การประชุมของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (OPEC+) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายนผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จะถือเป็นการประชุมที่สำคัญครั้งหนึ่งของกลุ่มการพูดถึงสัญญาการผลิตน้ำมันที่จะสิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมจะเป็นประเด็นสำคัญที่นักลงทุนจับตามองว่ากลุ่ม OPEC+ จะตัดสินใจเช่นไรต่อไปในอนาคต บทความนี้จะพูดถึงสามประเด็นหลักๆ ที่คาดว่าจะเป็นประเด็นให้พูดถึงในที่ประชุม
1. ภาพรวมสต๊อกน้ำมันดิบที่กลุ่ม OPEC+ มี
ก่อนที่จะมีการประชุมในวันที่ 1 มิถุนายน เราจะได้ฟังความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต (JMMC) ก่อนในวันที่ 31 พฤษภาคม จากข้อมูลตัวเลขที่กลุ่ม OPEC+ รายงานในเดือนมีนาคมพบว่าประเทศรัสเซียและอีรักมีการผลิตน้ำมันเกินโควตาที่กำหนด
ข้อมูลจาก S&P Platts ระบุว่าในเดือนมีนาคมทางกลุ่ม OPEC+ มีโควตาการผลิตน้ำมันรวมกันทั้งหมด 3,316 ล้านบาร์เรล รัสเซียผลิตน้ำมันเกินโควตาที่ตัวเองมีด้วยตัวเลขล่าสุด 877,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน (bpd) ในขณะที่อีรักก็ผลิตน้ำมันเกินโควตาไปเช่นกัน คิดเป็นตัวเลข 707,000 bpd นอกจากสองประเทศนี้แล้ว ยังพบว่ามีอีกหลายประเทศที่ผลิตน้ำมันเกิน ยกตัวอย่างเช่น ซูดานใต้ คาซัคสถาน เป็นต้น
รัสเซียและคาซัคสถานไม่ได้รับอนุญาตให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในเดือนเมษายน แต่เพราะพวกเขาได้ผลิตเกินไปแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ทั้งสองประเทศต้องทำก็คือส่งรายงานให้กับกลุ่มโอเปกพร้อมทั้งรายละเอียดที่ระบุว่าจะชดเชยอย่างไรนับตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือนกันยายน อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าซาอุดิอาระเบียจะรับคำร้องของประเทศอื่นๆ แต่รัสเซียก็คงเป็นเพียงทำเป็นพิธีไปเท่านั้น
2. กลุ่ม OPEC+ จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันหรือไม่
จากข้อมูลในสัญญาที่ทางกลุ่มได้ตกลงกันไว้ ณ ปัจจุบัน กลุ่ม OPEC+ จะค่อยๆ ทยอยเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันขึ้นเป็น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์นี้ พวกเขาจะมาประชุมกันว่ากำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นมาตามแผนหรือไม่ และเพราะกลุ่มโอเปกมีการประชุมกันเดือนละครั้ง จึงมีโอกาสที่พวกเขาอาจตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญา
หากพิจารณาจากราคาน้ำมันและความต้องการน้ำมันในตลาดโลก ณ ตอนนี้ ดูเหมือนว่ากลุ่มโอเปกพลัสยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดกำลังการผลิต อันที่จริงพวกเขาอาจตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตเลยด้วยซ้ำ
อเล็กซานเดอร์ โนวาค รมต. กระทรวงพลังงานซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศรัสเซียในกลุ่มโอเปก+ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่ากำลังการผลิตน้ำมันโลกในตอนนี้ยังถือว่าขาดดุลไปประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน นี่ถือเป็นคำใบ้ว่ากลุ่มโอเปกพลัสจะเพิ่มกำลังการผลิตในเร็วๆ นี้หรือไม่ อย่างเร็วก็อาจจะเพิ่มในเดือนหน้าหรือเดือนกรกฎาคม
นอกจากวัดความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกแล้ว กลุ่มโอเปกยังประเมินปริมาณการใช้งานน้ำมันดิบจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่เก็บอยู่ในประเทศซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ นี่คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมกลุ่มโอเปกพลัสถึงไม่ตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันตั้งแต่ช่วงต้นปีแม้ว่าตอนนั้นราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ในตอนนั้นประเทศที่ใช้น้ำมันมากๆ อย่างอินเดียได้กดดันซาอุดิอาระเบียให้ผลิตน้ำมันออกมาเพิ่ม แต่ก็ถูกมติของกลุ่มโอเปกพลัสปฏิเสธไป ยิ่งไปกว่านั้น รมต. กระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียก็ได้ออกมาตอกหน้าอินเดียด้วยการบอกให้อินเดียหันไปใช้น้ำมันดิบที่อยู่ในคลังของตัวเองก่อนจะมากดดันคนอื่นให้ผลิตเพิ่ม
ในเวลาเดียวกันนี้เองที่เป็นช่วงการกลับมาของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในสหรัฐอเมริกา ทั้งการผลิตน้ำมันดิบและน้ำมันที่ได้จากการกลั่น ซึ่งระดับน้ำมันที่กลับมาครั้งนี้มีปริมาณเท่ากับช่วงก่อนสิ้นเดือนมีนาคมปี 2020 นี่คือสัญญาณบ่งบอกว่าปัญหาความต้องการน้ำมันดิบตกต่ำกำลังจะจบลง (อย่างน้อยก็ในสหรัฐอเมริกา) คำถามสำคัญก็คือว่ากลุ่มโอเปกพลัสต้องการจะเห็นปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกลดลงหรือไม่
หากโอเปกพลัสต้องการเช่นนั้น ในการประชุมครั้งนี้พวกเขาจะไม่เพิ่มกำลังการผลิตภายในเดือนหน้า อย่างไรก็ตามกลุ่มโอเปกพลัสจะหันมาเป็นกังวลกับกำลังการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ แทน แม้แต่ผู้เชียวชาญยังประเมินออกมาว่าความต้องการน้ำมันดิบในช่วงหน้าร้อนนี้ของสหรัฐอเมริกาจะรุนแรงมาก อันเป็นผลมาจากการอัดอั้นที่ไม่ได้เที่ยวตั้งแต่ปีที่แล้ว ถ้ากลุ่มโอเปกพลัสเป็นกังวลกับสาเหตุนี้ พวกเขาอาจตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนมิถุนายนที่กำลังจะถึง
3. การรับมือกับปริมาณการผลิตน้ำมันจากอิหร่าน
ตอนนี้สหรัฐอเมริกากับอิหร่านกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญานิวเคลียร์และความเป็นไปได้ในการยกเลิกการคว่ำบาตร แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีข่าวยืนยันว่าการเจรจาบรรลุผลแล้วแต่อย่างใด แต่สำหรับอิหร่านนั้นตอนนี้พวกเขามองไปวันที่การคว่ำบาตรสิ้นสุดลงแล้วและกำลังเตรียมพร้อมที่จะกลับเข้าสู่สมรภูมิแข่งขันการผลิตน้ำมันอีกครั้ง
อันที่จริงอิหร่านก็แอบเพิ่มกำลังการผลิตและแอบขายน้ำมันขึ้นทีละเล็กละน้อยอยู่แล้วตั้งแต่ช่วงหกเดือนที่ผ่านมา และถ้ายกเลิกการคว่ำบาตร อิหร่านก็วางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกสองเท่า นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าอิหร่านสามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นถึง 4 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ภายในระยะเวลา 3-6 เดือน ในขณะที่บางคนเชื่อว่าอาจต้องใช้เวลาถึง 12-15 เดือนเนื่องจากต้องนำสิ่งกีดขวางออกจากหลุมขุดน้ำมันก่อน
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น หากอิหร่านเห็นว่ามีลูกค้ามารอซื้อน้ำมันจากพวกเขาอยู่แล้ว ทันทีที่ยกเลิกการคว่ำบาตร อิหร่านสามารถนำน้ำมันที่สต๊อกเก็บไว้ 60 ล้านบาร์เรลออกมาขายได้เลยทันที ที่แน่ๆ แล้วตอนนี้พวกเขามีลูกค้าคนสำคัญอย่างประเทศอินเดียกำลังรออยู่ ประเทศจีนก็คาดว่าจะเป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน
คำถามสำคัญที่ทำให้กลุ่มโอเปกพลัสค่อนข้างปวดหัวอยู่พอสมควรคือถ้าพวกเขาดึงอิหร่านกลับเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มอีกครั้ง พวกเขาจะจัดการโควตาการผลิตน้ำมันของแต่ละประเทศสมาชิกอย่างไร จุดที่น่าสนใจและอาจจะเป็นจุดพลิกผันการกลับมาของอิหร่านคือเรื่องที่อิหร่านกับซาอุดิอาระเบียนั้นยังคงเป็นศัตรูกัน และเพราะซาอุดิอาระเบียเป็นพี่ใหญ่ของกลุ่มโอเปก ณ ตอนนี้ พวกเขาอาจเลื่อนการเจรจากับอิหร่านออกไปจนถึงเดือนกรกฎาคม แม้ว่าจะต้องเริ่มพิจารณาผลกระทบจากการกลับมาของอิหร่านตั้งแต่การประชุมในสัปดาห์หน้าแล้วก็ตาม
อเล็กซานเดอร์ โนวาค เชื่อว่าโอเปกพลัสไม่ได้มีทางเลือกในเรื่องนี้มากนัก จะช้าหรือเร็วก็ต้องเจรจากับอิหร่านอยู่ดี ที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มโอเปกพลัสโดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียจะทำอย่างไรให้อิหร่านรู้สึกว่าระดับการผลิตน้ำมันที่พวกเขาได้โควตาไปนั้นเป็นธรรม