เชื่อได้เลยว่าสัปดาห์นี้จะยังคงเป็นภาคต่อจากสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มติเป็นเอกฉันท์ว่าจะยังคงนโยบายการเงินเอาไว้ดังเดิม แต่สิ่งที่ตลาดให้ความสนใจมากที่สุดกลับเป็นการร่นระยะเวลาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาเป็นปี 2023 และความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล
ข่าวดีที่เป็นเหมือนกับสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ค่อนข้างเร็ว กลับกลายเป็นเหมือนข่าวร้ายสำหรับตลาดหุ้น นับตั้งแต่ตลาดทราบผลการประชุม ดัชนีหลักของสหรัฐฯ ก็พากลับปรับตัวลดลงหมดไม่ว่าจะเป็นดาวโจนส์หรือเอสแอนด์พีทั้งๆ ที่กว่าผลการประชุมจะมีผลบังคับใช้กับตลาดจริงๆ ก็ต้องรอไปอีกอย่างน้อย 30 เดือน
ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนีเอสแอนด์พี 500ร่วงลงอีก 1.3% ทำสถิติขาลงครั้งที่รุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และเป็นครั้งแรกที่เอสแอนด์พี 500 สามารถหลุดเส้นเทรนด์ไลน์ขาขึ้นที่ลากมาตั้งแต่จุดต่ำสุดของเดือนมีนาคมปี 2020 เช่นเดียวกันกับดัชนีดาวโจนส์ที่ปรับตัวลดลงมากกว่า 500 จุด คิดเป็น 1.6% และกลายเป็นสถิติขาลงที่เยอะที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2020
ขาลงครั้งนี้ของดาวโจนส์มีความเหมือนกับเอสแอนด์พีตรงที่ทั้งสองได้ปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าเส้นเทรนด์ไลน์ขาขึ้นที่ลากมาตั้งแต่จุดต่ำสุดของเดือนมีนาคมปี 2020 เหมือนกัน แต่ที่ต่างกันก็คือขาลงของดาวโจนส์นั้นรุนแรงกว่า สังเกตุจากการลงจนหลุดจุดต่ำสุดล่าสุดที่ 33,473 จุดลงมาได้ ส่งสัญญาณว่าขาขึ้นครั้งล่าสุดนี้อาจจะมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว
ถึงแม้ว่าตลาดลงทุนพึ่งจะมาฮือฮากันเรื่องถอนสภาพคล่องในสัปดาห์ที่แล้ว แต่สำหรับดัชนีวัดธุรกิจขนาดเล็กถึงกลางอย่างรัสเซล 2000 ได้อยู่ในขาลงมาตั้งแต่สัปดาห์ที่สองของเดือนมิถุนายน และผลการประชุมของเฟดก็ยิ่งสร้างผลกระทบให้กับดัชนีธุรกิจขนาดเล็กให้ปรับตัวลงในวันศุกร์มากกว่า 2%
อย่างที่ได้บอกไปว่ารัสเซล 2000 นั้นได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจมาก่อนดัชนีใหญ่ๆ ดังนั้นรัสเซล 2000 จึงวิ่งอยู่ในกรอบไซด์เวย์มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว ในช่วงที่ไซด์เวย์นี้รัสเซล 2000 ได้ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่สูดกว่า 2,350 จุดในวันที่ 15 มีนาคมและปรับตัวลงมาสร้างจุดต่ำสุดในวันที่ 25 มีนาคม คิดเป็นระยะห่าง 11%
เราเคยได้เขียนบทวิเคราะห์เอาไว้ในเดือนพฤษภาคมว่าที่จุดสูงสุดล่าสุดนี้อาจจะเป็นแรงสู้ครั้งสุดท้ายของขาขึ้นรอบนี้เนื่องจากอินดิเคเตอร์ RSI ได้สร้างไดเวอเจนต์ (Divergence) สวนทางกับกราฟขาขึ้น ส่งสัญญาณบอกใบ้ถึงแนวโน้มขาลง และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
ความตื่นกลัวว่ากำลังจะสูญเสียสภาพคล่องทำให้นักลงทุนทำพฤติกรรมเหมือนกับในช่วงโควิดระบาดคือการหันมาถือหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีราวกับว่าเป็นที่พึ่งสุดท้าย นั่นจึงทำให้ดัชนีแนสแด็กปรับตัวลดลงน้อยที่สุดเพียง 0.9% ในวันศุกร์และตลอดทั้งสัปดาห์สามารถเป็นดัชนีเพียงตัวเดียวที่ปิดบวกได้ 0.1% ผลงานในรอบรายเดือนล่าสุดสามารถมอบผลตอบแทนคืนให้กับผู้ถือหุ้น 6.1% และในรอบหกเดือนล่าสุดก็ยังสามารถทำผลงานปิดบวกได้ 9.3%
นอกจากนี้จะสังเกตได้ว่าเมื่อตลาดรู้สึกกลัว พวกเขาจะหันเข้าหาหุ้นเทคโนโลยีทันที เพราะแม้แต่หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งอยู่บนเอสแอนด์พี 500 ยังสามารถทำผลงานได้ดีที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากหุ้นในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่ปรับตัวลดลงเพียง 0.5%
การฟอร์มตัวของกราฟดัชนีแนสแด็กทางเทคนิคยังช่วยยืนยันด้วยว่าฝั่งขาขึ้นมีโอกาสชนะมากกว่า จากการขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ 14,175 จุดอยู่บ่อยครั้งทำให้กราฟสร้างรูปแบบสามเหลี่ยมลู่ขึ้น หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปก็คงเหลือเพียงปัจจัยแห่งเวลาเท่านั้นก่อนที่กราฟจะสามารถขยับขึ้นเหนือแนวต้านดังกล่าวและมุ่งหน้าสู่ 14,400 จุด
สำนักข่าวบลูมเบิร์กวิเคราะห์การตัดสินใจของเฟดว่าเป็นความพยายามครั้งแรกในการหยุดยั้งเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้คนลดการใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือยลง แต่จากการวิเคราะห์ทางเทคนิคของเรากับดัชนีแนสแด็กกลับชี้ให้เห็นว่าหุ้นกลุ่มเทคฯ (ซึ่งถือว่าเป็นสินค่าฟุ่มเฟือยประเภทหนึ่ง) ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเป็นอย่างมากในปีนี้
การประกาศแผนที่จะทำนโยบายการเงินให้มีความตึงตัวมากขึ้น ทำให้ผู้คนกลับมาเชื่อมั่นในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อีกครั้ง และเป็นผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีร่วงลงสู่จุดต่ำสุดในรอบสามเดือน เจมส์ บลูราร์ด ประธานธนาคารกลางแห่งเซนต์หลุยส์ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า “ในที่สุดธนาคารกลาวสหรัฐก็ได้ฤกษ์ที่จะถกเถียงเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการลดวงเงิน QE เสียที”
จากการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะเห็นว่ากราฟผลตอบแทนฯ กำลังจะลงมาทดสอบกรอบเทรนด์ไลน์ด้านล่างของขาลง ที่น่าสนใจคือเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันกำลังจะตัดเส้น 100 วันลงมา ส่งสัญญาณว่ามีโอกาสเปลี่ยนเป็นขาลงจริงๆ
พระเอกของสัปดาห์ที่แล้วจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากดอลลาร์สหรัฐ ผลการประชุมของเฟดทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นทันทีหลังจากทราบว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น
ในรูปจะเห็นว่ากราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐได้สร้างรูปแบบ round bottom เสร็จเรียบร้อย และได้กลายเป็นการสร้างรูปแบบ double bottom ทันที แต่รูปแบบนี้จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อกราฟสามารถขึ้นยืนเหนือระดับราคา 93.50 จุด หากจะให้วิเคราะห์แบบเข้าข้างฝั่งขาขึ้น ดูจากลักษณะขาขึ้นในตอนนี้กับตอนช่วงต้นปี 2021 จะเห็นว่าขาขึ้นรอบนี้มาได้เร็วกว่าเป็นอย่างมาก แต่ในทางกลับกัน ถ้าดัชนีดอลลาร์สหรัฐหลุดจุดต่ำสุดของวันที่ 6 มกราคมลงไปได้ ขาลงครั้งนี้ก็จะรุนแรงเช่นเดียวกัน
เมื่อดอลลาร์แข็งค่า ผู้ที่ต้องอ่อนค่าก็เป็นใครไปไม่ได้นอกจากทองคำ
การร่วงลงมาวิ่งต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันก็เป็นการยืนยันแล้วว่า $1,900 คือจุดสูงสุดในรอบนี้ที่ทองคำสามารถทำได้ สิ่งที่นักลงทุนทองคำควรเป็นห่วงในตอนนี้คือเมื่อเปิดตลาดมาแล้ว ราคาทองคำจะมุ่งหน้าลงสู่ $1,678.40 โดยทันทีเลยหรือไม่
การแข็งค่าของดอลลาร์ซึ่งถือได้ว่าเป็นสกุลเงินสำรองอันดับหนึ่งทำให้สินทรัพยสำรองปลอดภัยต่างได้รับผลกระทบเชิงลบทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้ว่าราชาแห่งสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์ ถึงแม้ว่าช่วงนี้ราคาบิทคอยน์จะไม่ได้วิ่งขึ้นลงอย่างหวือหวา แต่ราคาก็ยังถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มขาลง
และยิ่งมีโอกาสขึ้นยืนเหนือ $40,000 ได้น้อยลงเมื่อ world bank ปฎิเสธที่จะช่วยเหลือประเทศเอล สวาดอร์ในการทำธุรกรรมผ่านบิทคอยน์ ส่วนเจ้าพ่อสายปั่นคริปโตฯ อย่างอีลอน มักส์ก็ยื่นคำขาดว่าอาจพิจารณาบิทคอยน์ให้กลับมาเป็นตัวกลางการแลกเปลี่ยนรถเทสลา (NASDAQ:TSLA) อีกครั้งหากสามารถลดการใช้งานพลังงานไฟฟ้าลงได้มากกว่า 50%
กราฟ BTC/USD ยิ่งเผชิญกับความกดดันอย่างหนักเมื่อเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันกับ 200 วันกำลังจะตัดกันแล้ว แม้ว่ากราฟบิทคอยน์พยายามจะสร้างรูปแบบ round bottom เพื่อพาตัวเองกลับขึ้นไปให้ได้ แต่หากยังไม่สามารถยืนเหนือ $39,000 ก็ยังมีโอกาสที่บิทคอยน์จะปรับตัวลดลงต่อ การขึ้นยืนเหนือ $39,000 - $40,000 จะทำให้ฝั่งขาขึ้นสบายใจได้ แต่การขึ้นยืนเหนือ $43,000 จะเปิดโอกาสให้กลับขึ้นไปทดสอบ $60,000 ได้ทันที
ถึงแม้ว่าจะมีการย่อตัวลดลงมาบ้าง แต่ราคาน้ำมันดิบก็ยังสามารถรักษาสถิติขาขึ้นสี่สัปดาห์ติดต่อกันเอาไว้ได้ ปัจจัยหนุนขาขึ้นของน้ำมันดิบในตอนนี้มีมากมากมายไม่ว่าจะเป็นความต้องการท่องเที่ยวในช่วงหน้าร้อนปีนี้ของชาวตะวันตก การอัดอั้นที่จะท่องเที่ยวในปีนี้จะทำให้มีการใช้พลังงานน้ำมันเป็นจำนวนมาก ธนาคารโกลด์แมน แซคส์มีข้อมูลตัวเลขการใช้งานน้ำมันต่อวันทั่วโลกตอนนี้อยู่ที่ 97 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องระวังเรื่องปัจจัยเสี่ยงที่ราคาน้ำมันอาจได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ด้วย
ขาขึ้นเมื่อวันศุกร์คือการขึ้นไปทดสอบแท่งเทียนรูปแบบดาวตก (Shooting Star) และเป็นสัญญาณขาลงที่ดีสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสวนเทรนด์และสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ ถึงแม้ว่าอินดิเคเตอร์ RSI จะย่อลงมาจาก overbought แล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าตลาดจะปรับเปลี่ยนกลายเป็นขาลง
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์นี้ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันอาทิตย์
21:30 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: คาดว่าจะคงที่ 1.1% MoM
21:30 (ประเทศจีน) รายงานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารกลางจีน: คาดว่าจะคงที่ 3.85%
วันจันทร์
10:15 (ยูโรโซน) ถ้อยแถลงจากประธานธนาคารกลางแห่งยุโรปนางสาวคริสตีน ลาการ์ด
วันอังคาร
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยมือสอง: คาดว่าจะลดลงจาก 5.85M เป็น 5.72M
14:00 (สหรัฐฯ) ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวลล์
วันพุธ
03:30 (เยอรมัน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะหดตัวจาก 64.4 จุดเป็น 63.4 จุด
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการ: ตัวเลขของเดือนที่แล้วออกมาอยู่ที่ 65.6 และ 62.9 จุด
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีกพื้นฐาน: คาดว่าจะลดลงจาก 4.3% เป็น -5.0%
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 863K เป็น 875K
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -3.290M เป็น -7.355M
วันพฤหัสบดี
04:00 (เยอรมัน) ดัชนีวัดบรรยากาศทางธุรกิจโดย Ifo: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 99.2 จุดเป็น 100.1 จุด
07:00 (สหราชอาณาจักร) ผลการประชุมเพื่อปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ: คาดว่าจะคงที่ 0.10%
07:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน: คาดว่าจะลดลงจาก 1.0% เป็น 0.7%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.3% เป็น 6.4% QoQ
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงจาก 412K เป็น 380K
วันศุกร์
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคล: คาดว่าจะลดลงจาก 0.5% เป็น 0.3%