การกระทำของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (OPEC+) สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนทั่วโลก จากเดิมที่ผลการประชุมควรจะเป็นไปตามคาดคือเพิ่มการผลิตในเดือนสิงหาคมเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน แต่กลับกลายเป็นว่าจนถึงตอนนี้ (ในขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่) ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไรทั้งๆ ที่เหลือเวลาอยู่อีกสามสัปดาห์ก่อนสิ้นเดือนเท่านั้น
ในตอนแรกการประชุมก็ทำท่าว่าจะจบลงด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงสิ้นปี 2021 และจะยืดระยะเวลาการเพิ่มกำลังการผลิตจากเดือนเมษายนปี 2022 ให้ไปหมดอายุลงในช่วงปลายปี 2022 และนั่นคือจุดที่ปัญหาทุกอย่างเริ่มต้นขึ้น
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แม้ว่าจะเห็นด้วยกับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในช่วงหน้าร้อนนี้ไปแล้ว แต่กลับคัดค้านการยืดระยะเวลาเพิ่มกำลังการผลิตไปจนถึงปลายปี 2022 เพราะจำนวนโควตานั้นเท่ากันกับตัวเลขในเดือนตุลาคมปี 2018
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ประเมินว่าการใข้ตัวเลขหลักสำหรับการจัดสรรกำลังผลิตน้ำมันให้แต่ละประเทศหรือ baseline capacity เดิมไปจนถึงเดือนธันวาคมปี 2022 เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมสำหรับพวกเขา เพราะ UAE ได้ลงทุนไปกับการสร้างสต็อกคลังน้ำมันมหาศาลเพื่อเพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำมัน การให้ตัวเลขกำลังการผลิตเท่าเดิมจึงหมายความว่าจำนวนการผลิตเท่าเดิมคือน้อยลงเมื่อเทียบกับคลังที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้น UAE จึงไม่ยอมให้ยืดเวลาผลิตน้ำมันออกไปไกลกว่าเมษายน 2022
ซาอุดิอาระเบียคัดค้านคำร้องทุกอย่างที่ UAE ขอมา พวกเขาไม่อนุญาตให้เพิ่มกำลังการผลิตโดยไม่ยืดระยะเวลาการผลิตออกไป นายอับดุลลาซิส บิล ซัลมาน รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของซาอุดิอาระเบียให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า
“คุณไม่สามารถเลือกเดือนที่จะให้หยุดเพิ่มกำลังการผลิตตามใจชอบด้วยการอ้างว่าเพราะฉันเพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำมันแล้ว ดังนั้นโควตาของฉันก็ควรที่จะเพิ่มขึ้นตามใจฉันได้”
การที่ทั้งสองชาติยังหาข้อสรุปไม่ได้และเลื่อนการประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนดหมายความว่าโควตาเพิ่มการผลิต 400,000 บาร์เรลต่อวันก็ยังคงไม่ได้ข้อสรุปด้วยเช่นกัน
ปฏิกริยาของราคาน้ำมันที่มีต่อดราม่า OPEC+
ถึงแม้ว่าตลาดลงทุนของสหรัฐฯ จะปิดทำการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเพราะตรงกับวันประกาศอิสรภาพ 4 กรกฎาคม แต่ราคาน้ำมันดิบกลับมีปฏิกริยาโดยทันที ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้น 1.3% ทำราคาปิดเอาไว้ที่ $77.20 ต่อบาร์เรล
นักวิเคราะห์อธิบายว่าขาลงครั้งแรกเกิดขึ้นเพราะความผิดหวังของตลาดที่มีต่อโควตาการผลิต 400,000 บาร์เรลในเดือนสิงหาคมที่ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ที่น่าสนใจคือความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กลับไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น ทางฝั่งผู้ผลิตน้ำมันในตอนนี้เลือกที่จะคงการผลิตน้ำมันเอาไว้ในระดับปัจจุบันก่อน เพื่อประเมินว่าสุดท้ายแล้วทั้งสองจะยังสามารถกลับมาคุยกันได้อีกหรือไม่
พื้นที่กักเก็บน้ำมันในฐานะเครื่องมือที่ใช้เป็นอำนาจต่อรอง
หากวัดกันด้วยกำลังการผลิตน้ำมันแล้ว คงไม่มีใครเถียงว่าซาอุดิอาระเบียที่สามารถเป็นพี่ใหญ่ของกลุ่มได้ก็เพราะลำพังซาอุดิอาระเบียประเทศเดียวก็สามารถผลิตน้ำมันต่อวันได้มากกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ข้อมูลจาก S&P Global Platts ระบุว่าในเดือนพฤษภาคม ซาอุดิอาระเบียสามารถผลิตน้ำมันได้ 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเคยผลิตได้มากที่สุดถึง 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน
กำลังการผลิตน้ำมันของ UAE แม้จะน้อยกว่า แต่หากให้ผลิตน้ำมันจริงๆ แล้ว UAE ก็สามารถผลิตน้ำมันได้ไม่น้อยหน้าไปกว่าประเทศอิหร่านที่สามารถผลิตน้ำมันได้มากถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวันเลย แต่สิ่งที่ต่างกันออกไปก็คือ UAE เลือกที่จะเป็นพันธมิตรที่ดีกับซาอุดิอาระเบียมาโดยตลอด ในขณะที่อิหร่านนั้นไม่ได้เป็นมิตรกับซาอุดิอาระเบียเท่าไหร่
ดังนั้นสถานะการมีอยู่ของ UAE สำหรับซาอุดิอาระเบียนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ ตราบใดที่ UAE ยังสนับสนุนพวกเขา ประเทศสมาชิกอื่นๆ ก็มีแนวโน้มจะทำตามได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ามีปัญหากับ UAE ขึ้นมา ก็กลายเป็นว่าซาอุดิอาระเบียอาจถูกโดดเดี่ยวจากทางกลุ่มได้
อันที่จริงสิ่งที่ UAE ต้องการคือผลประโยชน์ระยะยาวที่มีต่อประเทศตัวเอง และที่ผ่านมา UAE ก็พยายามปกป้องสิ่งนี้มาตลอด ซาอุดิอาระเบียค่อนข้างตกที่นั่งลำบากทีเดียวหากเลือกให้สิทธิพิเศษกับ UAE ในการผลิตน้ำมัน เพราะจะเป็นที่ครหาของประเทศสมาชิกอื่นๆ แต่ถ้าไม่ให้ก็อาจจะต้องเสียพันธมิตรอย่าง UAE ไป