ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ หลังจากที่แข็งค่ามาตลอดเดือนมีนาคม การที่ตลาดยอมปล่อยดอลลาร์ให้อ่อนค่าเมื่อวานนี้ไม่มีเหตุผลอะไรไปมากกว่าการรอดูรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ของเดือนมีนาคมที่จะประกาศในวันนี้ แม้ว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจะกลับขึ้นไปยืนเหนือ 700,000 คนได้อีกครั้ง
นักวิเคราะห์มองว่าตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายงานตัวเลขการจ้างงานฯ ตอนนี้สหรัฐอเมริกาได้ทำการผ่อนคลายนโยบายคุมเข้มโควิดแล้ว ร้านอาหารสามารถรับลูกค้าได้มากขึ้น ธุรกิจกำลังกลับมาจ้างงานและอากาศเริ่มอุ่นขึ้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่ทำให้เชื่อได้ว่าตัวเลขการจ้างงานฯ ในวันนี้จะลดลง ที่สำคัญเมื่อไปดูตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานฯ จาก ADP จะพบว่าตัวเลขการเติบโตของการจ้างงานในเดือนเมษายนสูงกว่าเดือนมีนาคมถึงสามเท่า ในขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสามารถขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบหนึ่งปีได้
นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่ารายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของเดือนมีนาคมในวันนี้จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 647,000 ตำแหน่ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นตัวเลขนี้จะเป็นการเติบโตของการจ้างงานที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม พวกเขาคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงด้วย แต่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยอาจจะเติบโตได้ช้า ตัวเลขนี้อาจจะฟังดูสูงเกินไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือเศรษฐกิจของอเมริกากำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจริงๆ
หากรายงานตัวเลขการจ้างงานฯ วันนี้สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ได้ ดอลลาร์จะกลับมาแข็งค่าและดึงดูดนักลงทุนให้กลับมาถือครองอีกครั้ง กราฟ USD/JPY มีโอกาสขึ้นแตะระดับราคาที่ 112 ได้ สมมุติว่าวันนี้ตัวเลขการจ้างงานฯ ขึ้นไม่ถึง 647,000 ตำแหน่ง (สมมุติว่าออกมาที่ 500,000 ตำแหน่ง) การอ่อนค่าของดอลลาร์จะใช้เวลาเพียงสั้นๆ เท่านั้นเพราะแค่ได้ 500,000 ตำแหน่งก็ถือว่าดีมากแล้ว ที่สำคัญแผนการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีโจ ไบเดนเมื่อวันพุธจะยิ่งเร่งตัวเลขการจ้างงานให้เติบโตมากยิ่งขึ้นอีกในเดือนถัดไป
เหตผลสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร
1. ตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานฯ จาก ADP เพิ่มขึ้นจาก 176,000 ตำแหน่งเป็น 517,000 ตำแหน่ง
2. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสี่สัปดาห์ล่าสุดลดลงอย่างรวดเร็ว
3. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรวมลดลงต่ำกว่า 4 ล้านคน
4. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทะยานขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบหนึ่งปี
5. ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากมหาลัยมิชิแกนเพิ่มขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบหนึ่งปี
6. รายงานจำนวนผู้ที่ถูกเชิญออกจากงานโดยสถาบันชาแลนเจอร์ลดลง
7. ดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก ISM ที่รายงานในส่วนของการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เหตผลสนับสนุนการลดลงของตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร
1. ไม่มี
ถือเป็นวันที่สองแล้วที่กราฟ EUR/USD สามารถรักษาตัวเองให้ยืนเหนือ 1.1700 ได้ เพราะตัวเลข PMI ภาคการผลิตของยูโรโซนโดยรวมถือว่ายังทรงตัวให้อยู่ในฝั่งของการขยายตัว แต่ถึงแม้ว่าภาคการผลิตจะขยายตัวขึ้น แต่ตัวเลขยอดค้าปลีกนั้นเริ่มน่าเป็นห่วง มาตรการคุมเข้มทางสังคมที่ถูกยืดระยะเวลาออกชะลอกับความต้องการจากผู้บริโภคลง ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรที่ขยายตัวขึ้นทำให้กราฟ GBP/USD สามารถขึ้นยืนเหนือระดับราคา 1.38 ได้
สกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดเมื่อวานนี้คือดอลลาร์นิวซีแลนด์ ข้อมูลจาก ANZ เผยว่าแม้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคมจะลดลง แต่ดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่าได้เพราะการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่แคนาดาแม้ว่าจำนวนการอนุญาตก่อสร้างและราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวขึ้น แต่สกุลเงินดอลลาร์แคนาดาก็ยังแข็งค่าสู้ดอลลาร์สหรัฐไม่ได้
ดอลลาร์ออสเตรเลียกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียที่ออกมาล่าสุดไม่มีความสอดคล้องกันเท่าไหร่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตขยายตัวจาก 58.8 เป็น 59.9 จุด ตัวเลขยอดค้าปลีกปรับตัวลดลงก็จริงแต่น้อยกว่าที่คาด ในขณะที่ตัวเลขดุลบัญชีการค้าหดตัวจาก $9,600 ล้านเหรียญเป็น $7,500 ล้านเหรียญซึ่งนักวิเคราะห์หวังให้ตัวเลขดังกล่าวขยายตัว