ตลาดลงทุนสหรัฐฯ เริ่มมีการเทขายหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีมากขึ้น สังเกตได้จากราคากองทุน ETF ที่มีชื่อว่า Technology Select Sector SPDR® Fund (NYSE:XLK) ซึ่งเป็นมาตรวัดมาตรฐานสำหรับหุ้นกลุ่มเทคฯ ในดัชนีเอสแอนด์พี 500 ได้ปรับตัวลงมาเมื่อวันอังคาร 1.8% เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นที่ลดลงของนักลงทุนแม้ว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่พึ่งจะประกาศตัวเลขผลกำไรที่ได้มาเป็นกอบเป็นกำในช่วงไตรมาสที่หนึ่ง
สาเหตุที่ทำให้หุ้นเทคฯ ปรับตัวลดลงในช่วงนี้เกิดมาจากความกังวลของตลาดเกี่ยวกับอัตราเร่งของภาวะเงินเฟ้อ แม้ว่านายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะออกมาย้ำแล้วย้ำอีกว่าปัญหาเงินเฟ้อจะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวและจะยังคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 0.00% - 0.25% แต่นับวันตลาดลงทุนก็ยิ่งไม่ให้น้ำหนักกับท่าทีนี้มากยิ่งขึ้น
ผู้วางนโยบายการเงินบางคนก็เริ่มมีท่าทีเห็นด้วยกับนักวิเคราะห์มากขึ้น นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานเฟดแห่งรัฐดัลลัสกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ควรเริ่มที่จะแตะเบรกการทำ QE ได้แล้วเพื่อรักษาสมดุลในตลาดการเงิน นายโรเบิร์ตได้เตือนนักลงทุนที่ยังสนุกอยู่กับขาขึ้นทางอ้อมด้วยการคาดว่าเฟดจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยก่อนที่ปี 2023 แน่นอน (กำหนดการณ์เดิมอยู่ในปี 2023)
นอกจากการอัด QE อย่างต่อเนื่องของเฟดแล้ว สิ่งที่นักลงทุนเห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดถึงลางเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อคือราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไล่มาตั้งแต่ราคาอาหารขึ้นไปจนถึงตลาดที่อยู่อาศัย การกลับคำพูดไปมาของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ นางเจเน็ต เยลเลน ก็มีส่วนที่ทำให้หุ้นกลุ่มเทคฯ ปรับตัวลดลง ก่อนหน้านี้เธอได้ออกมาพูดว่า “เฟดควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อหยุดความร้อนแรงของเศรษฐกิจได้แล้ว” ก่อนที่จะกลับคำเปลี่ยนคำพูดว่า “ยังไม่คิดว่าจะได้เห็นปัญหาเงินเฟ้อในอนาคต” สำหรับตลาดแล้ว การกลับคำพูดไปมา ถือเป็นสัญญาณความไม่แน่นอนอย่างหนึ่ง
ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มเทคฯ ทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวคานตลาดหุ้นมาโดยตลอด ในยามวิกฤตโควิด เราก็ได้แล้วว่าหุ้นเทคฯ เติบโตมากเพียงใด ในขณะที่หุ้นกลุ่มอื่นยังไม่มีโอกาสฟื้นตัว แต่ครั้งนี้ นักลงทุนไม่มีที่ไปแล้ว แม้อยากจะเทขายหุ้นกลุ่มเน้นมูลค่ามาถือหุ้นกลุ่มเทคฯ ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากหุ้นกลุ่มเทคฯ ก็ยังมีราคาอยู่ในระดับสูงเช่นกัน
แรงเทขายในตลาดแนสแด็กส่งผลให้กองทุน XLK ปรับตัวลงมา สร้างรูปแบบ double-top สำเร็จเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของ double-top ครั้งนี้ราคาก็ได้เดินทางลงมาถึงแล้ว ประกอบกับการเจอเส้นเทรนด์ไลน์ที่ลากมาตั้งแต่จุดต่ำสุดในปี 2020 ซึ่งถือเป็นแนวรับใหญ่ จึงไม่แปลกใจที่ได้เห็นแท่งเทียนสร้างรูปแบบโดจิหัวค้อนขึ้น
อันที่จริงก่อนหน้า double-top กราฟ XLK เคยสร้างรูปแบบหัวไหล่ (Head& Shoulder) ด้านหงายซึ่งเป็นแรงสนับสนุนขาขึ้นมาก่อน แต่จากปัจจัยพื้นฐานที่ได้กล่าวไป ทำให้ขาขึ้นครั้งนี้ไปไม่ได้ไกลอย่างที่ควรจะเป็น
จุดที่น่าสังเกตก็คือขาขึ้นครั้งนี้พึ่งจะเป็นการทะลุจุดสูงสุดล่าสุดขึ้นมาได้ด้วย การที่ราคาทะลุขึ้นมาแล้วแต่ไม่มีแรงส่งไปต่อ ประกอบกับการปรับตัวลดลงมาจนถึงแนวรับสำคัญได้ นี่อาจจะเป็นสัญญาณบอกว่าขาลงครั้งใหญ่ของหุ้นกลุ่มเทคฯ กำลังจะเริ่มต้นขึ้น แม่แต่อินดิเคเตอร์ก็ยังคิดเช่นเดียวกัน เส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นใน MACD ได้ตัดเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาวลงมาแล้ว ในขณะที่อินดิเคเตอร์ ROC ก็หลุดแนวรับ (เส้นประสีแดง) ลงมาเช่นกัน
กลยุทธ์การเทรด
เทรดเดอร์ที่ไม่ชอบความเสี่ยง จะรอจนกว่าราคาวิ่งลงไปต่ำกว่า 125.00 (จุดต่ำสุดของวันที่ 4 มีนาคม) ยิ่งถ้าปรับตัวลดลงต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันได้แล้ว ยิ่งเป็นสัญญาณยืนยันที่ดีก่อนวางคำสั่งขาย
เทรดเดอร์ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง จะวางคำสั่งขายเมื่อราคาปรับตัวลดลงต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน ที่เป็นแนวรับด่านหน้าของเส้นเทรนด์ไลน์ขาขึ้นที่ระดับราคา 133.00
เทรดเดอร์ที่รับความเสี่ยงได้สูงสุด จะวางคำสั่งซื้อขายทั้งขึ้นและลง พวกเขาจะวางคำสั่งซื้อเพื่อเก็บกำไรระยะสั้นจากแท่งเทียนโดจิ ก่อนที่จะตามขาลงในระยะยาว การลงทุนด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยง ผู้ที่จะเทรดด้วยวิธีนี้ต้องมีประสบการณ์การลงทุนพอสมควร
ตัวอย่างการเทรด 1 (ขาขึ้นสำหรับเก็บระยะสั้น)
- จุดเข้า: $136
- Stop-Loss: $135
- ความเสี่ยง: $1
- เป้าหมายในการทำกำไร:$139
- ผลตอบแทน: $3
- อัตราความเสี่ยงต่อผลตอบแทน: 1:3
ตัวอย่างการเทรด 2 (ขาลง)
- จุดเข้า: $139
- Stop-Loss: $140
- ความเสี่ยง: $1
- เป้าหมายในการทำกำไร:$136
- ผลตอบแทน: $3
- อัตราความเสี่ยงต่อผลตอบแทน: 1:3