หลังจากที่นักลงทุนขาขึ้นฝั่งตะวันตกทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับการระบาดโควิดระลอกใหม่ ในที่สุดวันนี้พวกเขาก็หนีความจริงไม่พ้นว่าตลาดทุนอาจจะต้องเผชิญความเสี่ยงกับการรับมือโรคระบาดอีกครั้ง เมฆฝนที่เริ่มเข้ามาปกคลุมท้องฟ้าที่สดใส ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในตลาดหุ้นแต่ยังรวมไปถึงตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย
ตลาดน้ำมันดิบปรับตัวลดลงตลอดทั้งวันของการซื้อขายฝั่งเอเชีย 1.5% เพราะนอกจากความกังวลโควิด ยังมีเรื่องของการบรรลุข้อตกลงระหว่างกลุ่ม OPEC ที่จะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตเดือนละ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ขึ้นเรื่อยๆ ทุกเดือนในช่วงเดือนสิงหาคม - ธันวาคมปีนี้ ส่วนเรื่องข้อพิพาทก่อนหน้านี้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบียจะยกยอดไปชดเชยให้ในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2022 เป็นต้นไป
นอกจากน้ำมันดิบแล้ว สินค้าโภคภัณฑ์ตัวอื่นๆ ก็พากันปรับตัวลดลงหมดไม่ว่าจะเป็นทองคำ ทองแดง น้ำมันถ่ายเทความร้อน น้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบอื่นๆ
ไม่ใช่แค่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ดัชนีหุ้นตัวหลักๆ ของสหรัฐฯ ล่วงหน้าก็ปรับตัวลดลงมาหมดไม่ว่าจะเป็นดาวโจนส์ เอสแอนด์พี 500และแนสแด็ก ซึ่งสอดคล้องกับการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวขึ้นมายัง 92.76 จุด และอยู่ไม่ไกลจากจุดสูงสุดในรอบสามเดือนที่ 92.832 จุด ปรากฎการณ์นี้หมายความว่านักลงทุนเริ่มกลัวความเสี่ยงมากขึ้นและกำลังหันไปถือครองเงินสด
ในช่วงเจ็ดวันล่าสุดมีการพบยอดผู้ติดเชื้อโควิดใหม่สูงขึ้นทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและเอเชีย ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ยอดผู้ติดเชื้อรวมกันสูงเกินกว่าครึ่งล้านไปแล้ว ประเทศที่นักลงทุนเป็นกังวลที่สุดในตอนนี้คืออังกฤษเพราะก่อนหน้านี้พึ่งประกาศยกเลิกมาตรการคุมเข้มทางสังคมไป
โควิดสายพันธุ์เดลตา: สงครามรอบใหม่ระหว่างมนุษยชาติกับโรคระบาด
นายโรดริโก คาทริว นักวางกลยุทธ์การเงินอาวุโสแห่งธนาคารแห่งชาติออสเตรเลียได้พูดในรายการพอตแคสของธนาคารเมื่อเช้านี้ว่า
“ปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามาเป็นธีมการลงทุนในไตรมาสที่ 3 นี้คงต้องนับการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาเข้าไปร่วมด้วยแล้ว และเหตุผลนี้จึงทำให้นักลงทุนตัดสินใจหลีกหนีความเสี่ยงกันอีกครั้ง ส่วนฝั่งสหรัฐฯ นอกจากเงินเฟ้อ การหดตัวของตัวเลขตวามเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากมหาลัยมิชิแกนก็มีส่วนทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงก่อนปิดตลาดในช่วงสุดสัปดาห์”
ดังนั้นการเปิดตลาดลงทุนของสหรัฐฯ ในช่วงค่ำของวันนี้จึงต้องจับตาดูเป็นพิเศษว่าขาลงในเอเชียจะส่งต่อไปยังฝั่งตะวันตกด้วยหรือไม่ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในตอนนี้คงต้องยอมรับว่าต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะแก้ปัญหาโควิดระบาดได้อีกครั้ง ที่สำคัญสัปดาห์นี้นอกจากการรายงานตัวเลขดัชนี PMI ของบางประเทศแล้ว ตารางข่าวเศรษฐกิจของสัปดาห์ถือว่าค่อนข้างว่างทีเดียว ดังนั้นความสนใจของนักลงทุนอาจจะเปลี่ยนมาอยู่กับการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่
ขาลงในตลาดน้ำมันสะท้อนให้เห็นความกังวลเกี่ยวกับความต้องการน้ำมันดิบ
การพยายามเล่นเกมทางการเมืองเพื่อทำให้องค์กร OPEC+ สามารถได้ข้อสรุปที่พอใจ ทั้งเรื่องของการผลิตน้ำมันตั้งแต่เดือนหน้าไปจนถึงสิ้นปีและการพยายามกดกำลังการผลิตของตัวเองให้อยู่ต่ำกว่าความต้องการ ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงในสี่จากห้าวันล่าสุด อย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้ว่าข้อสรุปที่ออกมาคือการผลิตน้ำมันเพิ่มเดือนละ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหมายความว่าภายในช่วงห้าเดือนข้างหน้า OPEC+ จะเพิ่มน้ำมันเข้าไปในระบบทั้งหมด 2 ล้านบาร์เรล
ส่วนข้อถกเถียงที่เคยมีกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้น สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าในที่สุดก็สามารถปรับความเข้าใจกันได้ โดยที่ UAE จะได้สิทธิ์เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 3.168 ล้านบาร์เรลต่อวันในวันนี้เป็น 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2022 เป็นต้นไป นอกจาก UAE แล้วประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่ได้รับสิทธิ์ผลิตน้ำมันเพิ่มในช่วงเวลาเดียวกันคือซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย คูเวต และอีรัก ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียได้ปรับ baseline การผลิตขึ้นจาก 11 ล้านบาร์เรลเป็น 11.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และอาจจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตเข้าไปอีก 1.63 ล้านบาร์เรลภายในเดือนพฤษภาคมปีหน้า
อันที่จริงปริมาณน้ำมันที่จะเข้ามาในระบบทั้งหมด 2 ล้านบาร์เรลยังถือว่าน้อยกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์เคยประเมินเอาไว้ที่ 3.5 ล้านบาร์เรล แต่นั่นคือตัวเลขที่มาก่อนการระบาดโควิดสายพันธุ์เดลตา นอกจากเรื่องการผลิตน้ำมันของ OPEC ที่จบลงไปแล้ว ให้จับตาดูการส่งออกน้ำมันจากนอกอ่าวเปอร์เซียของอิหร่านเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ถูกคว่ำบาตร
สถานการณ์ของโควิดเดลตารอบนี้รุนแรงแค่ไหน?
การระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาในรอบนี้ยังคงมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานในบางประเทศ ยกตัวอย่างเช่นสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ประเทศไทย เป็นต้น จนต้องทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มทางสังคมอีกครั้ง รายงานยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในสหราชอาณาจักรเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2021 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่อังกฤษวางแผนไว้ว่าจะประกาศยกเลิกมาตรการคุมเข้มทางสังคมส่วนใหญ่ออก
นักวิเคราะห์จากธนาคาร เอเอ็นซี กล่าวว่า
“หลังจากที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ลดมาตรการคุมเข้มทางสังคมลงและเห็นยอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นจาก 500 เป็น 10,000 คนภายในสองสัปดาห์ รัฐบาลก็ได้รีบเปลี่ยนท่าที เพิ่มมาตรการคุมเข้มและมาดูสถานการณ์การระบาดใหม่อีกครั้ง น่าเส้นดายที่วันเฉลิมฉลองวันประกาศอิสรภาพของอังกฤษต้องมาเผชิญสถานการณ์เดียวกัน”
สถานการณ์การระบาดในตอนนี้ทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนักต้องมานั่งประเมินแนวโน้มตลาดน้ำมันดิบในช่วงครึ่งปีหลังกันใหม่ จากเดิมที่เคยมองว่าจะย่อตัวลงในระยะสั้นก่อนที่จะปรับตัวขึ้นต่อไป กลายเป็นว่า “ไม่แน่ใจ” ว่าในช่วงฤดูหนาวนี้ ภาพรวมการระบาดจะเป็นเช่นไร แม้แต่สหรัฐอเมริกาเองที่ได้ชื่อว่าเอาชนะโควิดระลอกแรกได้ ตอนนี้ก็กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากเดลตาอีกครั้ง
ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดเมื่อวันศุกร์ว่า
“สิ่งที่ผมเป็นกังวลมากที่สุดในการรับมือกับการระบาดโควิดระลอกใหม่คือกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เพราะการที่ยังไม่ได้เข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ คือการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดระลอกใหม่”
บุคลากรทางการแพทย์และอดีตผู้ที่เคยเป็นคนในวงการแพทย์มาก่อนแสดงความเห็นว่ายังมีาวอเมริกันหลายล้านคนที่ไม่เชื่อในแนวทางการปฏิบัติของรัฐ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเงินหรือสิทธิเสรีภาพที่จะรับหรือไม่รับวัคซีนก็ได้ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงจะเป็นผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อในเวลาเดียวกัน
ด็อกเตอร์สก็อตต์ ก็อตต์ลีบ อดีตอธิบดีองค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ แสดงความเห็นว่าชาวอเมริกันไม่ต้องการที่จะเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเพราะรู้ว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่พวกเขารู้ไหมว่าการที่ไม่ยอมรับวัคซีนที่ถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลกฟรีในวันนี้คือการปูทางเข้าสู่โรงพยาบาลของตัวพวกเขาเอง ในขณะเดียวกันด็อกเตอร์ ฟรานซิส คอลลิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า คนที่ไม่รับผิดชอบตัวเองและสังคมกำลังทำให้เป้าหมายฉีดวัคซีนให้ประชากรครบโดสเกิน 50% ภายในหน้าร้อนของอเมริกาต้องล่าช้าออกไป
ในขณะที่ซีกตรงข้ามของอเมริกากำลังเผชิญกับความยากลำบากทั้งการต่อสู้กับโควิดและปัญหาทางเศรษฐกิจ ชาวอเมริกันกลับมีวัคซีนที่ดีที่สุดในโลกที่รัฐพร้อมฉีดให้ประชาชนฟรีมาเป็นเดือนแล้ว แต่ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค (CDC) ระบุว่าตอนนี้มีคนที่ฉีดวัคซีนครบสองโดสอยู่ที่ 48.2% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และอัตราการฉีดวัคซีนใหม่ก็กำลังค่อยๆ ปรับตัวลดลง สวนทางกับยอดผู้ติดเชื้อใหม่ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลสถิติบอกว่าตอนนี้ 47 จาก 50 รัฐมียอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน