การที่ตลาดพันธบัตรของสหรัฐฯ เริ่มทรงตัวบ่งบอกพฤติกรรมตลาดได้อยู่สองอย่าง หนึ่งคือนักลงทุนกลุ่มนี้เริ่มไม่เอาการเร่งตัวของเงินเฟ้อมาเป็นความกังวลแล้ว และสองคือพวกเขาคล้อยตามคำพูดของเหล่าบรรดาเฟดที่พยายามบอกมาตลอดว่าเงินเฟ้อเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว
ก่อนที่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (FOMC) รอบล่าสุดจะเกิดขึ้น ตัวเลขความคาดหวังอัตราเงินเฟ้อของตลาดการเงิน (Breakeven Inflation Rate) ที่เป็นตัวสะท้อนมุมมองของตลาดว่าอัตราเงินเฟ้อในอนาคตเคยขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดในเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นก็ปรับตัวลดลงมาโดยตลอด ครั้งหนึ่งตัวเลขความคาดหวังที่มีต่อเงินเฟ้อในรอบสองปีเคยขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดเกือบ 3% ในขณะที่ของ 10 ปีเคยทำจุดสูงสุดเอาไว้ที่ 2.5%
อย่างไรก็ตามผลการประชุมของ FOMC เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนกลับทำให้ทุกอย่างมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนไปนับจากนี้ เพราะเหล่าผู้วางนโยบายการเงินที่มีสิทธิ์โหวตในปีนี้มีความเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ สมควรที่จะร่นระยะเวลาขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากปี 2024 ขึ้นมาเป็นภายในปี 2023
หรือเฟดจะกลัวเงินเฟ้อ?
เมื่อเฟดเปลี่ยนการตัดสินใจ นักวิเคราะห์หลายสำนักจึงพากันตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น? สิ่งที่พวกเขาพอจะมีความเห็นตรงกันก็คือเฟดอาจจะเริ่มรู้สึกกลัวจริงๆ แล้วว่านโยบายการเงินที่วางไว้ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาแรงเกินไป สมมุติฐานนี้ช่วยอธิบายว่าทำไมกราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีถึงปรับตัวลดลงทันที (จาก 1.5% ลงมาเป็น 1.43%) ที่ทราบตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือนมิถุนายนที่เพิ่มขึ้นเป็น 850,000 ตำแหน่ง
แม้ว่าการตัดสินใจดึงสภาพคล่องออกจากระบบของเฟดจะเป็นวิธีเดียวที่สามารถลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้ และถึงแม้การเติบโตของเศรษฐกิจจะลดลง แต่ก็แลกมาด้วยเสถียรภาพที่มีมากขึ้นโดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรรัฐบาล
สิ่งที่นักลงทุนจะตามหาในรายงานการประชุมของเฟดที่จะประกาศในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีนี้ตามเวลาประเทศไทยคือจุตประสงค์ของเฟดในอนาคต เพราะการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 27-28 มิถุนายนและการประชุมในวันที่ 26-28 สิงหาคมที่แจ็กสัน โฮล จะเป็นการประชุมสองครั้งที่นักลงทุนให้ความสำคัญมาก แม้จะเป็นเพียงความหวังรางๆ แต่ตลาดตอนนี้ก็เชื่อเหลือเกินว่าจะได้เห็นแผนลดเงินเฟ้อของประธานเฟดเจอโรม พาวเวลล์ แบบเป็นรูปเป็นร่าง ก่อนการประชุมในเดือนสิงหาคม
ECB จะคง QE เอาไว้ต่อเพราะการท่องเที่ยวยังไม่รอดจากโควิด
หากพูดถึงเงินเฟ้อในตอนนี้ ภูมิภาคที่นักลงทุนดูเหมือนจะเป็นห่วงมากกว่าสหรัฐฯ คือยุโรป ความเป็นกังวลนี้สะท้อนออกผ่านผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับตัวขึ้นในวันจันทร์เพราะเป็นห่วงว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจะทำให้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องล่าช้าออกไปอีก
มาตรการควบคุมการท่องเที่ยวยังคงส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของยุโรป และเป็นเหตุผลให้ธนาคารกลางแห่งยุโรปจะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อคงการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินต่อไป ซาวีเอ เบิทเทิล นายกรัฐมนตรีของลักเซ็มเบิร์กได้ผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก และพึ่งถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเพราะมีอาการรุนแรง ก่อนที่สถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้นในเวลาต่อมา ที่น่าเป็นห่วงก็คือนายกรัฐมนตรีท่านนี้พึ่งเข้าร่วมการประชุมกับสหภาพยุโรปที่ทำให้ต้องได้พบกับคณะกรรมการคนอื่นๆ อีก 26 คน แต่ถือว่ายังโชคดีที่จากการตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัยพบว่าไม่มีใครได้อยู่ใกล้เขามากนัก
กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันอายุ 10 ปีเมื่อวันจันทร์มีระดับราคาอยู่ที่ 0.210% ปรับตัวลดลงจาก 0.235% ในวันศุกร์ที่แล้ว ในขณะเดียวกันกราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้น 3 จุดเบสิส มีราคาล่าสุดเมื่อวันจันทร์อยู่ที่ 0.807%