ไม่รู้ว่านี่คือความบังเอิญหรือตั้งใจที่ราคาทองคำในช่วงสองปีล่าสุดมีราคาซื้อขายอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน หากกางตัวเลขดูจริงๆ จะพบว่าในช่วงปิดไตรมาส 2 ปี 2020 ทองคำมีราคาซื้อขายอยู่ที่ $1,798.10 ต่อออนซ์ ถัดมาในปี 2021 หลังจากสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลไปที่ $2,063 ไปเมื่อไตรมาส 3 ปี 2020 หากวัดราคาทองคำในวันที่ 30 มิถุนายนซึ่งเป็นวัดปิดไตรมาส 2 พอดี จะพบว่าทองคำมีราคาซื้อขายอยู่ที่ $1,770 ต่อออนซ์ ห่างจากระดับราคาในปี 2020 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
หากว่ากันตามทฤษฏีแล้ว ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาแรงเกินไป ทองคำมักจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากความกังวลภาวะเงินเฟ้อ การอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาลของโจ ไบเดนทำให้ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นตรงกันว่ามีความเสี่ยงที่ภาวะเงินเฟ้อจะเกิดขึ้น และทองคำก็ตอบรับไปแล้วด้วยขาขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมมาจนถึงช่วยปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน ขาขึ้นในตอนนั้นทำให้ทองคำสามารถกลับขึ้นมาแตะ $1,900 ได้
แต่เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายการเงินและดอกเบี้ย ผลที่ออกมาค่อนข้างเซอร์ไพรส์ตลาดเพราะเฟดยอมที่จะทำตามเสียงของคนข้างนอกด้วยการยอมร่นระยะเวลาขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้ามาเป็นช่วงปลายปี 2022 และอาจจะมีการดึงสภาพคล่อง $120,000 ล้านเหรียญสหรัฐบางส่วนออกเพื่อลดความร้อนแรงในตลาด ข่าวดีนี้ส่งให้ราคาทองคำร่วงจาก $1,850 โดยประมาณลงมาวิ่งอยู่ที่ $1,780 ในปัจจุบัน
ภาพรวมตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้า
ในวันที่ 25 พฤษภาคม ราคาซื้อขายทองคำล่วงหน้าที่จะส่งมอบในเดือนสิงหาคมบนตลาด COMEX สามารถขึ้นไปยืนเหนือ $1,900 ได้ ในวันที่ 1 มิถุนายน ราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นต่อ ไปสร้างจุดสูงสุดที่ $1,191.20 แต่หลังจากทราบผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทองคำก็ร่วงลงจาก $1,900 และไม่เคยกลับขึ้นมาได้อีกเลยจนถึงปัจจุบัน
รูปนี้แสดงให้เห็นช่วงเวลาที่ราคาทองคำดังกล่าวร่วงลงนับตั้งแต่ทราบผลการประชุมฯ จาก $1,900 ในวันนั้นจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน ราคาทองคำได้ร่วงลงมาถึง $1,770 เมื่อไปดูตัวเลขของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคงค้าง (Open Interest (OI)) จะเห็นว่าสัญญาซื้อขายในวันที่ 21 พฤษภาคมมีตัวเลขอยู่ที่ 533,343 สัญญาเทียบกับตัวเลขในวันที่ 29 มิถุนายนซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 453,360 สัญญา เท่ากับว่า OI หายไปทั้งสิ้น 79,983 สัญญา เทียบได้กับขาลง 15%
อินดิเคเตอร์อย่างเช่น RSI หรือโมเมนตัมวัดราคารายวันต่างก็วิ่งอยู่ในโซน oversold กราฟวัดค่าความผันผวนรายวันมีตัวเลขอยู่ที่ 14% สูงกว่าในช่วงที่ทองคำพยายามกลับขึ้นมาสร้างจุดสูงสุดล่าสุด ภาพสรุปที่ได้ออกมาจากกราฟในตอนนี้คือขาลงอย่างไม่มีเงื่อนไข
ผลการประชุมของเฟดและความหมายที่มีต่อราคาทองคำ
การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในรอบนี้อย่างมีนัยสำคัญ มิเช่นนั้นเราคงไม่ได้เห็นราคาทองคำล่วงหน้าร่วงลงเกิน $100 ภายในระยะเวลาเพียงแค่สองวันเท่านั้น (16-18 มิถุนายน)
สาเหตุที่ “ความเป็นไปได้” ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดถึงมีผลกับทองคำเป็นเพราะ
ข้อหนึ่ง: นี่คือการเพิ่มต้นทุนในการถือครองทองคำ
ข้อสอง: ทองคำถือเป็นคู่แข่งกับสินทรัพย์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเองอยู่แล้ว เมื่อสินทรัพย์ปกติกลับมามีความน่าสนใจกว่าทองคำ ทองคำจึงปรับตัวลดลง
ข้อสาม:การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้สกุลเงินสำรองอันดับหนึ่งของโลกอย่างดอลลาร์สหรัฐมีค่ามากขึ้น
ถึงแม้ว่าเฟดจะยอมร่นระยะเวลาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้ามา แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่เฟดยังคงยืนยันว่าภาวะเงินเฟ้อในตอนนี้เป็นเพียงแค่ “เรื่องชั่วคราว” เท่านั้น ทั้งที่เราก็เห็นกันอยู่ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์พากันปรับตัวขึ้นแทบจะทุกตัวไม่ว่าจะเป็น ทองคำ ทองแดง ไม้แปรรูป พาลาเดียม อสังหาริมทรัพย์และน้ำมันดิบ
ส่วนตัวผมมองว่าเฟดควรจะมีมุมมองที่เปิดกว้าง ยอมรับความเป็นจริงมากกว่านี้ จริงอยู่ว่าตัวเลขการจ้างงานอาจจะยังกลับมาได้ไม่ถึงเป้าของเฟด แต่นี่เป็นเรื่องที่สามารถค่อยๆ ทำไปได้ เพราะการที่เงินเฟ้อเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้จะกลายเป็นการซ้ำเติมคนที่ไม่มีรายได้มากยิ่งขึ้น นอกจากจะไม่มีเงินแล้ว สินค้าก็ยังแพงอีก เฟดควรจะเริ่มเอาจริงเอาจังสกัดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ เพื่อพยุงเศรษฐกิจเฉพาะหน้าเอาไว้ก่อนเป็นอันดับแรก
กฎ Basel III อาจเป็นตัวช่วยหนุนราคาทองคำ
ก่อนที่จะเข้าใจกฎ “บาเซิลสาม” ก่อนอื่นจำเป็นต้องเล่ากฎบาเซิลหนึ่งและสองโดยสังเขปก่อน บาเซิล (Basel) เป็นหลักเกณฑ์ที่ธนาคารใช้ซึ่งเน้นไปที่การรองรับการขาดทุนจากการปล่อยสินเชื่อและการลงทุนของธนาคาร โดยกำหนดให้ธนาคารดำรงเงินกองทุนเป็นสัดส่วนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ต่อมาก็ได้เพิ่มหลักเกณฑ์ที่ครอบคลุมความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของธนาคารมากขึ้น เราเรียกการอัปเกรดนี้ว่า “บาเซลสอง”
แม้ว่าธนาคารต่างๆ จะสามารถทำตามแนวปฏิบัติในบาเซิลหนึ่งและสองได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเกิดวิกฤตซัพพรามขึ้นในปี 2008 ทางธนาคารกลางจึงเห็นว่าแค่บาเซิลหนึ่งและสองยังไม่พอ ต้องมีถึงสาม ซึ่งบาเซิลสามนี้ได้เพิ่มข้อกำหนดเรื่องการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของสถาบันการเงิน และปรับปรุงเงื่อนไขการดำรงเงินกองทุนให้สูงขึ้น และเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนปี 2021 ทองคำแท่งก็ถูกจัดให้อยู่ในหลักประกันความเสี่ยงตามกฎของบาเซิลสาม
หมายความว่ายิ่งถือทองคำเอาไว้โดยไม่โยกย้ายไปไหน ก็จะยิ่งได้ผลตอบแทนมากขึ้น และรวมถึงการลงทุนในกองทุน ETF ทองคำเช่น GLD ด้วย การยกสถานะของทองคำขึ้นมาเช่นนี้จะทำให้ทองคำมีค่ามากขึ้น ธนาคารกลางและสถาบันการเงินจะมีเหตุผลให้ถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์สำรองปลอดภัยมากขึ้น
จากกราฟจะเห็นได้ว่านานกว่าสองทศวรรษแล้วที่การซื้อทองคำในช่วงที่อ่อนแรงกลายเป็นเรื่องที่ได้กำไรมากกว่าขาดทุน กราฟรายไตรมาสรูปนี้แสดงให้เห็นขาขึ้นของทองคำตั้งแต่ $252.50 ในปี 1999 จากนั้นราคาก็ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ
แต่ไหนแต่ไรในวงการลงทุนมักจะมีคำว่าพูดที่ว่า “เทรนด์คือเพื่อนของเราเสมอ” ซึ่งหมายความว่าแนวโน้มจะวิ่งไปทางไหน ก็ให้ไหลตามน้ำไป อย่าเอาเรือเข้าไปขวาง ดังนั้นในยุคที่ผู้คนต่างก็กังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ และเฟดยังต้องใช้เวลาอีก 29 เดือนกว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ราคาทองคำจะไม่ปรับตัวขึ้นต่อ ยกเว้นก็แต่ว่าเฟดจะมีอะไรออกมาเซอร์ไพรส์ตลาดอีกในอนาคต