชิญความยากลำบากจากวิกฤตโควิด ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ยอดผู้ใช้งานที่อยู่ในพื้นที่ที่ยังไม่มีการกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีแนวโน้มว่าจะใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับเฟสบุ๊กนั้นเคยมีตัวเลขยืนยันว่าสิ่งที่กล่าวมาได้เกิดขึ้นจริง สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยโควิดทำให้แม้จะปรับขึ้นราคาของการฝากพื้นที่โฆษณาขึ้นอีก 30% ในไตรมาสที่ 1 ก็ยังสามารถทำกำไรได้ และกำไรจากการฝากโฆษณาก็ยังเพิ่มขึ้นอีก 12% ด้วย
iOS เวอร์ชันใหม่คือความเสี่ยงของเฟสบุ๊กที่ทุกคนจับตา
ถึงแม้ว่านักวิเคราะห์หลายสำนักจะเห็นตรงกันว่ารายงานผลประกอบการในไตรมาสนี้ของเฟสบุ๊กไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่สิ่งที่ผู้คนอยากทราบคือเฟสบุ๊กจะมีนโยบาย หรือวิธีการอะไรในการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองให้สามารถติดตามพฤติกรรมผู้ใช้งานบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทแอปเปิลที่ iOS เวอร์ชันล่าสุดพึ่งเปิดให้มีตัวเลือก “ไม่ติดตามการใช้งานของฉัน” ได้
รายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กในช่วงต้นเดือนนี้ระบุว่าผู้ใช้งานมือถือไอโฟน (iPhone) ส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ให้แอปฯ อย่างเฟสบุ๊กติดตามพฤติกรรมการใช้งานของพวกเขา
“บริษัทผู้ลงทุนไปกับการฝากโฆษณาบนเฟซบุ๊กเรื่องมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้เห็นความมีประสิทธิภาพของการฝากโฆษณาลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ใช้งานมือถือของแอปเปิล” - บลูมเบิร์ก รายงาน
เรื่องนี้แม้กระทั่งผู้บริหารระดับสูงของเฟซบุ๊กยังออกมายอมรับด้วยตัวเอง นายเดวิด เวห์เนอร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของเฟซบุ๊กได้กล่าวในเดือนเมษายนว่า
“การที่แอปเปิลสร้างทางเลือกให้กับผู้ใช้งานไม่ให้ติดตามข้อมูล ทำให้การโฆษณาไปยังผู้ใช้งานคนนั้นๆ ทำได้ยากขึ้น ในขณะที่แอปเปิลเอาแต่กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน แต่พวกเขาเคยคิดบ้างไหมว่านี่คือการเพิ่มต้นทุนให้กับเจ้าของกิจการธุรกิจขนาดเล็กในแง่ของการฝากโฆษณา อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้”
โดยสรุปแล้ว
สำหรับการรายงานผลประกอบการในครั้งนี้เชื่อว่าคงจะไม่ใช่ปัญหาอะไรสำหรับเฟซบุ๊ก หากพิจารณาจากแนวโน้มที่ในอนาคตจะมียอดผู้ใช้งานมาใช้แพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และวอทท์แอป มากขึ้น อย่างไรก็ตามนโยบายรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานของบริษัทแอปเปิลจะเป็นความท้าทายใหม่ให้เฟซบุ๊กต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้กลับไปหาผู้ใช้งานของแอปเปิลได้อีกครั้ง