สัปดาห์นี้แนวรับ $1,800 ของทองคำจะได้รับการทดสอบอีกครั้งเมื่อสหรัฐอเมริกามีข่าวและเหตุการณ์สำคัญให้จับตา หนึ่งคือการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และสองคือถ้อยแถลงจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อราคาทองคำและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐโดยตรง
เช่นเดียวกับนักลงทุนในตลาดน้ำมัน หากนับเฉพาะปัจจัยภายในสหรัฐอเมริกา สิ่งที่พวกเขาต้องดูคือข้อมูลการใช้งานและบริโภคของชาวอเมริกัน ซึ่งหนึ่งในมาตรวัดที่เชื่อถือได้ตัวหนึ่งหนึ่งปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่รายงานเป็นประจำทุกสัปดาห์โดยสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา (EIA) สิ่งที่นักลงทุนสนใจคือตัวเลขดังกล่าวจะสามารถพา WTI กลับขึ้นยืนเหนือ $75 ต่อบาร์เรลได้อีกครั้งหรือไม่
นอกจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง สิ่งที่เป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันมากที่สุดและยังอยู่ในขอบเขตของ “การจับตา” มองคือข้อตกลงประจำเดือนนี้ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) การประชุมกันระหว่างกลุ่ม OPEC และชาติพันธมิตร (OPEC+) จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แสดงท่าทีที่ชัดเจนมากกว่าไม่ต้องการโควตาการผลิตน้ำมันเท่าเดิมทั้งๆ ที่พวกเขาลงทุนไปกับการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำมันจำนวนมหาศาล
ปัจจัยนอกเหนือจากนี้ที่อาจเป็นตัวผลักดันราคาทองคำให้ปรับตัวสูงขึ้น แต่กดดันราคาน้ำมันให้ปรับตัวลงคือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในประเทศด้อยพัฒนา แม้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะสามารถเอาชนะโควิดในยกก่อนได้ แต่เพราะสงครามครั้งนี้เป็นเรื่องของมนุษยชาติ หากประเทศที่พัฒนาแล้วไม่สามารถมอบความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที พวกเขาก็มีแต่จะต้องตั้งรับกับโควิดตัวใหม่ที่พัฒนามาจากพื้นที่ด้อยพัฒนาไปเรื่อยๆ
จับตา CPI และถ้อยแถลงจาก Fed
เริ่มต้นที่เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดในสหรัฐอเมริกาสัปดาห์นี้ก่อน ในวันอังคาร พุธ และวันศุกร์ที่จะถึงนี้ นักลงทุนต้องจับตาดูการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งตัวเลขนี้ถือเป็นหนึ่งในสี่มาตรวัดอัตราเงินเฟ้อของเฟด ตามมาด้วยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และการรายงานตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยมหาลัยมิชิแกน
นอกจากตัวเลขทั้งสามแล้ว ก็ยังมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ อีกเช่นจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่ประกาศเป็นประจำทุกวันพฤหัสบดี ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและตัวเลขภาคการผลิตจากเฟดนิวยอร์ก
Haresh Menghani นักวิเคราะห์ทองคำเขียนในเว็ปไซต์ ForexLive ว่า
“หากทองคำปรับตัวลดลงต่ำกว่า $1,800 ได้เมื่อไหร่ ให้พิจารณาแนวรับที่ใกล้ที่สุด $1,795 - $1,793 ว่าจะเอาอยู่หรือไม่ นี่คือแนวรับสำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุนรายวัน หากยังหลุดแนวรับทั้งสองลงไปได้ ให้พิจารณาแนวรับถัดไปที่ $1,780 - $1,778 หรืออาจจะมีให้เห็นที่ $1,775”
“สำหรับฝั่งขาขึ้น” เขากล่าวต่อ “ตราบใดที่ราคายังสามารถยืนเหนือ $1,800 ให้พิจารณาแนวต้านถัดไปที่ $1,815 - $1,818 เอาไว้เป็นแนวต้านแรก แนวต้านถัดไปคือบริเวณเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันหรือที่ $1,828 - $1,829 ถ้าหากตัวเลขเงินเฟ้อของอเมริกายังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะส่งราคาทองคำให้ขึ้นไปถึง $1,852 - $1,855 และมากที่สุดเท่าที่จะวิ่งขึ้นไปได้คือ $1,870”
สำหรับฝั่งธนาคารกลางสหรัฐฯ สัปดาห์นี้จะมีถ้อยแถลงของประธานเฟดหลายคนพอสมควร เราจะเริ่มได้เห็นท่าทีของประธานเฟดว่าใครสนับสนุนการร่นระยะเวลาขึ้นอัตราดอกเบี้ยบ้างไม่ว่าจะเป็นนายจอห์น วิลเลียม ประธานเฟดแห่งนิวยอร์ก นิล คาชคาริ ประธานเฟดแห่งมินเนโปลิส ราฟาเอล บอสติค ประธานเฟดแห่งแอตแลนต้า อีริค โรเซนเก้น ประธานเฟดแห่งบอสตัน และชาร์ลี อีแวน ประธานเฟดแห่งชิคาโก
นอกจากนี้ประธานเฟดที่ใหญ่ที่สุดอย่างเจอโรม พาวเวลล์ จะต้องรายงานการดำเนินงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในรอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรส ถ้อยแถลงนี้จะเกิดขึ้นในวันพุธและพฤหัสบดี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อดอลลาร์สหรัฐโดยตรง การปรับตัวขึ้นของกราฟดอลลาร์สหรัฐเทียบเยนในช่วงเช้าของตลาดฝั่งเอเชีย แสดงให้เห็นว่านักลงทุนเลือกถือดอลลาร์เพราะปลอดภัยจากโควิดมากกว่าเยน
น้ำมันยังได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากการประชุม OPEC+ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป
ราคาน้ำมันดิบทั้ง WTI และเบรนท์ยังคงอยู่ในช่วงรับแรงกดดันจากดราม่าของกลุ่ม OPEC สัปดาห์ที่แล้ว WTI ปิดตลาดด้วยการปรับตัวลดลง 0.6% มีราคาซื้อขายในวันศุกร์อยู่ที่ $74.40 บาร์เรลต่อวัน ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์จบสัปดาห์ที่แล้วด้วยการปรับตัวลดลง 0.8% มีราคาซื้อขายอยู่ต่ำกว่า $75.40 ต่อบาร์เรล
TD Securities วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดน้ำมันว่า
“เราไม่อาจสรุปได้ว่าราคาน้ำมันจะวิ่งไปทางไหนจนกว่าจะมีผลการประชุมที่ชัดเจนออกมาจาก OPEC+ ถ้าท้ายที่สุดแล้ว กลุ่ม OPEC+ สามารถจบดราม่าครั้งนี้ และได้กำลังการผลิตตามตัวเลขคาดการณ์เดิมคือเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนสิงหาคมเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวันไปจนถึงเดือนธันวาคม เราจะได้เห็นราคาน้ำมันดิบ WTI ขึ้นไปทดสอบแนวต้าน $80 ต่อบาร์เรลภายในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ถึงแม้ว่าตลาดจะมีความเสี่ยงจากโควิดเดลตาอยู่ก็ตาม”
“ส่วนเรื่องของอิหร่าน” เขากล่าวต่อ “ไม่ว่าจะถูกยกเลิกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ได้หรือไม่ ก็ต้องรอดูการตัดสินใจของกลุ่ม OPEC อีกที สำหรับตอนนี้ถ้าดีล 400,000 บาร์เรลต่อวันไม่สำเร็จขึ้นมา และประเทศสมาชิกเลือกที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเอาตามใจชอบ เราจะได้เห็นราคาน้ำมันร่วงลงอย่างรวดเร็ว”
การประชุม G20 ของรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง 20 ประเทศในช่วงสุดสัปดาห์นี้ได้ข้อสรุปว่าทางกลุ่มเห็นด้วยกับการปรับขึ้นภาษีบริษัทข้ามชาติ 15% ในขณะเดียวกันพวกเขาก็แสดงความเป็นกังวลต่อการระบาดโควิดสายพันธุ์เดลตาที่กำลังคุกคามเอเชียอย่างหนัก ซึ่งอาจจะเริ่มส่งผลกระทบต่อความต้องการน้ำมันในไม่ช้านี้หากนานาชาติยังไม่เร่งแก้ไขช่วยเอเชียอย่างจริงจัง