สัปดาห์ถือเป็นอีกสัปดาห์หนึ่งที่ตลาดน้ำมันผันผวนเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าหนึ่งในสาเหตุหลักคือปัญหาการเมืองภายของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และแนวทางการผลิตน้ำมันในอนาคตที่ได้ข้อสรุปแล้ว และอีกปัจจัยหนึ่งคือความต้องการน้ำมันในตอนนี้เริ่มกลับมามีแนวโน้มที่ไม่แน่นอนอีกครั้ง
แม้ว่าการประชุมของกลุ่ม OPEC+ จะได้ข้อสรุปไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ แต่ก็ยังไม่ใช่ทุกประเด็นที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ในบทความนี้เราจะพาไปดูกันว่ามีข้อมูลอะไรที่นักลงทุนน้ำมันสมควรทราบจากการประชุมครั้งนี้
- กลุ่ม OPEC+ จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเดือนละ 400,000 bpd ต่อเดือนโดยจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ซึ่งข้อความนี้หมายความว่านับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไปจนถึงเดือนธันวาคมปี 2021 จะมีปริมาณน้ำมันเพิ่มเข้าไปในซัพพลายโลกอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ปริมาณการผลิตน้ำมันเพิ่ม 400,000 bpd ต่อเดือนที่เพิ่มขึ้นมาจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีน้ำมัน 5.8 ล้านบาร์เรลต่อวันกลับเข้ามาในตลาด หากคำนวณตามระยะเวลาแล้ว เป้าหมายที่เราจะเห็นตัวเลข 5.8 ล้านบาร์เรลจะเกิดขึ้นภายในเดือนกันยายนปี 2022 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ เพิ่มเติมในอนาคต จากนั้นกลุ่ม OPEC+ จะกลับมาผลิตน้ำมันตามโควตา 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันอย่างที่เคยทำมาก่อนในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2020
- กลุ่ม OPEC จะปรับเปลี่ยนและเพิ่มตัวเลขฐานการผลิตน้ำมัน (baseline) ของประเทศสมาชิก ซึ่งมีตัวเลขฐานรวมสะสมสำหรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอยู่ที่ 1.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปกติแล้วตัวเลขนี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนข้อกำหนดให้แต่ละประเทศสมาชิกสามารถผลิตน้ำมันได้ในปริมาณสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน ตอนนี้ประเทศไนจีเรียและอัลจีเรียก็ยอมรับเงื่อนไขการปรับฐานตัวเลขการผลิตน้ำมันแล้ว แต่ยังไม่ยืนยันว่าจะยอมรับในทุกเงื่อนไขในสัญญาหรือไม่
- กลุ่ม OPEC+ มีสิทธิ์ที่จะหยุดดำเนินการตามแผนนี้ได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในกรณีที่มีเหตุการณ์สุดวิสัยหรือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่นมหันตภัยที่ส่งผลกับเศรษฐกิจหรือการถูกคว่ำบาตรด้วยเหตุผลทางการเมือง
- การประชุมจะยังคงดำเนินต่อไปเดือนละครั้งเหมือนเดิม โดยรอบในเดือนสิงหาคมจะถูกข้ามและไปเริ่มการประชุมอีกทีในวันที่ 1 กันยายน ซึ่งการประชุมก็จะยังเป็นวิดีโอคอลเหมือนเดิม
หลังจากที่การประชุมสิ้นสุดลง ทันทีที่ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เปิดในวันจันทร์ ราคาน้ำมันดิบทั้ง WTI และเบรนท์ก็ปรับตัวร่วงลงทันที ราคาน้ำมันทั้งสองร่วงลงไปวิ่งต่ำกว่า $70 ต่อบาร์เรล คิดเป็นขาลงประมาณ 7% ปัจจัยที่ทำให้ตลาดน้ำมันร่วงลงครั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะผลการประชุมของ OPEC+ เท่านั้น แต่ตลาดถูกทำให้กลัวมาก่อนด้วยเรื่องของการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์เดลตา
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทุกตลาด (ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ) ได้ร่วงลงไปแล้ว นักลงทุนก็เริ่มมีสติมากขึ้น ค่อยๆ พาราคาสินทรัพย์ปรับตัวกลับขึ้นมา จนกระทั้งในวันพุธราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็สามารถกลับขึ้นมายืนเหนือ $72 ต่อบาร์เรลได้อีกครั้ง ในขณะที่ WTI ยังปริ่มๆ ว่าจะยืนเหนือ $70 ต่อบาร์เรลได้หรือไม่
รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสามารถบอกถึงอุปสงค์น้ำมันในอนาคตได้
การดีดตัวกลับขึ้นมาครั้งนี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังจากสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา (EIA) ปรับตัวเพิ่มขึ้น ปกติแล้วถ้าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังเพิ่มขึ้น จะถือเป็นข่าวร้ายสำหรับความต้องการน้ำมันและมักจะกดดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง
สาเหตุที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังเพิ่มขึ้นแล้วราคาน้ำมันดิบยังสามารถขึ้นต่อได้ เป็นเพราะปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงคลังจาก EIA ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ข้อมูลนี้เป็นสิ่งที่ตลาดคาดไม่ถึง เพราะรายงานปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงคลังที่รายงานโดยหน่วยงานทดสอบคุณภาพน้ำมันเครื่องสหรัฐฯ (API) เมื่อวันอังคารระบุว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น
นักวิเคราะห์บางคนวิเคราะห์ให้เห็นว่าถึงแม้ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงคลังจะไม่เพิ่มขึ้น แต่ในรายงานก็มีข้อมูลที่บ่งบอกว่ามีส่วนประกอบบางชนิดที่ต้องใช้ผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น นี่หมายความว่าการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคตอันใกล้กำลังลดลง ซึ่งแปลความได้อีกทีว่าบริษัทที่เป็นผู้กลั่นน้ำมันรู้ว่าความต้องการพลังงานเชื้อเพลิงกำลังจะลดลง
ความจริงก็คือมีเหตุผลสนับสนุนให้เชื่อได้ว่าความต้องการน้ำมันจะไม่ปรับตัวขึ้นไปมากกว่านี้ และราคาน้ำมันมีสิทธิ์ปรับตัวลดลงเมื่อฤดูร้อนจบลง แต่ก็มีอีกฝั่งที่เชื่อว่าราคาน้พมันดิบจะยังสามารถปรับตัวขึ้นกลับไปได้ แม้จะไม่ต้องใช้ความเร็วมากเท่ากับขาขึ้นรอบก่อนหน้า
จากปัจจัยที่ได้อธิบายมา ประกอบกับการเปลี่ยนนโยบายของกลุ่ม OPEC+ คือสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบผันผวนอยู่ในตอนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาขึ้นในปีที่แล้วได้รับแรงสนับสนุนจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ ในขณะที่ปีนี้ได้เปลี่ยนนโยบายเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว