แม้จะเห็นด้วยกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ว่าการเติบโตของอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ควบคุมได้ แต่นายเจมส์ บลูราร์ด ประธานธนาคารกลางแห่งเซนต์หลุยส์ก็ยอมรับว่าตอนนี้ดัชนีบ่งชี้ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังเพิ่มขึ้นจริงตามที่นักวิเคราะห์ในตลาดกังวล
ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (FED) เจมส์ บลูราร์ดได้เปิดเผยข้อมูลว่ามีตัวบ่งชี้อะไรที่ทำให้เขาคิดชั้นนั้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เจมส์บลูราร์ดมองว่าเป็นสัญญาณของเงินเฟ้อคือปริมาณเงินในระบบ (money supply) เพิ่มขึ้น ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นและอัตราความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานหรือที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘ฟิลิป เคิฟ (Phillips Curve)’ ปรับตัวขึ้น
เจมส์ยังกล่าวต่ออีกว่า
“นโยบายการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ในตอนนี้คือเหตุผลสำคัญที่อาจทำให้เราได้เห็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าของปี 2012 การเปลี่ยนนโยบายให้เงินเฟ้อสามารถลอยตัวได้เกิน 2% เป็นครั้งคราวและการรอดูอย่างใจเย็นอาจทำให้เราต้องเห็นภาพนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านจะออกมาแสดงความเป็นกังวลในตอนนี้”
คำถามที่ตลาดลงทุนตั้งคำถามมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้และคิดว่าจะยังคงตั้งต่อไปคือ “เฟดโลกสวยเกินไปหรือไม่ที่ยังไม่คิดจะเข้ามาหยุดอัตราเงินเฟ้อที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ วัน?”
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ประจำเดือนมีนาคมที่ออกมา 916,000 ตำแหน่งเทียบคาดการณ์ 675,000 ตำแหน่ง ทำให้กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีวิ่งกลับขึ้นไปยัง 1.72% เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว แม้จะห่างจากจุดสูงสุด 1.77% เพียงเล็กน้อย แต่พฤติกรรมของกราฟผลตอบแทนฯ อายุ 10 ปีในสัปดาห์นี้จะเป็นตัวบอกว่าตลาดคิดอย่างไรกับอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน
เรนดัล ควาเรส รองประธานคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ดูแลเรื่องสถาบันการเงิน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อโทรทัศน์แห่งหนึ่งว่า FOMC ตั้งใจที่จะยอมให้เงินเฟ้อลอยตัวอยู่เหนือ 2% จริง เขายอมรับว่าภายใต้กรอบการบริหารใหม่ เฟดจะรอดูที่ผลลัพธ์ ไม่รีบตื่นตูมตัดไฟตั้งแต่ต้นลม
คริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ น้องใหม่ที่พึ่งได้นั่งหนึ่งในเก้าอี้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดเมื่อปีที่แล้วพยายามอย่างหนักที่จะบอกกับนักลงทุนในตลาดให้ลดความกังวลและเชื่อมือการทำงานของธนาคารกลาง เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเขายืนยันอย่างหนักแน่นว่าเฟดไม่ได้กดอัตราดอกเบี้ยลงมาให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อเปิดทางในรัฐบาลกู้จนเกิดเป็นปัญหาตัวเลขขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น
“เพราะตัวเลขการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นจึงทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเฟดกำลังเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาลด้วยการกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำและยังซื้อสินทรัพย์จากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ผมขอบอกตรงนี้เลยว่าข้อกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง นโยบายการเงินของพวกเรา (เฟด) ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใคร” - คริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ กล่าว
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นักลงทุนหลายฝ่ายจึงให้ความสนใจว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะพูดอะไรกับธนาคารกลางฯ บ้างในการประชุมที่กำลังจะมาถึงนี้ เขาจะใส่ชื่อของนางลิซ่า คุก (Lisa Cook) เข้าไปในบอร์ดบริหารเพื่อเน้นไปที่การเพิ่มอัตราการจ้างงานก่อนขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่
มีสมาชิกของเฟดหลายคนที่ใกล้จะหมดวาระการทำงานแล้ว ยกตัวอย่างเช่นเรนดัล ควาเรสจะหมดวาระลงในเดือนตุลาคมปี 2021 นายริชาร์ด คลาริด้า รองประธานเฟดจะหมดวาระลงในเดือนมกราคม ส่วนนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดคนปัจจุบันจะหมดวาระลงในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022
คำถามคือโจ ไบเดนจะตั้งให้เขารับตำแหน่งต่อไปอีกสี่ปีข้างหน้าหรือไม่ ส่วนตัวเรามองว่าเจอโรม พาวเวลล์พร้อมที่จะทำหน้าที่นี้ต่อไป แต่ถ้าได้คนจากฝั่งตัวเองอย่างเลล เบรนาร์ด ที่เคยเป็นอดีตลูกศิษย์ของเจเน็ต เยลเลน รมต. คลังคนปัจจุบันมาทำหน้าที่แทนหรือได้นายราฟาเอล บอสติกมาทำหน้าที่แทน นอกจากจะเป็นชาวแอฟริกันอเมริกันคนแรกที่ได้กุมบังเหียนเฟดแล้ว ยังเป็นคนที่โจ ไบเดนไว้ใจอีกด้วย