หลังจากเผชิญวิกฤตความต้องการน้ำมันตกต่ำในปีทีแล้วเพราะการแพร่ระบาด ปัจจุบันหุ้นของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันได้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาอย่างสังเกตได้ ในปี 2021 ดัชนีกองทุน ETF ที่ใช้วัดหุ้นของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันโดยเฉพาะซึ่งมีหุ้นชื่อดังอยู่มากมายเช่นเอ็กซอนโมบิล (NYSE:XOM) เชฟรอน (NYSE:CVX) และฟิลิป 66 (NYSE:PSX) 'แวนการ์ด เอ็นเนอจี้ อินเด็กซ์ (NYSE:VDE)' สามารถปรับตัวขึ้นมาได้ 29% เมื่อเทียบกับดัชนีเอสแอนด์พี 500ที่ปรับตัวขึ้นมาได้ในช่วงเวลาเดียวกันเพียง 9% เท่านั้น
นอกจากการฟื้นตัวของความต้องการน้ำมันดิบแล้ว ปัจจัยอีกสองอย่างที่ช่วยหนุนดัชนีของหุ้นกลุ่มพลังงานให้สามารถปรับตัวขึ้นได้มากขนาดนี้คือการที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและพันธมิตร ‘โอเปกพลัส (OPEC+)’ ตัดสินใจลดกำลังการผลิตน้ำมันและหลายๆ ประเทศที่เป็นเศรษฐกิจของโลกมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้น ถือเป็นการคืนชีพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและทำผู้คนกลับมาเดินทางมากขึ้น
หากเราวิเคราะห์ตลาดลงทุนอยู่บนสมมุติฐานว่าปีนี้โลกจะเข้าสู่ธีมของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพราะมีการกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกจนสามารถลดผลกระทบจากโควิดที่มีต่อเศรษฐกิจลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ย่อมหมายความว่าหุ้นในกลุ่มพลังงาน (โดยเฉพาะน้ำมัน) จะต้องมีการเติบโตขึ้นมากกว่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นบทความนี้เราจึงขอเน้นที่สองยักษ์ใหญ่ของวงการผู้น้ำมันของสหรัฐอเมริกาอย่าง ‘เอ็กซอนโมบิลและเชฟรอน’ ว่าใครเป็นผู้ได้รับอานิสงส์จากการธีมการฟื้นตัวฯ นี้มากกว่ากัน
1. ExxonMobil
หุ้นของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันเอ็กซอนโมบิลเคยเป็นตัวเลือกที่ไม่มีใครอยากยุ่งมากที่สุดในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดในปี 2020 เมื่อความต้องการน้ำมันทั่วโลกลดวูบ หุ้นเอ็กซอนฯ จึงปรับตัวลดลงอย่างมหาศาลจนทำให้บริษัทต้องผับโครงการที่จะพัฒนาบริษัททุกโปรเจค
ช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดได้สะท้อนออกมาผ่านการรายงานผลประกอบการ กำไรตลอดปี 2020 ที่ประกาศไปเมื่อเดือนมกราคมปรากฏว่าขาดทุนถึง $19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นติดลบเป็นครั้งแรกในรอบสามทศวรรษ แม้แต่กระแสเงินสดยังลงไปติดลบอยู่ที่ $20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเอ็กซอนโมบิลถือว่าเลวร้ายที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ จนทำให้บริษัทไม่มีเงินที่จะเอาไปลงทุนกับการขยายสายพานการผลิตน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติเพิ่ม ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นการระบาดของโควิดยังทำให้มูลค่าของบริษัทลดลงจนเอ็กซอนถูกถอดออกจากดัชนีดาวโจนส์ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมปี 2020
จากสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงทำให้นักลงทุนสงสัยว่าเอ็กซอนโมบิลจะยังสามารถรักษาระดับการจ่ายเงินปันผลเอาไว้ได้อีกหรือไม่ แต่แล้วนายดาร์เรน วูดส์ CEO ของบริษัทก็ได้มาพร้อมกับแผนที่จะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาได้อีกครั้ง ในแผนการขยายบริษัทครั้งล่าสุด วูดส์บอกว่าเอ็กซอนโมบิลจะเน้นการลงทุนไปที่การพัฒนาพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันในกัวอานาและ Permian Basin ในรัฐเท็กซัส นอกจากนี้เขายังมีแผนที่จะแสวงหาแหล่งขุดเจาะน้ำมันเพิ่มในประเทศบราซิลและพัฒนาสารเคมีที่ทำให้น้ำมันของบริษัทมีคุณภาพมากขึ้น
ดูเหมือนนักลงทุนจะค่อนข้างเชื่อคำพูดของดาร์เรน วูดส์ สังเกตได้จากราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 60% ภายในช่วงระยะเวลาหกเดือนล่าสุดและหุ้นของเอ็กซอนโมบิลปัจจุบันก็มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $55.87 มีการปันรายไตรมาสอยู่ที่ $0.87 ต่อหุ้นและมีการปันผลรายปีอยู่ที่ 6.2% แม้แต่ธนาคารชื่อดังอย่างโกลด์แมน แซคส์ยังปรับเป้าหมายขิงหุ้นเอ็กซอนขึ้นอีก 16% จากราคาปัจจุบันหรือที่ราคาเป้าหมาย $65 พร้อมทั้งแนะนำให้เป็นหุ้นน่าลงทุนสำหรับผู้ที่ต้องการถือครองในระยะยาว
2. Chevron
แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เหมือนกันกับเอ็กซอนโมบิล แต่สิ่งที่บริษัทเชฟรอนทำได้ดีกว่าจนทำให้หุ้นของบริษัทฟื้นตัวได้เร็วกว่าคือการควบคุมค่าใช้จ่ายรวมถึงการเลื่อนแผนการพัฒนาโครงการใหญ่ๆ ในช่วงห้าปีนี้ออกไป
ถึงกลยุทธ์การควบคุมค่าใช้จ่ายจะได้ผล เมื่อเทียบกับมูลค่าของบริษัทเอ็กซอนโมบิลที่ลดลงจนหลุดออกจากดาวโจนส์ แต่เชฟรอนก็ยังต้องกู้ยืมเงินอย่างมหาศาลเพื่อนำมาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น มีข้อมูลตัวเลขจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่ระบุว่าเชฟรอนนำเงินที่กู้มาจ่ายเงินปันผลมากถึง $9,700 ล้านเหรียญสหรัฐเทียบกับงบ $8,900 ล้านเหรียญสหรัฐที่นำไปลงทุนกับสินทรัพย์ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการเพื่อหารายได้ (CAPEX)
นี่คือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับบริษัทเชฟรอนมาก่อนในรอบ 30 ปี นอกจากนี้เชฟรอนได้ทำการซื้อกิจการของบริษัท ‘โนเบิล เอ็นเนอจี้ (Noble Energy)’ ในเดือนตุลาคมจนทำให้อัตราส่วนโครงสร้างทางการเงินของเชฟรอนเพิ่มขึ้นเป็น 23% นับว่าสูงที่สุดตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2002 นิลล์ เม็ธต้า นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจของเชฟรอนว่า
“ต้องยอมรับว่าเชฟรอนแม้จะกู้เยอะ แต่ก็มีการจัดการบัญชีงบดุลได้ดี สังเกตจากความสามารถในการรักษาการปันผลอย่างต่อเนื่อง และยังมีสภาพคล่องจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่ทำเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ออสเตรเลีย”
ปัจจุบันหุ้นเชฟรอนปรับตัวขึ้นมาในปี 2020 แล้ว 22% มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $102.92 มีการปันรายไตรมาสอยู่ที่ $1.29 ต่อหุ้นและมีการปันผลรายปีอยู่ที่ 5%
โดยสรุปแล้ว
แม้ว่าเชฟรอนจะมีการบริหารเงินที่ดี แต่ในแง่ของภาพรวมแล้วหุ้นเอ็กซอนโมบิลมีโอกาสเติบโตได้เร็วกว่า จากแผนการขยายธุรกิจที่ประกาศออกมาชัดเจน และความสามารถในการรักษาเงินปันผลรายไตรมาสที่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ยอมลดลด นี่คือคติของเอ็กซอนที่ยึดถือมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดในปีที่แล้ว