ดูเหมือนว่าการลงทุนในตลาดน้ำมันปีนี้เราไม่อาจจะที่จะคุยกันในกรอบ $60 ต่อบาร์เรลได้อีกต่อไป เพราะอย่างที่เห็นทั้งน้ำมันดิบ WTI และเบรนท์ต่างก็สามารถยืนเหนือ $70 ต่อบาร์เรลกันได้อย่างไม่มีปัญหา และยังทำท่าเหมือนจะปรับตัวขึ้นต่อด้วยซ้ำ อะไรคือสาเหตุของขาขึ้นครั้งนี้? ส่วนตัวแล้วเรามองว่าเกิดจากปัจจัยสองประการ หนึ่งคือความต้องการน้ำมันดิบและภาวะเงินเฟ้อ
1. อุปสงค์ในตลาดน้ำมัน (Demand)
หลังจากที่โลกเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโรคระบาดได้แล้ว ความต้องการน้ำมันก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์สถิติของ API สหรัฐฯ ระบุว่าปริมาณการส่งมอบน้ำมันภายในประเทศในเดือนพฤษภาคมมีระดับอยู่ที่ 19.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 อยู่เพียง 2.8% เท่านั้น
ปริมาณการส่งมอบน้ำมันสำหรับเครื่องบินไอพ่นในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 8% แต่ยังถือว่าน้อยกว่าของเดือนพฤษภาคมปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 26.4% จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมล่าสุดกลุ่ม OPEC และ IEA จึงได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ความต้องการน้ำมันดิบในช่วงครึ่งปีหลังขึ้น
รายงานของ IEA เปิดเผยว่าความต้องการน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเป็น 96.7 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2021 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอินเดียและประเทศจีน โดยปกติแล้ว IEA มักจะไม่ค่อยกล่าวถึงทั้งสองประเทศนี้มาก่อน นอกจากนี้บรรดาธนาคารชื่อดังต่างๆ ของสหรัฐฯ ก็ออกมาให้ความเห็นตรงกันว่าเราจะได้เห็นราคาน้ำมันทำตัวเลขสามหลักภายในปี 2022
อย่างไรก็ตาม เราอยากให้มองตัวเลขนี้เป็นเพียงข้อมูลอย่างหนึ่ง เพราะบ่อยครั้งที่ตัวเลขก็ไม่ได้ออกมาเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ 100% แต่ตราบใดที่ยังมีคนแสดงตัวเลขคาดการณ์ออกมาเรื่อยๆ นั่นหมายความว่าตลาดนั้นๆ ยังมีความต้องการของผู้คนอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มขาขึ้นยังรักษาความเป็นเทรนด์เอาไว้ได้
2. เงินเฟ้อ
นับตั้งแต่เริ่มไตรมาสสองเป็นต้นมา ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อกลายเป็นคำที่เราได้ยินในตลาดจนชินหู แม้กระทั่งการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ผ่านมา นักลงทุนก็ยังให้ความสนใจกับตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อมากกว่าผลการประชุมเสียอีก สำหรับเรื่องนี้สิ่งที่จำเป็นและกระทบราคาน้ำมันมากที่สุดคือการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น
มูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์ในระยะหลังอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น หากนับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคมมาจนถึงปัจจุบัน ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 1.7% เมื่อเทียบกับสกุลเงินปอนด์อ่อนค่าลง 1.2% เมื่อเทียบกับรูเบิ้ลรัสเซียและอ่อนค่าลง 2.5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ถ้อยแถลงของเหล่าบรรดาผู้วางนโยบายในธนาคารกลางสหรัฐฯ ยิ่งทำให้ตลาดลงทุนเชื่อว่าปัญหาเงินเฟ้อในตอนนี้ไม่ใช่เรื่อง “ชั่วคราว” อย่างที่เฟดชอบอ้าง เพราะแม้แต่ผู้วางนโยบายการเงินบางคนเองก็ยอมรับว่าเงินเฟ้อครั้งนี้จะอยู่กับพวกเรานานกว่าที่คิดเอาไว้
เมื่อเฟดพูดว่า “นานกว่าที่คิดเอาไว้” ออกมาแล้ว คำถามต่อมาที่เฟดเจอทันทีเลยก็คือ “ที่ว่านานนี้นานเท่าไหร่? สองเดือนสามเดือนหกเดือนหรือเก้าเดือน?” ในส่วนนี้เฟดให้คำตอบว่าพวกเขาตั้งใจที่จะทำให้สังคมสามารถยอมรับกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะตั้งแต่เฟดประกาศว่าจะยอมให้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสูงกว่า 2% พวกเขาก็ทำใจเอาไว้แล้วว่าวันนี้จะต้องมาถึง เพียงแต่นิยามของคำว่า “ชั่วคราว” ของเฟดกับคนทั่วไปไม่เท่ากันก็เท่านั้น ด้วยคำตอบแบบนี้จึงทำให้เราเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในเทรนด์ขาขึ้นไปอีกนาน
การประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคมถือเป็นเหตุการณ์ที่ต้องจับตาว่าเหล่าบรรดาผู้ผลิตน้ำมันจะดำเนินการอย่างไรต่อ แน่นอนว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันตอนนี้ยังทำให้พวกเขาพอใจอยู่ แต่ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับ OPEC+ ว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำมันของโลกหรือไม่ เชื่อว่าการประชุมครั้งนี้ประเทศรัสเซียจะไม่มีความเคลื่อนไหวมากนักหากมีการตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตเพราะนั่นเป็นสิ่งที่รัสเซียต้องการอยู่แล้ว
แต่ก็ไม่ใช่ว่า OPEC+ จะไม่สนใจตัวเลขเงินเฟ้อเลย เชื่อว่าตอนนี้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันบางแห่งยินดีขายน้ำมันแลกกับการถือครองดอลลาร์ เพราะพวกเขาเชื่อว่าถ้าเงินเฟ้อยังอยู่เช่นนี้ต่อไป อีกไม่นานดอลลาร์จะอ่อนค่าลง จนกว่าจะถึงวันนั้น พวกเขาจะถือดอลลาร์เอาไว้และรอแลกในวันที่สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นิตยสาร Wall Street Journal คาดการณ์เอาไว้ว่ากลุ่ม OPEC+ กำลังพิจารณาจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 500,000 บาร์เรลต่อวันภายในเดือนสิงหาคม แต่ก็ต้องรอดูกันอีกทีว่าใครจะได้รับเกียรติ์เป็นผู้เพิ่มกำลังการผลิตในครั้งนี้ แน่นอนว่ารัสเซียต้องอยากได้ตำแหน่งนี้แต่ก็อย่าลืมว่าที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียก็เสียสละมานาน พวกเขาอาจจะอยากเป็นผู้ผลิตน้ำมันเพิ่มด้วยเช่นกัน